ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง (PCOS) เรื่องละเอียดอ่อนของผู้หญิง

วันที่ 06-10-2023 | อ่าน : 518


ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง (PCOS) เรื่องละเอียดอ่อนของผู้หญิง

ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง (PCOS) เรื่องละเอียดอ่อนของผู้หญิง

ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง (PCOS)

     ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง Polycystic ovarian disease  (PCOS) เป็นโรคของฮอร์โมนที่พบบ่อยในสตรีวัยเจริญพันธุ์ พบได้ 5 - 10% ในผู้หญิงทั่วโลก หากมีประวัติครอบครัวหรือมีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้ ก็จะมีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้มากขึ้น อาการที่แสดง ได้แก่ ภาวะที่มีฮอร์โมนเพศชายสูง (Hyperandrogenism) ทั้งผลการตรวจเลือด หรือจากลักษณะ หน้ามัน ขนขึ้นผิดปกติ สิวขึ้น ผมร่วง ผมบาง มีภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง และมีถุงน้ำในรังไข่หลายใบ

     โรคนี้สัมพันธ์กับภาวะดื้อต่อ อินซูลิน (Insulin) โรคอ้วน โรคทางการเผาผลาญ (Metabolic) ได้แก่ ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น และยังสัมพันธ์กับ ภาวะมีบุตรยาก และการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งรังไข่ ในอนาคต

การตรวจวินิจฉัย
     เกณฑ์ในการวินิจฉัย Rotterdam PCOS Diagnostic Criteria (2/3 ข้อ)

  • ประจำเดือนผิดปกติ : ขาดประจำเดือน หรือมีประจำเดือนขาด (Amenorrhea, Oligomenorrhea)
  • มีลักษณะทางคลินิก หรือผลตรวจเลือดเข้าได้กับภาวะฮอร์โมนเพศชายสูง (Hyperandrogenism)
  • ลักษณะทางการอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) พบมีถุงน้ำรังไข่ขนาดเล็กกว่า 1 cm. หลายใบ

ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง (PCOS) เรื่องละเอียดอ่อนของผู้หญิง

โดยผู้ป่วยแต่ละบุคคลอาจมีอาการที่ีแสดงออกมาได้ ดังนี้...

  • มีภาวะแอนโดรเจนเกิน (Hyperandrogenism) ร่วมกับมีภาวะรังไข่ทำงานผิดปกติ และมีถุงน้ำรังไข่หลายใบ
  • มีภาวะแอนโดรเจนเกิน (Hyperandrogenism) ร่วมกับมีภาวะรังไข่ทำงานผิดปกติ
  • มีภาวะแอนโดรเจนเกิน (Hyperandrogenism) และมีถุงน้ำรังไข่หลายใบ
  • มีภาวะรังไข่ทำงานผิดปกติและมีถุงน้ำรังไข่หลายใบ

     ภาวะประจำเดือนผิดปกติที่พบในผู้ป่วย พบได้ตั้งแต่ช่วงอายุน้อย ๆ ร่วมกับมีสิว ขนขึ้นมากผิดปกติตั้งแต่วัยรุ่น หรือในช่วงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งมักพบ มีโรคอ้วนร่วมด้วย > 50% และส่งเสริมให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin) มากขึ้น

ความผิดปกติของร่างกาย

     เนื่องจากการทำงานของเอนไซม์ที่สร้างแอนโดรเจน (Androgen-Forming Enzyme) ในผู้ป่วยโรคนี้มีความผิดปกติ ร่วมกับเนื้อเยื่อของรังไข่ได้รับการกระตุ้นจากฮอร์โมนลูทิไนซิง  (LH) ทำให้เกิดภาวะฮอร์โมนเพศชายสูง นอกจากนี้ชั้นไขมันที่ผิวหนัง ช่วยในการสร้างฮอร์โมนอีสโทรเจน E1 (Estrone E1) เพิ่มขึ้นมีผลให้เกิดภาวะที่มีฮอร์โมนอีสโทรเจน (Estrogen) ระดับสูงเรื้อรัง (Chronic Hyperestrogenic State)

     พันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้มี 4 กลุ่มได้แก่ ยีนที่เกี่ยวข้องกับภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin) , ยีนที่รบกวนการสังเคราะห์/การสร้างฮอร์โมนเพศชาย Androgen , ยีนสร้าง Inflammatory Cytokines , ยีนอื่น ๆ

     จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยโรคนี้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารของร่างกายที่ผิดปกติ (Metabolic Syndrome) สูงกว่าคนทั่วไป ได้แก่ พบภาวะไขมันในเลือดสูง 70% , 10% ของผู้ป่วยโรคนี้ที่มีภาวะอ้วนร่วมด้วยเป็นเบาหวาน , โรคความดันโลหิตสูงในช่วงใกล้วัยทอง 40% , ความเสี่ยงต่อโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 7 เท่าสูงกว่าคนทั่วไป

การดูแลรักษา

  1. ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์  การลดน้ำหนักเพียง 5-10% ของน้ำหนักตัวในช่วงระยะเวลา 6 เดือน มีผลให้ระดับฮอร์โมนเพศชายในร่างกายลดลง ลดค่าระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยลดขน ทำให้ประจำเดือนดีขึ้น และรังไข่ทำงานได้ดีขึ้นถึง 75%
  2. เสริมวิตามิน D  เนื่องจากวิตามิน D มีส่วนช่วยในระบบการเผาผลาญของร่างกาย
  3. การให้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ช่วยลดการสร้างฮอร์โมนเพศชาย
  4. การให้ยาฮอร์โมนเมดร็อกซีโพรเจสเทอโรนแอซีเทต (Medroxyprogesterone Acetate) ทั้งในรูปแบบกิน หรือฉีด ช่วยลดการสร้างฮอร์โมนเพศชาย แต่ผลข้างเคียงของการรักษาวิธีนี้ ได้แก่ น้ำหนักขึ้น ปวดศีรษะ มีผลต่อตับ ดังนั้น จึงไม่นิยมใช้ในการลดการสร้างขน
  5. การให้ฮอร์โมน Gonadotropin-Releasing hormone Agonist (leuprolide acetate) ร่วมกับการให้ฮอร์โมนทดแทน (Add Back Therapy) ด้วยยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม
  6. ยาลดการสร้างขน ได้แก่ Spironolactone, Flutamide, Finasteride
  7. การผ่าตัดเพื่อตัดบางส่วนของรังไข่ออก Ovarian Wedge Resection , การผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง Laparoscopic Electrocautery
  8. การกำจัดขนด้วยไฟฟ้าและเลเซอร์ Electrolysis & laser hair removal
  9. ยาที่ลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน Insulin sensitizers: metformin

        เพราะการดูแลใส่ใจสุขภาพของคุณผู้หญิงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและสำคัญมาก จึงแนะนำให้หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่คุณค่าทางโภชนาการสูง รวมไปถึงการตรวจสุขภาพเฉพาะทางด้านโรคนรีเวชเป็นประจำทุกปีเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงสุขภาพร่างกายของตนเองและนำไปปรับใช้สำหรับการวางแผนสุขภาพของตนเองในอนาคต


ขอขอบคุณข้อมูล โรงพยาบาลเปาโล เกษตร

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

อาหารผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้