ซีสต์ที่รังไข่ หรือ ถุงน้ำรังไข่ อันตรายแค่ไหนสำหรับผู้หญิง

วันที่ 12-07-2022 | อ่าน : 356


     โรคผู้หญิงนับวันยิ่งมีความซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้หญิงทุกคนควรให้ความสำคัญและใส่ใจที่จะทำความรู้จักไว้ เพื่อหาวิธีป้องกัน ทั้งนี้ หนึ่งในโรคที่ผู้หญิงหลายคนมักจะได้ยินคำที่คุ้นหูจากคนรอบข้างบ่อยๆ ก็คือ “ซีสต์” ซึ่งโดยมากจะ ได้ยินกันต่างๆ นานา ว่า เป็นซีสต์ที่นั่นบ้าง ที่นี่บ้าง จนงงไปหมดว่า เจ้าซีสต์ที่ว่ากันอยู่นี้นั้น คืออะไรกันแน่

ซีสต์คืออะไร?
     "ซีสต์" มาจากภาษาอังกฤษว่า "cyst" มีความหมายว่า "ถุงน้ำ" ดังนั้น ไม่ว่าอะไรก็ตามที่มีเปลือกและมีน้ำหรือของเหลวภายในก็จะเรียกว่า "ซีสต์" เหมือนกันทั้งหมด

     ทั้งนี้ ก่อนที่คุณผู้หญิงทั้งหลายจะตระหนกตกใจไปก็ต้องคุยกับแพทย์จนเข้าใจเสียก่อนว่าเจ้าซีสต์ที่อวัยวะต่างๆ ซึ่งเรากำลังเป็นอยู่นั้น มันคืออะไรกันแน่ และจำเป็นจะต้องรักษาหรือไม่ หรือรีบด่วนมากน้อยเพียงใด

ซีสต์รังไข่ เกิดขึ้นได้อย่างไร?
     อวัยวะทุกอวัยวะภายในร่างกายของคนเรามีโอกาสจะเกิดซีสต์ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นผิวหนัง ไขมัน กระดูก อวัยวะภายใน หรือ แม้กระทั่งสมองก็มีซีสต์เกิดขึ้นได้ ส่วนคุณผู้หญิงก็จะมีความพิเศษมากกว่าผู้ชาย ตรงที่มีอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง โดยเฉพาะมีรังไข่ที่มีโอกาสเกิดซีสต์ขึ้นได้บ่อยๆ ยิ่งเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ก็จะเกิดซีสต์หรือถุงน้ำรังไข่ โตแล้วยุบหายไปตามรอบเดือน ซึ่งเกิดจากการตกไข่ตามปกติ

ก่อนอื่นเราคงต้องมาทำความเข้าใจกับประเภทของซีสต์ หรือถุงน้ำรังไข่กันเสียก่อน

ถุงน้ำรังไข่หรือซีสต์รังไข่มี 3 ประเภท
     ฟังค์ชั่นนัล ซีสต์ (Functional Cyst) คือ ถุงน้ำรังไข่ที่เกิดจากการทำงานตามปกติของรังไข่เพื่อสร้างไข่ที่เป็นเซลล์สืบพันธุ์ของฝ่ายหญิง จะเป็นถุงน้ำที่โตขึ้นแล้วแตกทำให้เซลล์ไข่ไหลออกมา หลังจากนั้นถุงน้ำนี้ก็จะค่อยๆ ยุบตัวไปเอง

