ผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช ทางเลือกการผ่าตัดของคุณผู้หญิง

วันที่ 25-10-2023 | อ่าน : 17812


ผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช ทางเลือกการผ่าตัดของคุณผู้หญิง

ผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช ทางเลือกการผ่าตัดของคุณผู้หญิง

ผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว

     ที่ผ่านมามีโรคทางนรีเวชจำนวนมากที่ต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งวิธีการรักษาที่เราคุ้นเคยและใช้กันมานานคือ การผ่าทางหน้าท้อง แต่อาจทำให้มีแผลใหญ่ขนาด 8-10 นิ้ว และต้องใช้เวลาพักฟื้นนานเป็นเดือน แต่ด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ได้นำการผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช (Minimal invasive surgery; MIS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผ่าตัดที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบันมาแทนการรักษาในแบบเดิม โดยแผลมีขนาดที่เล็กลง อาการเจ็บหลังผ่าตัดที่น้อยกว่าเดิม ลดภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงของการรักษา และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ใช้เวลาในการพักฟื้นในโรงพยาบาลไม่นาน

การผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวชเป็นอย่างไร
     การผ่าตัดส่องกล้อง คือ การเจาะรูที่หน้าท้อง ขนาด 5-10 มิลลิเมตร 1-4 รู ขึ้นกับชนิดของการผ่าตัด และทำการใส่เครื่องมือเข้าไปทำการผ่าตัด หากชิ้นเนื้อจากการผ่าตัดที่จะนำออกมามีขนาดใหญ่จะทำการใช้เครื่องมือปั่นย่อยชิ้นเนื้อ หรือ เปิดแผลให้กว้างขึ้นเล็กน้อย

การผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช สามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท

  1. การผ่าตัดส่องกล้องทางหน้าท้อง (Laparoscopic Surgery) เป็นการใช้กล้องส่องเข้าไปในช่องท้อง โดยแผลมีขนาดเพียง 0.5-1 เซนติเมตร วิธีนี้ส่วนใหญ่จะใช้รักษาความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับมดลูก ปีกมดลูก และรังไข่
  2. การผ่าตัดส่องกล้องในโพรงมดลูก (Hysteroscopic Surgery) เป็นการสอดกล้องขนาดเล็กตั้งแต่ 2 มม. ไปจนถึง 10 มม. เข้าไปในโพรงมดลูก ผ่านทางช่องคลอด ใช้ในรายที่มีรอยโรคในโพรงมดลูก เช่น เนื้องอก หรือ ติ่งเนื้อ ซึ่งมักมาด้วยเลือดดอกจากช่องคลอดผิดปกติ กระปริดกระปรอย ไม่เป็นไปตามรอบเดือน มีข้อดีมากกว่าการขูดมดลูกแบบดั้งเดิม คือ เห็นรอยโรคได้ชัดเจน ตัดชิ้นเนื้อได้อย่างแม่นยำ ไม่ทำลายโพรงมดลูก เป็นบริเวณกว้าง

ผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช ทางเลือกการผ่าตัดของคุณผู้หญิง

โรคทางนรีเวชที่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง

  1. เนื้องอกในมดลูก (Myoma uteri) เป็นก้อนเนื้อที่เกิดขึ้นและเจริญเติบโตภายในมดลูก ซึ่งอาจทำให้มีประจำเดือนมามากผิดปกติ อาจพบที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งในตัวมดลูก มีขนาดต่างกันไป บางชนิดโตช้า บางชนิดโตเร็ว อาจจะมีก้อนเดียวหรือหลายก้อนก็ได้
  2. เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) เป็นภาวะที่เยื่อบุผนังมดลูกเกิดการเจริญเติบโตภายนอกมดลูก ทำให้เกิดการสะสมภายในอุ้งเชิงกราน และเมื่อมีการฝังตัวมากขึ้นจะทำให้เกิดการอักเสบและเป็นพังผืดขึ้นมา
  3. ถุงน้ำในรังไข่ (ovarian cyst) เป็นความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ ทำให้ผู้ป่วยมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน แอนโดรเจน และอินซูลินอยู่ในภาวะที่ไม่สมดุล เกิดถุงน้ำขนาดเล็กจำนวนหลายใบอยู่ในรังไข่ ซึ่งอาจเกิดเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้
  4. โรคมะเร็งทางนรีเวช เช่น มะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรก (Early stage of Cervical cancer) มะเร็งรังไข่ในระยะต้น (Early stage of Ovarian cancer) มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial cancer)

รวมทั้งสาเหตุหรือภาวะความผิดปกติอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ มดลูก ปีกมดลูก และรังไข่ ได้แก่

  • ปวดท้องน้อยเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ภาวะมีบุตรยาก
  • พังผืดในอุ้งเชิงกราน (Pelvic adhesion)
  • ตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic pregnancy)
  • ท่อนำไข่อุดตัน (Tubal obstruction)
  • ตรวจสาเหตุภาวะมีบุตรยาก (Infertility)
  • เนื้องอกหรือติ่งเนื้อในโพรงมดลูก (Polyp, myoma)
  • พังผืดในโพรงมดลูก (Uterine synechiae), ผนังกั้นกลางในโพรงมดลูก (Septate uterus)
  • การทำหมันหญิง (Tubal Sterilization) หรือ การต่อหมันหญิง (Tubal reanastomosis)
  • การผ่าตัดซ่อมแซมภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อน (Laparoscopic sacrocolpoxe, Uterosacral ligament suspension)

ข้อดีของการผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช

  • แผลผ่าตัดเล็ก ขนาดประมาณ 0.5-1.0 เซนติเมตร ประมาณ 3-4 แผล
  • เจ็บแผลน้อยมาก เนื่องจากความบอบช้ำจากการผ่าตัดน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเดิม
  • พักฟื้นในโรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน
  • เสียเลือดน้อยกว่า
  • ฟื้นตัวไว สามารถกลับไปทำงานหรือกิจวัตรประจำวันได้ภายใน 5-10 วัน
  • ลดโอกาสเกิดพังผืดจากการผ่าตัด
  • สามารถเห็นรอยโรคขนาดเล็ก เช่น จุดเยื่อบุโพรงมดลูกขนาดเล็ก (endometriotic lesion) และเลาะพังผืดได้ดีกว่า เพราะเครื่องมือขนาดเล็กทำให้ ผ่าตัดในอุ้งเชิงกรานที่อยู่ลึกได้ดีกว่าเมื่อมองผ่านกล้อง
  • ลดความเสี่ยงของอาการแทรกซ้อนจากแผลผ่าตัด เช่น แผลอักเสบ แผลติดเชื้อ แผลเป็นหนอง เป็นต้น

ข้อจำกัดหรือข้อเสียของการผ่าตัดส่องกล้อง

  • ค่าใช้จ่ายสูงกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง เพราะต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ
  • ใช้เวลาการผ่าตัดนานกว่าแบบเปิดหน้าท้อง
  • ไม่สามารถทำได้ในบางกรณี เช่น ผู้ป่วยอยู่ในภาวะช็อค มีการอักเสบในช่องท้องรุนแรง หรือมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคหัวใจหรือโรคปอดขั้นรุนแรง
  • ต้องใช้ทีม และแพทย์ที่เชี่ยวชาญในเทคนิคการผ่าตัดส่องกล้อง โดยเฉพาะเคสยาก เช่น เลาะพังผืดในช่องท้อง มะเร็ง


ขอขอบคุณข้อมูล พญ.จุฑาภรณ์ อุทัยแสน สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา/มะเร็งวิทยานรีเวช ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลนครธน

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
ความรู้มะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้