มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคร้ายใกล้ตัว เป็นมะเร็งที่พบบ่อยติดอันดับ 1 ใน 5 ของมะเร็งในประเทศไทย

วันที่ 14-06-2023 | อ่าน : 646


มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคร้ายใกล้ตัวสามารถเกิดได้ในทุกอวัยวะ

     มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นมะเร็งที่พบบ่อยติดอันดับ 1 ใน 5 ของมะเร็งในประเทศไทย และถือว่าเป็นมะเร็งที่อันตรายชนิดหนึ่งเลยทีเดียว เนื่องจากสามารถเกิดได้ในทุกอวัยวะ เมื่อเกิดขึ้นแล้วอาจจะทำให้ต่อมน้ำเหลืองโตขึ้น และลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ได้ไม่ว่าจะเป็น ตับ ม้าม ทางเดินหายใจ หรือระบบประสาทนั่นเอง ซึ่งมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนี้สามารถเป็นได้ทุกวัย ทั้งในวัยผู้ใหญ่ วัยผู้สูงอายุ และวัยเด็ก ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ฉะนั้นการรู้จักโรคไว้จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อสังเกตตัวเองอยู่เสมอ กรณีเกิดอาการเสี่ยง หากรู้เร็ว สามารถรักษาให้หายได้

รู้จักมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
     มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือ ลิมโฟม่า (Lymphoma) คือ เนื้องอกของระบบน้ำเหลืองในร่างกาย ระบบน้ำเหลือง (Lymphatic System) จัดเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน ประกอบไปด้วยอวัยวะน้ำเหลือง ได้แก่ ม้าม และไขกระดูก ภายในอวัยวะเหล่านี้จะเต็มไปด้วยน้ำเหลือง ซึ่งมีหน้าที่นําเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) และภูมิคุ้มกันร่างกายไปทั่วร่างกาย ความผิดปกติของเม็ดเลือดขาวเหล่านี้ทำให้เกิดเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองขึ้นมา สามารถพบก้อนได้บริเวณต่าง ๆ ได้แก่ คอ รักแร้ ข้อพับแขน ข้อพับขา ช่องอก ช่องท้อง ลำไส้ กระเพาะ ตับ ม้าม ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร หรือระบบประสาท

ชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

  1. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin Lymphoma) พบได้ประมาณ 1-15% ของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั้งหมด
  2. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma) พบได้ 85-90% ของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั้งหมด ซึ่งยังสามารถแบ่งชนิดของ Non-Hodgkin Lymphoma ได้หลายแบบ เช่น แบ่งตามชนิดของ Lymphocyte ได้แก่ B-cell Lymphoma, T-cell Lymphoma, NK-cell Lymphoma และสามารถแบ่งได้ 2 ชนิด หากพิจารณาจากการเจริญของตัวมะเร็ง คือ
  • ชนิดค่อยเป็นค่อยไป (Indolent) จะมีอัตราการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งค่อนข้างช้า แต่มะเร็งชนิดนี้มักจะไม่หายขาดด้วยการรักษาที่มีอยู่ในปัจจุบัน
  • ชนิดรุนแรง (Aggressive) จะมีอัตราการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน 6 เดือน - 2 ปี แต่ถ้าได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โอกาสหายจากโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองสูง

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเกิดจากสาเหตุใด
     สาเหตุของการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่โดยทั่วไปเป็นที่เข้าใจกันว่าเกิดจากการกลายพันธุ์ของเซลล์เม็ดเลือด ซึ่งทำให้เม็ดเลือดโตไม่หยุด แล้วก็ไม่ตายไป ซึ่งการกลายพันธุ์ในที่นี้ยังบอกไม่ได้ว่าเกิดเพราะอะไรกันแน่ แต่จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ได้แก่

  • อายุที่มากขึ้น
  • ผู้ที่ได้รับสารเคมีบางชนิด เช่น สารเคมีปราบศัตรูพืช เป็นต้น
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันโรคลดลง เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ การปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นต้น
  • การเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้น มีความชัดเจนที่เกิดมาจากกรรมพันธุ์ทางครอบครัว เช่น พี่น้องอาจเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองตามลำดับ หรือเป็นพร้อมกัน
  • การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัส HIV, EBV เป็นต้น
  • การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น Helicobacter pylori
  • การได้รับรังสีในจำนวนที่มากเกินไป จะช่วยส่งเสริมให้เนื้องอกต่อมน้ำเหลืองในร่างกายของคนมีโอกาสเกิดได้มากขึ้น

อาการแสดงมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

  • มีก้อนใหญ่กว่า 2 ซม. แต่กดแล้วไม่มีอาการเจ็บที่บริเวณต่างๆ ของร่างกาย เช่น คอ รักแร้ ขาหนีบ โดยก้อนเหล่านั้นจะไม่มีอาการเจ็บ ต่างจากการติดเชื้อที่จะมีอาการเจ็บที่ก้อนเนื้อ
  • มีไข้ มีเหงื่อออกมากในกลางคืน
  • อ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหาร และน้ำหนักลด
  • ไอเรื้อรัง และหายใจไม่สะดวก ต่อมทอนซิลโต
  • มีอาการคัน หรือผื่นทั่วร่างกาย
  • อาการปวดศีรษะ มักพบในมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในระบบประสาท
  • บางรายจะพบอาการปวดที่ต่อมน้ำเหลือง หลังการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ในรายที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองภายในช่องท้อง จะพบอาการแน่นท้อง หรืออาหารไม่ย่อยได้
  • ผู้ที่มีต่อมน้ำเหลืองโตจะกดเบียดอวัยวะข้างเคียง เช่น หลอดเลือด หรือเส้นประสาท อาจทำให้เกิดอาการชา หรือ ปวด ตามแขน ขาได้