     เนื้องอกถุงน้ำรังไข่ (Ovarian Tumor หรือ Ovarian Cyst) คือ เนื้องอกรังไข่ชนิดที่มีของเหลวภายใน ซึ่งอาจเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง (ไม่ใช่มะเร็ง) หรือ ชนิดร้ายแรง (มะเร็ง) ก็ได้ โดยมากเนื้องอกแต่ละชนิดมักจะมีลักษณะเฉพาะที่พอจะบอกได้ว่าเป็นชนิดใด เช่น Dermoid Cyst (ถุงน้ำเดอร์มอยด์) ซึ่งภายในถุงน้ำมักจะมีน้ำ, ไขมัน เส้นผม กระดูกและฟัน เมื่อเอ็กซเรย์ดูหรือตรวจอัลตราซาวด์ ก็มักจะบอกได้ว่าเป็นเนื้องอกชนิดนี้ ส่วนเนื้องอกถุงน้ำชนิดที่เป็นมะเร็งบางชนิด จะมีการสร้างสารเคมีที่ตรวจพบว่ามีปริมาณสูงมาก ๆ ในกระแสเลือดได้ เช่น CA 125 ก็สามารถบ่งบอกล่วงหน้าได้ว่าน่าจะเป็นมะเร็ง
 
     ถุงน้ำที่คล้ายเนื้องอก (Tumor like condition) คือถุงน้ำที่เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ที่เกิดขึ้นที่รังไข่ เมื่อมีรอบเดือนเยื่อบุโพรงมดลูกนี้ก็จะมีเลือดซึมออกมาสะสมในถุงน้ำนี้เรื่อย ๆ จนเป็นเลือดเก่า ๆ ข้น ๆ สีคล้ายช็อกโกแลต จึงเรียกว่า ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst)

สัญญาณเตือนมีไหม? อาการซีสต์รังไข่ที่ควรสังเกต
     ส่วนใหญ่ไม่มีสัญญาณเตือนหรือมีอาการใด ๆ แต่โดยมากจะมาตรวจพบก็เมื่อคนไข้เข้ามาตรวจสุขภาพประจำปี หรือมาตรวจพบโดยบังเอิญเมื่อมีอาการของโรคอื่นๆ แต่หากมีอาการ จะสามารถ สังเกตได้ ดังนี้

  • มีอาการปวดท้องน้อย และถ้าปวดสัมพันธ์กับรอบเดือนก็อาจสงสัยว่าจะมีช็อกโกแลตซีสต์
  • บางรายอาจรู้สึกว่าปัสสาวะบ่อยขึ้น เนื่องจากซีสต์โตพอสมควรและไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ
  • บางรายแค่มีอาการหน่วงๆ ท้องน้อย
  • บางคนไม่มีอาการเลยแต่รู้สึกหรือเข้าใจไปว่ามีหน้าท้องโตเพราะอ้วนก็ได้
  • บางรายมีอาการปวดท้องน้อยเฉียบพลัน จากขั้วถุงน้ำรังไข่บิด หรือถุงน้ำรังไข่แตกก็ได้
  • บางคนอาจมีประจำเดือนผิดปกติ คือ มามาก มากระปริบกระปรอย ปวดประจำเดือนมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละเดือน

     ทั้งนี้ ในกรณีร้ายแรงที่ถุงน้ำแตกออกและมีเส้นเลือดฉีกขาดอาจทำให้ตกเลือดในช่องท้องได้ ซึ่งเสี่ยงต่ออันตรายและมีโอกาสทำให้เสียชีวิต ทำให้เห็นได้ว่าโรคนี้แม้ไม่ใช่มะเร็งร้ายแต่ก็สามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และก่อให้เกิดอันตรายได้ คุณผู้หญิงควรให้ความสนใจหากมีอาการผิดปกติ ในข้อใดข้อหนึ่งดังที่ได้กล่าว ควรพบสูติ-นรีแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและทำการรักษา

วิธีการตรวจของแพทย์
     ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสุขภาพทั่วไปหรือตรวจเพราะมีอาการปวดท้องน้อย ถ้าผู้ป่วยยังเด็กหรือยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ แพทย์มักจะตรวจโดยใช้อัลตราซาวด์ที่ท้องน้อย โดยให้ผู้ป่วยกลั้นปัสสาวะให้มีปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะมากๆ เสียก่อน จึงจะเห็นมดลูกและรังไข่ได้ชัดเจน บางรายอาจจำเป็นต้องตรวจอัลตราซาวด์ ทางช่องคลอดหรือทางทวารหนักเพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำขึ้นก็ได้ ซึ่งหัวตรวจอัลตราซาวด์ที่ใช้ตรวจทางช่องคลอดหรือทวารหนักในปัจจุบันจะเป็นหัวตรวจเล็กๆ เท่านิ้วชี้หรือนิ้วหัวแม่มือเท่านั้น ซึ่งจะไม่ทำให้ผู้ถูกตรวจต้องรู้สึกเจ็บ

