ทุเรียนเทศ ประโยชน์ และข้อควรระวังที่ควรรู้ก่อนกิน

วันที่ 15-08-2022 | อ่าน : 247


“ทุเรียนเทศ” ประโยชน์ และข้อควรระวังที่ควรรู้ก่อนกิน

     ทุเรียนเทศ (Soursop) หรือทุเรียนน้ำ เป็นพืชในวงศ์เดียวกับกระดังงา น้อยหน่า จำปี นมแมว พบในเขตร้อนและมีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง ทุเรียนเทศมีเปลือกนอกแข็งหนาสีเขียว ภายในเป็นเนื้อสีขาว รสชาติหวานอมเปรี้ยว สามารถรับประทานผลแบบสด หรือนำไปทำเป็นน้ำผลไม้ ชา และของหวานก็ได้ ทุเรียนเทศยังอุดมไปด้วยวิตามินและสารอาหารมากมาย เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี แคลเซียม แมกนีเซียม ทั้งยังมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์สุขภาพหลายประการ เช่น อาจมีฤทธิ์ต้านมะเร็งเต้านม อาจลดอาการอักเสบ อาจช่วยลดน้ำตาลในเลือด

คุณค่าทางโภชนาการของ ทุเรียนเทศ
     ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture หรือ USDA) ระบุว่า ทุเรียนเทศ 100 กรัม ให้พลังงาน 66 กิโลแคลอรี่ มีน้ำเป็นส่วนประกอบ 81.2 กรัม และอุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุ เช่น

  • คาร์โบไฮเดรต 16.8 กรัม (แบ่งเป็นไฟเบอร์หรือใยอาหาร 3.3 กรัม และคาร์โบไฮเดรตชนิดอื่น เช่น น้ำตาล แป้ง อีก 13.5 กรัม)
  • โปรตีน 1 กรัม
  • ไขมัน 0.3 กรัม
  • ฟอสฟอรัส 27 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 21 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 20.6 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 14 มิลลิกรัม

     วิตามินซีปริมาณมากในทุเรียนเทศเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน และมีส่วนช่วยในการป้องกันเชื้อโรค นอกจากนี้ ทั้งส่วนผลและใบของทุเรียนเทศยังมีสารต้านอนุมูลอิสระอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ไฟโตสเตอรอล (Phytosterols) แทนนิน (Tannins) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) อีกทั้งทุเรียนเทศยังมีวิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินอี โคลีน สังกะสี ทองแดง โฟเลต ซีลีเนียม เบต้าแคโรทีน เป็นต้น

ประโยชน์ต่อสุขภาพของ ทุเรียนเทศ
ทุเรียนเทศอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของทุเรียนเทศ ดังนี้

อาจมีฤทธิ์ต้านมะเร็งเต้านม
     ทุเรียนเทศมีสารแอนโนนาซิน (Annonaceous) และสารอะซิโตจีนิน (Acetogenins) ซึ่งมีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง มีส่วนในการลดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านม ทั้งยังเพิ่มทีเซลล์ ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวในกลุ่มลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) ที่ฆ่าเซลล์มะเร็ง และเซลล์ที่เสียหายอื่นๆ ได้

     งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร BMC Complementary and Alternative Medicine เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 ศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านมะเร็งของสารสกัดจากใบทุเรียนเทศต่อสายเซลล์มะเร็งเต้านม พบว่า สารสกัดจากทุเรียนเทศสามารถลดขนาดเนื้องอก ฆ่าเซลล์มะเร็งเต้านม และเพิ่มการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันได้ด้วยการเพิ่มปริมาณทีเซลล์ที่ทำหน้าที่กำจัดเซลล์ติดเชื้อในร่างกาย จึงอาจสรุปได้ว่า ทุเรียนเทศมีคุณสมบัติในการต้านมะเร็งเต้านมเมื่อใช้ในปริมาณสูง ทั้งนี้ ยังต้องวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ทุเรียนเทศเป็นยาทางเลือกในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม

อาจลดอาการอักเสบได้
     ทุเรียนเทศมีวิตามินซีที่ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในปริมาณสูง จึงอาจช่วยลดความเสียหายของเซลล์ที่เกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะอักเสบ ซึ่งเป็นภาวะที่นำไปสู่การเกิดโรคได้

     งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Medicinal Food เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 ศึกษาเกี่ยวกับกลไกการออกฤทธิ์แก้ปวดและคุณสมบัติต้านการอักเสบของสารสกัดจากทุเรียนเทศ พบว่า ทุเรียนเทศมีฤทธิ์ระงับปวด และมีคุณสมบัติต้านการอักเสบโดยการยับยั้งตัวกลางทางเคมีของการอักเสบ จึงสามารถลดอาการบวมและอาการปวดได้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการทดลองในสัตว์ จึงควรศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพในการต้านการอักเสบของทุเรียนเทศ

อาจช่วยลดน้ำตาลในเลือด
     ใบทุเรียนเทศมีสารพฤกษเคมีที่เรียกว่า อะซิโตจีนิน ซึ่งอาจช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ จึงอาจเป็นทางเลือกในการควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมายที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

     งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร African Journal of Traditional, Complementary and Alternative Medicines เมื่อพ.ศ. 2552 ศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านภาวะน้ำตาลในเลือดสูงของทุเรียนเทศ พบว่า สารสกัดจากทุเรียนเทศมีส่วนช่วยลดความเข้มข้นของกลูโคสในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อใช้ในปริมาณ 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ติดต่อกันเป็นเวลา 15 วัน อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการทดลองในสัตว์ จึงควรศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพในการลดระดับน้ำตาลในเลือดของทุเรียนเทศ

ข้อควรระวังในการบริโภค ทุเรียนเทศ
ข้อควรระวังในการบริโภคทุเรียนเทศ อาจมีดังนี้

  • ทุเรียนเทศมีสารสำคัญ คือ สารกลุ่มแอนโนนาซิน อะซิโตจีนิน และสารกลุ่มแอลคาลอยด์ หากรับประทานในปริมาณมากและรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจเป็นพิษต่อเนื้อเยื่อสมอง ทำให้เกิดกลุ่มอาการพาร์กินโซนิซึมหรือโรคพาร์กินสันเทียม (Atypical parkinsonism) และอาจทำให้ไตวายได้
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคทุเรียนเทศและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีทุเรียนเทศเป็นส่วนประกอบในปริมาณมากเพราะอาจเป็นพิษต่อไตและมดลูก
  • ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเมล็ดของทุเรียนเทศ เนื่องจากมีสารแอนโนนาซิน (Annonacin) ซึ่งเป็นพิษต่อเซลล์ในระบบประสาท และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคพาร์กินสัน

 

ขอขอบคุณข้อมูล hellokhunmor.com, sanook.com

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

อาหารผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้