การตรวจวินิจฉัย
     เมื่อมาพบแพทย์ จะมีการตรวจร่างกาย ตรวจเลือดทั่ว ๆ ไป และจะส่งตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม ได้แก่ การเจาะเลือดเพื่อดูผลเลือดต่างๆ การตรวจไขกระดูก ( Bone marrow biopsy) การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (PET scan หรือ CT scan) หลังจากนั้นจะต้องมีการตัดชิ้นเนื้อจากต่อมน้ำเหลืองที่โตขึ้น เพื่อนำมาดูใต้กล้องจุลทัศน์ว่าชิ้นเนื้อที่โตขึ้นนี้เป็นเซลล์ชนิดใด เป็นเซลล์ของต่อมน้ำเหลือง หรือเป็นเซลล์ของมะเร็งอย่างอื่น หรือมีการติดเชื้อ เช่น วัณโรคก็ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโตได้เช่นกัน

การแบ่งระยะของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

  • ระยะที่ 1 ระยะที่เกิดกับต่อมน้ำเหลืองบริเวณเดียว เช่น บริเวณลำคอ หรือบริเวณรักแร้
  • ระยะที่ 2 ระยะที่เกิดกับต่อมน้ำเหลืองที่มีมากกว่า 1 ตำแหน่ง ตัวอย่างต่อมน้ำเหลือง 2 ตำแหน่ง โดยเกณฑ์จะตัดที่กำบังลม ถ้าอยู่ที่ช่วงบนอย่างเดียว หรือช่วงล่างอย่างเดียว
  • ระยะที่ 3 ระยะที่เกิดกับต่อมน้ำเหลืองที่มีมากกว่า 1 ตำแหน่ง แต่ข้ามกำบังลม
  • ระยะที่ 4 ระยะแพร่กระจายหรือลุกลามเข้าไปถึงไขกระดูก ตับ ปอด เป็นอวัยวะนอกต่อมน้ำเหลือง

การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง
     ในการรักษานั้นแพทย์อายุรกรรมโลหิตวิทยาจะตัดสินใจร่วมกับแพทย์รังสีรักษา เพื่อเลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับชนิดเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองและสภาพความแข็งแรงของผู้ป่วย ซึ่งในผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการรักษาหลายวิธีพร้อมกัน และผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการรักษาเพียงวิธีเดียวก็ได้ โดยมีแนวทางการรักษา ดังนี้

  1. เคมีบำบัด หรือ คีโม ยาเคมีบำบัดจะทำลายเซลล์มะเร็ง โดยไปรบกวนการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง และอาจให้ร่วมกับการรักษาด้วยแอนติบอดี (Monoclonal Antibodies)
  2. การใช้ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) เป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง ซึ่งยับยั้งการส่งสัญญาณที่เกี่ยวข้องต่อการเจริญเติบโต และการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ทำให้มีการตอบสนองในการรักษาสูง สามารถควบคุมโรคมะเร็งได้ยาวนานกว่า
  3. รังสีรักษา หรือ การฉายรังสี (Radiation Therapy) โดยการใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง โดยแพทย์จะใช้รักษาเฉพาะในบางระยะของโรค อาจพิจารณาให้ร่วมกับยาเคมีบำบัด หรือให้รังสีรักษาเพียงอย่างเดียว
  4. การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) โดยการให้ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal Antibodies) เป็นโปรตีนสังเคราะห์เลียนแบบสารภูมิต้านทานที่เป็นโปรตีนของระบบคุ้มกันของร่างกาย โดยยานี้จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเพื่อมากำจัดเซลล์มะเร็ง ซึ่งวิธีนี้จะช่วยในการทำลายเซลล์มะเร็งได้
  5. การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell transplantation) หรือ การปลูกถ่ายไขกระดูก โดยแพทย์จะนำเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดหรือไขกระดูกของตัวผู้ป่วยเอง ญาติพี่น้องหรือผู้บริจาคที่เข้ากันได้ มาปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยหลังจากได้รักษาจนโรคอยู่ในระยะสงบเพื่อลดโอกาสกลับเป็นซ้ำ

     มะเร็งต่อมน้ำเหลืองสามารถรักษาให้หายเด็ดขาดได้ ถ้าไม่ได้อยู่ในระยะแพร่กระจาย จึงควรสังเกตตัวเองอยู่เสมอ หากคลำเจอก้อนเวลาอาบน้ำก็ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อการรักษาได้อย่างทันท่วงที

 

ขอขอบคุณข้อมูล นพ.คมกฤช มหาพรหม อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา/เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ศูนย์มะเร็งฮอไรซัน รพ.นครธน

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ความรู้มะเร็ง
การดูแลผู้ป่วย
การรักษามะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้