นอกจากแพทย์จะตรวจภายในและอัลตราซาวด์แล้ว การซักประวัติของอาการที่ผิดปกติต่างๆ ประวัติการมีประจำเดือนก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการวินิจฉัยโรค

ถุงน้ำรังไข่...ใช่มะเร็งหรือเปล่า
     ถึงแม้ว่าถุงน้ำรังไข่ จะมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้ค่อนข้างน้อย แต่แพทย์ก็ต้องระวังและรอบคอบในการตรวจวินิจฉัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงที่มีปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งรังไข่ ได้แก่ มีประวัติว่าคนในครอบครัวเป็นมะเร็งรังไข่ มีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ หรือการอัลตราซาวด์พบลักษณะของถุงน้ำขอบไม่เรียบ พบน้ำในช่องท้อง เมื่อแพทย์สงสัย จะต้องตรวจเพิ่มเติมในเรื่องของมะเร็งต่อไป

เมื่อพบถุงน้ำรังไข่แล้วจะรักษาอย่างไร
     กรณีที่สงสัยว่าจะเป็นถุงน้ำรังไข่ชนิด Functional Cyst แพทย์ก็จะนัดตรวจติดตามว่าจะยุบไปเองหรือไม่ บางรายแพทย์อาจจะให้รับประทานยาคุมกำเนิดหรือฉีดยาคุมกำเนิดสักระยะ แล้วนัดมาตรวจซ้ำ ถ้าซีสต์ไม่ยุบหรือโตขึ้น แสดงว่าไม่ใช่ Functional Cyst ก็จะให้การรักษาหรือผ่าตัดออกนั่นเอง

     กรณีที่ต้องผ่าตัดฉุกเฉิน เช่น ถุงน้ำรังไข่แตก ถุงน้ำรังไข่มีขั้วบิด เหล่านี้เกิดได้ทั้ง Functional Cyst และเนื้องอกถุงน้ำรังไข่ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดมาก และต้องรับการผ่าตัดรักษาฉุกเฉิน ยกเว้นในรายที่ Functional Cyst แตกที่เลือดออกในท้องไม่มาก อาจสังเกตุอาการภายในโรงพยาบาล ถ้าอาการดีขึ้นก็กลับบ้านได้
 
     กรณีที่ต้องผ่าตัดไม่ฉุกเฉิน เมื่อแพทย์ตรวจจนมั่นใจแล้วว่าเป็นซีสต์ที่รังไข่ชนิดที่ไม่ใช่ Functional Cyst เช่น ช็อกโกแลตซีสต์ขนาดใหญ่ หรือมีผลต่อการมีบุตรยาก, ซีสต์ที่เป็นเนื้องอกรังไข่ เป็นต้น แพทย์ก็จะวางแผนการรักษา ว่าจะผ่าตัดอย่างไร เช่น ผ่าตัดเปิดหน้าท้องตามปกติ หรือใช้วิธีผ่าตัดแบบส่องกล้อง และจะผ่าตัดเลาะเอาซีสต์ออกอย่างเดียวดีหรือตัดรังไข่ทั้งข้าง หรือทั้ง 2 ข้าง หรือจำเป็นต้องตัดมดลูกด้วยหรือไม่ เหล่านี้ขึ้นอยู่กับอายุผู้ป่วย ชนิดและขนาดของซีสต์ ความจำเป็นที่จะมีบุตรได้อีก เป็นต้น

