ฝังแร่ ฟางเส้นสุดท้าย รักษามะเร็ง

วันที่ 26-07-2022 | อ่าน : 712


     เมื่อต้องทนทรมานกับโรคมะเร็งระยะสุดท้าย  แม้จะเป็นเพียงความหวังน้อยนิด ที่ได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร ที่อาจไม่ได้รับการคัดกรอง  หากแต่ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยก็ยินดีที่จะเลือกรักษาด้วยวิธี “ฝังแร่ไอโอดีน -125”

     ทำไมต้องเป็นไอโอดีน -125  ว่ากันว่า สรรพคุณของแร่ชนิดนี้เมื่อฝังเข้าสู่ร่างกาย จะไม่มีความเจ็บปวด ไม่เสียเลือดมาก อาการแทรกซ้อนน้อย

     ในทางการแพทย์  ไอโอดีน -125  เป็นการรักษาด้วยรังสีระยะใกล้ โดยนำเอาสารกัมมันตรังสีไอโอดีน-125  ที่มีลักษณะเป็นแคปซูลขนาดเล็กมาก คล้ายเมล็ดข้าวสาร มาฝังแบบถาวรในร่างกาย  บริเวณเนื้องอกที่ยังไม่ลุกลามหรือกระจายไปยังที่ต่างๆ โดยที่ไอโอดีน-125 นั้น จะปล่อยรังสีแกมม่าอยู่บริเวณรอบๆ ก้อนเนื้องอกเท่านั้น     

     สำหรับไอโอดีน  -125  นี้  เคยนิยมใช้รักษามะเร็งต่อมลูกหมากมานานกว่า 50 ปี  โดยที่ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะที่อยู่ลึกในอุ้งเชิงกราน ซึ่งรังสีที่แผ่ออกมาจะไม่สูงถึงระดับที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้คนรอบข้าง จึงจัดไอโอดีน  -125  อยู่ในกลุ่มการรักษาที่มีความเสี่ยงทางรังสีต่ำ และมีอายุเพียงครึ่งชีวิตเท่ากับ 60 วัน หมายความว่า ทุกๆ 60 วัน ความแรงของรังสีจะลดลงครึ่งหนึ่งจากจุดเริ่มต้น และจะลดลงเรื่อยๆ จนสลายตัวหมดไป  โดยพลังงานที่ปล่อยออกมานั้นใกล้เคียงกับพลังงานรังสีเอกซ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพเอกซเรย์เต้านม รวมถึงมีอำนาจการทะลุทะลวงน้อย  เนื่องจากส่วนใหญ่จะถูกปิดกั้นโดยเนื้อเยื่อของร่างกาย บางส่วนที่ออกมาภายนอกได้ ก็จะกระทบกับร่างกายในระยะตื้นๆ เท่านั้น  แต่ในส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น มะเร็งเต้านม และมะเร็งที่กระจายมาใกล้บริเวณผิวหนัง จะมีปริมาณรังสีที่แผ่ออกมาภายนอก อาจสูงกว่าการฝังบริเวณต่อมลูกหมากได้

     อย่างไรก็ดี  ไอโอดีน -125  ไม่สามารถใช้รักษาได้กับทุกอวัยวะ โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย  ที่โรคลุกลามไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย แต่หากนำไปใช้จริงในปริมาณที่สูง จะเกิดอะไรขึ้น

1.    ร่างกายไม่สามารถทนทานได้ และอาจเกิดผลแทรกซ้อนจนเสียชีวิต

2.    ผู้ที่ใกล้ชิดผู้ป่วยหรือผู้ให้การดูแลรักษาตลอดเวลา อาจจะรู้สึกอ่อนเพลีย ยิ่งสัมผัสร่างกายของ ผู้ป่วยเป็นเวลานานทุกวัน จะเกิดแผลที่ผิวหนัง หรือพุพองได้   

3.    ควรแยกผู้ป่วยต่างหาก ไม่พักรวมกัน ยกเว้นผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และควรใส่เสื้อกำบังรังสี ทั้งตัวผู้ป่วยเอง เพื่อป้องกันรังสีที่จะแผ่ออกมาภายนอก และสำหรับผู้ใกล้ชิด เพื่อลดระดับปริมาณรังสีที่จะได้รับให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย

4.    ผู้ป่วยควรอยู่ห่างจากสตรีมีครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่าสามขวบในระยะตั้งแต่ 1.7 เมตร ขึ้นไปโดยเฉพาะช่วง 2 เดือนแรก

5.    ในกรณีกลับจากการรักษาฝังแร่ไอโอดีน -125 ที่ต่างประเทศ ผู้ป่วยและญาติควรแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ทุกครั้ง ที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาล หรือสถานบริการทางการแพทย์ทุกแห่งว่า ตนได้รับการฝังแร่ไอโอดีน -125 ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิด นอกจากจะได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ถูกต้องแล้ว ยังเป็นการร่วมดูแลสังคมรอบข้างที่อยู่ร่วมกันด้วย

     ในปัจจุบันมีการรักษามะเร็งระยะต่างๆ หลายรูปแบบด้วยกัน  ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การฝังแร่ชนิดไม่ถาวร ที่สามารถควบคุมความปลอดภัยของรังสีได้ การฉายแสง การให้เคมีบำบัด การรักษาทางวิธีรังสีร่วมรักษา ฯลฯ หรือแม้แต่การรักษาร่วมกันแบบสหสาขาวิชาชีพในผู้ป่วยรายเดียวกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ดูแล

     ว่าแต่จะใช้วิธีใด  ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือสถาบันทางการแพทย์ ที่รักษาก่อนตัดสินใจ เพราะไม่เช่นนั้น ฟางเส้นสุดท้าย อาจไม่เกิดประโยชน์อันใด…เลย

 

ขอขอบคุณข้อมูล รศ.นพ.พิพัฒน์  เชี่ยววิทย์ ภาควิชารังสีวิทยา Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
ความรู้มะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้