"มะเร็งปอด" ภัยร้ายใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

วันที่ 05-04-2023 | อ่าน : 336


"มะเร็งปอด" ภัยร้ายใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

     มะเร็งปอด หนึ่งในชนิดมะเร็งที่พบบ่อย ทั้งยังเป็นมะเร็งที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับสองในประเทศไทย เพราะโดยส่วนมากผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดจะไม่ค่อยมีอาการแสดงในระยะแรก คือกว่าจะมีสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเกิดโรคจนผู้ป่วยไปพบแพทย์ ก็มักอยู่ในช่วงที่มีการลุกลามของเซลล์มะเร็งมากแล้ว ทำให้มาตรวจพบช้าเกินไปที่จะรักษาให้หายขาดได้

     อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งปอดสามารถรักษาให้หายได้ เพียงแต่ต้องตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ และได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ดังนั้นการตรวจสุขภาพปอดและคัดกรองโรคมะเร็งปอดจึงเป็นเหมือนหัวใจสำคัญในการหยุดยั้งโรคนี้
 

สาเหตุของการเกิดโรค “มะเร็งปอด” มีอะไรบ้าง?

     มะเร็งปอดเกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมได้ ส่งผลให้เกิดเป็นกลุ่มก้อนเซลล์ที่ผิดปกติ โดยมะเร็งปอดจะแบ่งประเภทตามชนิดของเซลล์มะเร็งออกเป็น 2 ชนิด คือ

     - มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small cell lung cancer) เป็นเซลล์ที่เจริญเติบโตและแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่ามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว พบได้ประมาณ 10-15% ของผู้ป่วยมะเร็งปอด

     - มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (Non-small cell lung cancer) เป็นเซลล์ที่แพร่กระจายได้ช้ากว่า และมีโอกาสตรวจพบโรคในระยะต้นได้มากกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก พบได้ประมาณ 85-90% ของผู้ป่วยมะเร็งปอด

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมะเร็งปอด

ปัจจัยที่ทำให้เซลล์เกิดความผิดปกติจนกลายเป็นมะเร็งปอดมีหลายประการ ดังนี้

  • การสูบบุหรี่ : เป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด และมะเร็งชนิดอื่นๆ โดยควันบุหรี่สามารถทำให้เซลล์กลายพันธุ์จนเกิดเป็นเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 10 เท่า
  • การสัมผัสกับสารที่ก่อมะเร็ง : การสัมผัสและรับสารพิษที่อาจทำให้เป็นมะเร็งเข้าสู่ร่างกาย เช่น ควันจากท่อไอเสีย ฝุ่น PM 2.5 หรือสารเคมีบางชนิด อย่างโครเมียม แร่ใยหิน ก๊าซเรดอน นิกเกิล ยูเรเนียม และโลหะอื่นๆ
  • ผู้ที่เคยเป็นโรคเกี่ยวกับปอด : เช่น เคยมีรอยแผลเป็นจากโรคทางปอด อย่างวัณโรคปอด โรคถุงลมโป่งพอง ก็มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งปอดสูงกว่าคนทั่วไป
  • พันธุกรรม : ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งปอดจะมีความเสี่ยงที่สูงขึ้น

สัญญาณอันตรายเมื่อมะเร็งปอดลุกลาม

     มะเร็งปอดในระยะแรกมักจะไม่แสดงอาการ ต่อเมื่อมะเร็งได้ลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ แล้ว อาการจึงค่อยๆ ปรากฏ โดยสัญญาณเตือนเมื่อมะเร็งเริ่มลุกลามสามารถสังเกตอาการได้ดังนี้

  • ไอเรื้อรัง ไอแห้ง ไอมีเสมหะ หรือไอพร้อมมีเลือดปนออกมา
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ เช่น หายใจลำบาก หายใจสั้น หายใจถี่ และหายใจดังหรือมีเสียงหวีด
  • รู้สึกเจ็บหน้าอกตลอดเวลา
  • เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย อ่อนแรง หรือรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา
  • มีโทนเสียงที่เปลี่ยนไป เช่น เสียงแหบ หรือเสียงเปลี่ยน
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

     อย่างไรก็ดี อาการเหล่านี้อาจเกิดจากโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวกับปอด แต่ไม่ใช่โรคมะเร็งปอดก็ได้ ดังนั้นหากมีอาการดังกล่าว หรือเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอด ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด

ตรวจหามะเร็งปอดด้วย LOW-DOSE CT-SCAN ดีอย่างไร?

     ปัจจุบันการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดสามาถทำได้ด้วย การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (LOW-DOSE CT-SCAN หรือ Low-Dose Computed Tomography, LDCT) โดยการตรวจด้วยวิธีนี้ เป็นการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณทรวงอกด้วยปริมาณรังสีต่ำ ซึ่งจะให้ภาพบริเวณปอดออกมาเป็น 3 มิติที่มีรายละเอียดสูง จึงสามารถตรวจพบจุดเล็กๆ หรือก้อนในปอดได้ดีกว่าการเอกซเรย์แบบธรรมดาแบบเดิม ทำให้ค้นหามะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นได้ดีกว่า ทั้งยังเป็นการตรวจที่ง่าย ใช้เวลาไม่นาน ผลข้างเคียงน้อย มีความปลอดภัยสูงอีกด้วย

     แม้จะได้ชื่อว่าเป็นโรคมะเร็ง แต่โรคมะเร็งปอดนั้น หากตรวจพบเร็วและรีบรักษา โอกาสหายก็จะมีมากขึ้น ดังนั้นเราจึงควรให้ความสำคัญกับการพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพปอดเป็นประจำ โดยไม่ต้องรอให้มีอาการใดๆ

 

ขอขอบคุณข้อมูล นายแพทย์ณัฏฐ์ บุญตะวัน สาขาอายุรกรรม โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

อาหารผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้