วันที่ 07-07-2023 | อ่าน : 316
“ตรวจอัลตร้าซาวด์มดลูกและรังไข่” การป้องกัน… ที่ดีกว่าแก้ไข
ถ้าพูดถึงการตรวจมดลูกและรังไข่ สาว ๆ มักจะนึกถึง “การตรวจภายใน” แต่จริง ๆ แล้วยังมี “การตรวจอัลตร้าซาวด์” ซึ่งสามารถวินิจฉัยความผิดปกติของมดลูกและรังไข่ได้แม่นยำกว่า
และนี่คือเหตุผลที่ว่าทำไม ? การตรวจอัลตร้าซาวด์นี้จึงสำคัญ!!!
การตรวจอวัยวะภายใน…จำเป็นต้องใช้วิธีการอัลตร้าซาวด์เสมอไปหรือไม่ ?
ในการตรวจอวัยวะภายในเพื่อวินิจฉัยหาความผิดปกตินั้น โดยมากแล้วแพทย์จะใช้วิธีการสอดใส่เครื่องมือหรือนิ้วมือเข้าไปในช่องคลอด หากพบความผิดปกติ เช่น มีก้อน แพทย์จึงจะทำการตรวจอัลตร้าซาวด์เพื่อความแม่นยำยิ่งขึ้น หรืออีกกรณีหนึ่ง คือ คนไข้ที่ไม่เคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาก่อนแพทย์จะเลือกใช้การตรวจอัลตร้าซาวด์ เพื่อตรวจดูเพียงความผิดปกติในระดับเบื้องต้น
ทำไม ? ผู้หญิงต้องตรวจอัลตร้าซาวด์ มดลูก & รังไข่
สำหรับการตรวจอวัยวะบริเวณช่องท้องส่วนล่างนี้ มักจะใช้ในกรณีตรวจหาความผิดปกติของมดลูก รังไข่ กระเพาะปัสสาวะ หรือไส้ติ่ง ซึ่งโรคร้ายที่ผู้หญิงต้องพึงระวังและสามารถตรวจพบได้ด้วยการอัลตร้าซาวด์ ได้แก่ ถุงน้ำรังไข่, เนื้องอกรังไข่, เนื้องอกในมดลูก หรือก้อนเนื้อภายในอุ้งเชิงกราน โดยอาจเป็นเพียงก้อนเนื้อธรรมดาหรือเซลล์มะเร็งก็ได้ ซึ่งการตรวจอัลตร้าซาวด์มดลูกและรังไข่เป็นเพียงทางเลือกเดียวที่จะช่วยให้แพทย์ตรวจพบโรคร้ายก่อนสายเกินรักษาได้
การตรวจอัลตร้าซาวด์ สามารถตรวจผ่านทางหน้าท้อง… หรือทางช่องคลอดก็ได้
เพราะมดลูกและรังไข่เป็นสิ่งที่อยู่ลึกภายใน การตรวจอัลตร้าซาวด์จึงแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การตรวจโดยผ่านทางหน้าท้อง ซึ่งแพทย์จะให้คนไข้ดื่มน้ำเปล่าแล้วกลั้นปัสสาวะเอาไว้จนในกระเพาะปัสสาวะมีปริมาณน้ำปัสสาวะมากพอ เพื่อให้สามารถมองเห็นมดลูกและรังไข่ได้ชัดเจนขึ้น ส่วนอีกวิธีหนึ่ง คือ การตรวจโดยผ่านทางช่องคลอด โดยแพทย์จะทำการสอดอุปกรณ์อัลตร้าซาวด์เข้าไปทางช่องคลอด ซึ่งคนไข้อาจจะต้องนอนหงายหรือนอนตะแคงเข่าชันชิดหน้าอก หรือนอนบนขาหยั่ง ซึ่งแพทย์จะสามารถมองเห็นภาพของมดลูกและรังไข่จากจอมอนิเตอร์ได้ชัดเจน ทำให้การตรวจผ่านทางช่องคลอดนี้มีความแม่นยำกว่า
ผลข้างเคียงจากการตรวจอัลตร้าซาวด์… มีบ้างหรือไม่ ?
แม้การตรวจอัลตร้าซาวด์อาจจะทำให้คนไข้รู้สึกไม่สบายตัว เมื่อเครื่องมือแนบลงบนผิวหนังหรือถูกสอดเข้าทางช่องคลอด แต่ก็เป็นเพียงผลกระทบชั่วคราวเท่านั้น ส่วนคลื่นเสียงที่ใช้ในการตรวจอัลตร้าซาวด์ยังไม่พบว่ามีอันตราย เนื่องจากคนไข้ไม่ต้องเผชิญกับรังสีเอ็กซเรย์เหมือนกับการตรวจ CT Scan
ไม่ว่าเนื้องอกหรือซีสต์นั้นจะใช่เซลล์มะเร็งหรือไม่? แต่ย่อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต อย่ามองว่าการตรวจอัลตร้าซาวด์หรือการตรวจภายในเป็นเรื่องน่าอาย เพราะโรคร้ายที่อาจซ่อนอยู่อาจกำลังจ้องเล่นงานคุณ !!!
ขอขอบคุณข้อมูล โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011
Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้