วิธีผ่าตัดถุงน้ำรังไข่ผ่านกล้อง
     การผ่าตัดแบบส่องกล้องเป็นการพัฒนาการทางเทคโนโลยีเพื่อช่วยในการผ่าตัดในที่แคบๆ ได้ง่ายขึ้น เสียเลือดน้อยลง และผู้ป่วยมีอาการเจ็บแผลผ่าตัดน้อยลง ฟื้นตัวและกลับบ้านไปทำงานได้เร็วขึ้น

     อุปกรณ์สำคัญของการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ได้แก่ กล้องและเลนส์ขนาดเล็กๆ (ประมาณ 3-5 มม.) ส่งสัญญาณเข้าจอภาพ แพทย์จะเห็นภาพขยายที่ชัดเจนกว่าการดูด้วยตาเปล่า และมีเครื่องมือเล็ก ๆ ที่ใช้ในการทำผ่าตัด เช่น เครื่องมือจับเนื้อเยื่อ เครื่องมือจี้ห้ามเลือด เครื่องมือตัดหรือเย็บเนื้อเยื่อ นอกจากนั้นยังต้องใช้เครื่องมือปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อให้ช่องท้องขยาย จะได้มีพื้นที่ในการทำผ่าตัดได้ เป็นต้น

     หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะมีแผลที่หน้าท้อง 3 จุด ขนาด 0.5-1 ซม. ผู้ป่วยจะลุกเดินได้ ทานอาหารได้ และกลับบ้านได้ในวันรุ่งขึ้นประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก็สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติหรือแม้แต่จะเล่นกีฬาก็ทำได้ เช่นกัน

หัวใจสำคัญของการผ่าตัดผ่านกล้อง
     ในทุกการผ่าตัดย่อมมีความเสี่ยง เช่นกันกับการผ่าตัดซีสต์หรือถุงน้ำรังไข่ นพ.ชาญชัย เลาหประสิทธิพร หัวหน้าศูนย์สุขภาพหญิง โรงพยาบาลพญาไท 3 ได้กล่าวถึงหัวใจสำคัญไว้ 3 ข้อ คือ

  • อุปกรณ์ที่ใช้ในการผ่าตัดผ่านกล้อง ต้องพร้อมและอยู่ในสภาพดี
  • แพทย์และทีมงานที่ช่วยผ่าตัดผ่านกล้อง ต้องผ่านการฝึกฝน การผ่าตัดผ่านกล้องมาแล้วจนเชี่ยวชาญเป็นอย่างดี
  • แพทย์ผู้ทำผ่าตัด ต้องพิจารณาเลือกเคสที่เหมาะสมว่าจะสามารถทำการผ่าตัดผ่านกล้องแล้วได้ประโยชน์แก่คนไข้มากกว่าการทำผ่าตัดตามปกติ และสามารถให้คำแนะนำถึงข้อดีข้อเสียในการทำผ่าตัดปกติหรือผ่าตัดผ่านกล้องในรายนั้น ๆ จนได้ข้อสรุปร่วมกันระหว่างแพทย์ผู้ทำการรักษากับคนไข้นั้น ๆ ก่อนเสมอ

หลังผ่าตัดซีสต์รังไข่ ปฏิบัติตัวอย่างไรดีที่สุด

  • ควรงดกิจกรรมที่ต้องออกแรงหน้าท้องประมาณ 6 สัปดาห์
  • ห้ามให้แผลเปียกน้ำ จนกว่าแผลจะหายสนิท (ประมาณ 7 วัน)
  • ระหว่างพักฟื้นควรออกกำลังกายที่ไม่หักโหม เช่น การเดิน
  • รับประทานยาตามแพทย์สั่งและอย่าลืมพบแพทย์ตามนัด
  • หากมีความผิดปกติ เช่น มีไข้ แผล บวม แดง แฉะ ปวดท้อง มากขึ้น ควรมาพบแพทย์ทันทีไม่ต้องรอให้ถึงกำหนดนัด

