อาการแบบไหนที่เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม!

วันที่ 16-02-2023 | อ่าน : 7861


อาการแบบไหนที่เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม!?

     มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิงทั่วโลก ในประเทศไทยมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 1 โดยมีอัตราการเกิดอยู่ที่ 30 คน ต่อประชากร 100,000 คน ตามมาด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ และ มะเร็งปากมดลูก ในปัจจุบันการตรวจและรักษามะเร็งเต้านมมีการพัฒนามากขึ้น จึงตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะแรกได้มากขึ้น เพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดมากขึ้น ดังนั้นเราจึงควรทำความรู้จักกับมะเร็งเต้านมให้มากขึ้น

มะเร็งเต้านมคืออะไร
     มะเร็งเต้านม คือการที่เซลล์ของเต้านมเกิดการเจริญเติบโตและแบ่งตัวอย่างผิดปกติ โดยในระยะแรก อาจจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่สามารถตรวจพบได้จากการตรวจแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์ หากไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษา อาจโตจนสามารถคลำพบก้อน และมีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง จนเกิดการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นได้ในที่สุด

มะเร็งเต้านมเกิดจากอะไร
มะเร็งเต้านม ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่พบว่ามีหลายปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม ดังนี้

  • เคยได้รับการฉายรังสีที่หน้าอก
  • อายุ ยิ่งอายุมากขึ้นก็จะเสี่ยงมากขึ้น
  • เริ่มมีประจำเดือนตั้งแต่อายุน้อย (มาก่อนอายุ 12 ปี)
  • การกินยาฮอร์โมนวัยทองหรือใช้ยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน
  • มีประวัติครอบครัวสายตรง ได้แก่ พ่อ แม่ ลูก และพี่น้องสายเลือดเดียวกัน เป็นมะเร็งเต้านม
  • หมดประจำเดือนช้า (อายุมากกว่า 55 ปีแล้วยังไม่หมดประจำเดือน)
  • อาการแบบไหนที่เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม
    มะเร็งเต้านมในระยะแรก อาจจะไม่มีความผิดปกติใดๆ เมื่อมะเร็งเจริญเติบโตมากขึ้น อาจมีอาการดังต่อไปนี้

    • คลำพบก้อนที่เต้านม
    • มีน้ำหรือเลือดออกจากหัวนม
    • มีแผลหรือผื่นบวมแดงที่บริเวณหัวนม หรือ เต้านม
    • รูปทรงของเต้านมผิดไปจากเดิม เช่น มีรอยบุ๋ม หรือขนาดเต้านมสองข้างไม่เท่ากัน
    • เจ็บเต้านม (มะเร็งเต้านมมักไม่มีอาการเจ็บ เว้นแต่จะเป็นก้อนใหญ่เกิดเนื้อตาย มีอาการอักเสบติดเชื้อ เป็นหนอง)

    การวินิจฉัยมะเร็งเต้านม
         การตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านม ประกอบด้วยการซักประวัติเพื่อประเมินถึงความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม การตรวจร่างกายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงมีการตรวจเพิ่มเติมโดยการทำแมมโมแกรม ร่วมกับการทำอัลตร้าซาวด์ในผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ส่วนในผู้ที่อายุน้อยกว่า 35 ปี อาจทำการตรวจอัลตร้าซาวด์เพียงอย่างเดียว หรืออาจส่งตรวจแมมโมแกรมเพิ่มเติม ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อาจมีการส่งตรวจ MRI เพิ่มเติมในกรณีที่จำเป็น

         หากการส่งตรวจแมมโมแกรม หรือ อัลตร้าซาวด์พบความผิดปกติ จำเป็นจะต้องมีการตรวจชิ้นเนื้อเพื่อยืนยันว่าเป็นมะเร็งเต้านมและวางแผนให้การรักษาต่อไป

    การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
         ในปัจจุบัน มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิงไทย การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมจะช่วยให้สามารถวินิจฉัยมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นก่อนที่จะมีอาการ ซึ่งหากได้รับการรักษาในระยะนี้ จะมีโอกาสในการรักษาหายขาดสูง ซึ่งการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในปัจจุบันสามารถทำได้ 3 วิธี

    • การตรวจเต้านมด้วยตนเอง (Breast Self Exam)
    • การตรวจเต้านมโดยแพทย์ (Clinical Breast Exam)
    • การตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรมร่วมกับการอัลตร้าซาวด์เต้านม (Digital Mammogram and Breast Ultrasound)

         การตรวจเต้านมด้วยตนเอง เป็นการตรวจที่สามารถทำได้ง่าย สามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยจะทำให้รู้ถึงลักษณะที่ปกติของเต้านมของตนเอง สามารถตรวจพบอาการที่ผิดปกติหรือสงสัยมะเร็งเต้านมได้ ควรเริ่มตรวจเมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป โดยตรวจเดือนละครั้ง ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตรวจเต้านมด้วยตนเอง คือ หลังจากหมดประจำเดือน 7-10 วัน เพราะเป็นระยะที่เต้านมไม่คัดตึง สามารถคลำพบความผิดปกติได้ง่าย ส่วนผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนควรตรวจเดือนละครั้ง โดยเลือกวันที่จำได้ง่ายและตรวจในวันนั้นๆของทุกเดือน

         การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยแพทย์และการตรวจด้วยแมมโมแกรมร่วมกับอัลตร้าซาวด์ แนะนำให้เริ่มตรวจเมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป โดยตรวจเป็นประจำทุกปี ซึ่งจะช่วยให้ตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะแรก ก่อนที่จะคลำพบก้อนหรือมีอาการผิดปกติ ซึ่งมีโอกาสที่จะรักษาหายขาดสูง รวมถึงการรักษาโดยการผ่าตัดในปัจจุบันมีการพัฒนาขึ้นมาก การตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกจะช่วยเพิ่มโอกาสในการผ่าตัดแบบสงวนเต้านม (Breast conservative therapy) เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยได้อีกด้วย

     

    ขอขอบคุณข้อมูล  ศูนย์ศัลยกรรมเต้านมและมะเร็ง โรงพยาบาลสุขุมวิท

    หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

อาหารผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้