การดูแลผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว

วันที่ 08-01-2025 | อ่าน : 153


การดูแลผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว

มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ ลูคีเมีย (Leukemia) เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวในไขกระดูกมีการเจริญแบ่งตัวมากผิดปกติ และ ไม่สามารถทำหน้าที่ในการป้องกันการติดเชื้อได้ดีเหมือนเม็ดเลือดขาวปกติ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง ดยชนิดที่พบบ่อยที่สุดคือมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน

 

เม็ดเลือดขาว ทำหน้าที่อะไร?

เม็ดเลือดขาว มีหน้าที่สำคัญในการปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อโรคต่าง ๆ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา หรือ จุลินทรีย์อื่น ๆ รวมไปถึงสิ่งแปลกปลอมอื่นที่เข้ามาในร่างกาย

 

ประเภทของมะเร็งเม็ดเลือดขาว

  1. มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน

การที่เซลล์ตัวอ่อนของเม็ดเลือดขาวแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว อาการของโรคจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและรุนแรงกว่ามะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง โดยไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

  1. มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง

มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังมักจะพัฒนาไปอย่างช้า ๆ และผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการในช่วงเริ่มต้นของโรค แต่สามารถตรวจพบได้จากการตรวจเลือด หรือม้ามโตผิดปกติ

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว

ปัจจุบันยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าอะไรคือสาเหตุ แต่ปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมีดังนี้

  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว หากสมาชิกในครอบครัวของคุณได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวจะเพิ่มขึ้น
  • การสูบบุหรี่
  • โรคที่มีความผิดปกติของพันธุกรรม เช่น ภาวะดาวน์ซินโดรม
  • การสัมผัสกับสารเคมี การสัมผัสกับสารเคมีบางชนิด เช่น เบนซิน มีความเชื่อมโยงกับโอกาสที่เพิ่มขึ้นของการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว

 

อาการของมะเร็งเม็ดเลือดขาว

อาการของมะเร็งเม็ดเลือดขาวอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรค แต่โดยทั่วไปแล้วอาจพบอาการเหล่านี้

  • ภาวะโลหิตจาง เช่น เหนื่อยง่าย ใจสั่น วิงเวียนศีรษะ เนื่องจากเม็ดเลือดแดงลดลง
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีภาวะต่อมน้ำเหลืองโต อาจพบก้อนในท้องเนื่องจาก ตับ ม้ามโต
  • มีภาวะติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติ เนื่องจากเม็ดเลือดขาวลดลง
  • มีภาวะเลือดออกง่ายกว่าปกติ มีเลือดออกตามไรฟัน มีเลือดกำเดาไหลปริมาณมาก อาจพบจุดเลือดออกหรือจ้ำเลือดตามตัว รวมถึงภาวะเลือดหยุดยาก เนื่องจากเกล็ดเลือดลดลง
  • มีอาการซีด ผิวหนังดูซีด
  • คลำพบก้อนตามตัว หรือปวดกระดูก และ ข้อ

 

การดูแลตัวเองเมื่อเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว

พักผ่อนให้เพียงพอ

          นอนหลับให้เพียงพอเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการฟื้นตัวของร่างกายจากการรักษา ควรนอนหลับให้ได้ 7-8 ชั่วโมงต่อคืน และ หลีกเลี่ยงการทำงานหนักหรือการทำกิจกรรมที่ทำให้ร่างกายเครียดเกินไป

 

ทานอาหารที่มีประโยชน์ ถูกหลักอนามัย

          รับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โปรตีน วิตามิน แร่ธาตุ และ ไฟเบอร์ และควรทานผักผลไม้สดและอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ที่สำคัญต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง หรือ อาหารที่มีรสเค็มจัด

 

ดื่มน้ำให้เพียงพอ

            การดื่มน้ำเพียงพอช่วยในการขับสารพิษออกจากร่างกายและบำรุงระบบต่างๆ ควรดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว

 

รักษาความสะอาด หลีกเลี่ยงการติดเชื้อ

            ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวมักมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อจึงเป็นสิ่งสำคัญ หมั่นล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการไปที่ที่มีผู้คนหนาแน่นหรือมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ

 

ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม

          ออกกำลังกายช่วยเสริมสร้างพลังงาน และ ลดความเครียด ควรเริ่มจากการเดินเบา ๆ หรือการทำโยคะเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น ทั้งนี้การออกกำลังกายขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ควรปรึกษาแพทย์อีกครั้งหนึ่ง ไม่ควรออกกำลังกายหนักจนเกินไป ออกกำลังกายเท่าที่ร่างกายของเราไหววันละเล็กละน้อยก็เพียงพอ

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ความรู้มะเร็ง
การดูแลผู้ป่วย
การรักษามะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้