เพศสัมพันธ์...หลังผ่าตัด ทำได้หรือไม่?
     หลังการผ่าตัดแพทย์ส่วนใหญ่มักแนะนำให้งดเพศสัมพันธ์ไว้ก่อน (แค่ชั่วคราว) ประมาณ 4-6 สัปดาห์ เมื่อร่างกายฟื้นตัวดี แพทย์ตรวจแล้วว่าปลอดภัย คุณผู้หญิงก็สามารถทำกิจกรรมนี้ได้ตามปกติ

ถ้ากำลังตั้งครรภ์แล้วมีถุงน้ำรังไข่ จะต้องทำอย่างไร
     ถ้าหากตรวจพบถุงน้ำรังไข่ที่มีขนาดใหญ่ ในขณะตั้งครรภ์จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการหมุนตัวบิดขั้ว ถ้าไม่ผ่าตัดจะมีโอกาสแท้งได้ แพทย์มักจะวางแผนการผ่าตัดในไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ เพราะมีความปลอดภัยต่อทารกมากกว่าการตั้งครรภ์ในระยะอื่นๆ ถ้าถุงน้ำรังไข่มีขนาดเล็ก(ไม่เกิน 5 ซม.) และลักษณะที่ตรวจพบโดยอัลตร้าซาวด์ค่อนข้างมั่นใจว่า ไม่น่าจะเป็นมะเร็งรังไข่ ก็สามารถตรวจติดตามขณะตั้งครรภ์ และพิจารณาการรักษา ขณะผ่าตัดคลอดหรือหลังคลอด ตามแต่ดุลยพินิจของแพทย์

ป้องกันการเกิดถุงนำรังไข่ ได้อย่างไร
     สาเหตุถุงน้ำรังไข่ที่ไม่ใช่ Functional Cyst ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดบางชนิดเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ แต่ในปัจจุบันมีข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่า ต้นเหตุของเนื้องอกถุงน้ำรังไข่ที่เป็นมะเร็ง ส่วนใหญ่เกิดมาจากเซลล์เยื่อบุของท่อนำไข่ ที่มีการกลายเป็นเซลล์ผิดปกติ หลุดมาติดที่รังไข่ และเติบโตต่อไปเป็นมะเร็งรังไข่ จากข้อมูลทางสถิติพบว่า ผู้หญิงที่ทำหมันแล้ว จะมีโอกาสเป็นมะเร็งถุงน้ำรังไข่น้อยกว่าผู้หญิงที่ยังไม่ได้ทำหมัน ดังนั้น เมื่อผู้หญิงที่ไม่ต้องการมีบุตรแล้ว หรือไม่สามารถมีบุตรได้แล้ว ถ้ามีการรักษาใดๆ ที่จำเป็นต้องผ่าตัดในช่องท้อง ก็มักจะตัดท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้างออกด้วยเลย เพื่อป้องกันมะเร็งรังไข่ในอนาคต

     ทั้งนี้ การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เป็นการป้องกันโรคได้ที่ดีที่สุด ควรหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนคลายเครียด การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดูแลให้มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานจะช่วยให้ร่างกายของคุณผู้หญิงสร้างฮอร์โมนได้อย่างสมดุล
 
     แม้ว่าคุณผู้หญิงจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่จากที่กล่าวมาแล้วว่า ถุงน้ำรังไข่ระยะแรกๆผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อ ก้อนใหญ่และเกิดภาวะแทรกซ้อนไปแล้ว เรามีวิธีการตรวจง่ายๆ ด้วยการใช้อัลตราซาวด์หรือการตรวจภายในร่วมด้วย ซึ่งสามารถตรวจหาโรคของระบบอวัยวะสืบพันธ์อื่นๆ ได้ในคราวเดียวกัน เช่น ตรวจหามะเร็งปากมดลูก เป็นต้น ฉะนั้นคุณผู้หญิงจึงควรตรวจสุขภาพประจำทุกปี

 

ขอขอบคุณข้อมูล นพ.ชาญชัย เลาหประสิทธิพร สูตินรีแพทย์ แพทย์ที่ปรึกษาศูนย์สุขภาพหญิงและศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลพญาไท 3

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

อาหารผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้