เช็กให้ชัวร์! คุณเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้หรือไม่?

วันที่ 13-05-2022 | อ่าน : 258


     ในแต่ละปี “มะเร็งลำไส้” คร่าชีวิตคนไทยไปกว่า 3,000 คน และมีแนวโน้มที่คนไทยจะเสียชีวิตด้วยมะเร็งลำไส้เพิ่มขึ้นอีก 2.4 เท่าในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะคนเมืองที่ใช้ชีวิตแบบรีบเร่ง ทานอาหารจานด่วน เน้นกินเนื้อแดง อาหารแปรรูป กินอาหารปิ้งย่าง และทานผัก-ผลไม้น้อยลง ทุกอย่างล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ได้

          เมื่อเทรนด์การดูแลสุขภาพกำลังมาแรง ทำให้คนยุคใหม่ให้ความสนใจเรื่องโรคมะเร็งมากขึ้น ทั้งในแง่การทานอาหาร การออกกำลังกาย และการหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังการเกิดโรค ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ดี

          ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันมะเร็งลำไส้สามารถป้องกันได้ โดยการส่องกล้องทางเดินอาหาร เพื่อตรวจระบบทางเดินอาหารและลำไส้ คล้ายกับการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งใช้เวลาไม่นาน สะดวกและปลอดภัย

กินอาหารปิ้งย่าง-แปรรูป เสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้
     เชื่อว่าหลายคนคงทราบดีอยู่แล้วว่า การทานอาหารปิ้งย่าง หรืออาหารแปรรูปมากเกินไป เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง เพราะเมื่อย่างเนื้อสัตว์จนไหม้เกรียมหรือมีรอยดำจะทำให้เกิดสารก่อมะเร็งติดมากับอาหาร หากกินบ่อยๆ จะสะสมในร่างกายและเป็นมะเร็งได้ โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ ที่มีหลายปัจจัยเสี่ยงร่วมมากมาย ดังนี้

  • ทานเนื้อสัตว์ติดมันและเนื้อแดงมากเกินไป
  • ทานเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการปรุงแต่ง เช่น ไส้กรอก เบคอน แฮม ในปริมาณมาก
  • ไม่ทานผัก-ผลไม้ หรือทานน้อยเกินไป
  • ไม่ออกกำลังกาย
  • เป็นโรคอ้วน หรือมีภาวะน้ำหนักตัวเกิน
  • สูบบุหรี่จัด และต่อเนื่องยาวนาน
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประจำ

     นอกจากเรื่องอาหารการกินแล้ว ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ ยังมาจากพันธุกรรม ที่มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ หรือมีมะเร็งในส่วนอื่นๆ ที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ดังนั้นยิ่งมีปัจจัยเสี่ยงมาก ยิ่งควรได้รับการตรวจคัดกรองเพื่อป้องกัน

ระยะต่างๆ ของมะเร็งลำไส้

มะเร็งลำไส้ แบ่งได้เป็น 5 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 0 เซลล์มะเร็งที่เป็นเพียงติ่งเนื้อ ตรวจพบได้จากการส่องกล้อง (Colonoscopy) และสามารถตัดออกขณะส่องได้ทันที ตั้งแต่ก่อนการเป็นมะเร็งหรือเกือบเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทำให้มีโอกาสหายขาดถึง 100%
  • ระยะที่ 1 เซลล์มะเร็งระยะเติบโตขึ้น และยังอยู่ในผนังลำไส้ เริ่มฝังในชั้นผนังของลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โดยยังไม่กระจายไปสู่เนื้อเยื่อข้างเคียงหรือต่อมน้ำเหลือง ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด หรือ Curative resection เป็นการผ่าตัดลำไส้ใหญ่ นำส่วนที่ดีมาต่อกัน ทั้งยังเป็นเทคนิคที่ใช้ผ่าตัดในมะเร็งทวารหนักร่วมด้วยได้
  • ระยะที่ 2 เกิดการลุกลามออกนอกผนังลำไส้ใหญ่ในบริเวณใกล้เคียง แต่ยังไม่กระจายถึงต่อมน้ำเหลือง สามารถใช้การผ่าตัดแบบหวังหาย (Curative resection) เป็นการรักษาหลักเช่นเดียวกับระยะที่ 1
  • ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง แต่ยังไม่ลุกลามไปยังอวัยวะอื่น รักษาโดยการผ่าตัดแบบหวังหาย (Curative resection) ร่วมกับเคมีบำบัดหลังผ่าตัด
  • ระยะที่ 4 มะเร็งแพร่กระจายลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ, ปอด หากก้อนมะเร็งที่ลุกลามไปที่ตับหรือปอดสามารถตัดออกได้ แพทย์จะทำการผ่าตัดมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่หรือทวารหนักออก พร้อมผ่าตัดมะเร็งที่ลุกลามออกด้วย แล้วให้ยาเคมีบำบัดต่อไป
  • อาการเตือนของโรคมะเร็งลำไส้
         สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ ในระยะแรกจะยังไม่แสดงออกการมากนัก และอาการเริ่มแรกจะคล้ายกับโรคอื่นๆ เช่น น้ำหนักลด ท้องเสีย ท้องผูก ขับถ่ายผิดปกติ มีเลือดออกทางทวาร หรืออุจจาระมีลักษณะเปลี่ยนไป อุจจาระมีเลือดปน มีสีคล้ำ หรือกลิ่นเหม็นผิดปกติ หากมีการปวดท้องร่วมด้วย ลักษณะการปวดขึ้นอยู่กับก้อนมะเร็งและตำแหน่งที่พบ เช่น ปวดบริเวณชายโครงด้านขวา หรือปวดบิดอย่างรุนแรง เป็นต้น

    ตรวจไว รู้ไว มะเร็งลำไส้รักษาได้
         ในเบื้องต้น การตรวจวินิจฉัยมะเร็งลำไส้สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การส่องกล้องตรวจลำไส้ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการตรวจอุจจาระ เป็นต้น โดยวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ การส่องกล้อง เพราะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงและให้ความแม่นยำได้ดี ทำให้แพทย์ทั่วโลกเลือกใช้วิธีนี้

         การส่องกล้องยังสะดวกสบายกับตัวผู้ป่วย เพราะไม่ต้องตรวจบ่อยๆ ในกรณีที่ไม่พบความผิดปกติ สามารถตรวจในระยะ 5-10 ปีได้ และหากพบก้อนเนื้อ ก็สามารถเก็บชิ้นเนื้อได้ทันที

    มะเร็งลำไส้ รักษาได้ด้วยการส่องกล้อง
         ด้วยความก้าวล้ำทางเทคโนโลยี ทำให้การผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ผ่านทางกล้อง (Laparoscopic Colectomy) ลดความเสี่ยงหลังผ่าตัด ลดอัตราการเสียเลือด ตลอดจนขนาดของรอยแผล ที่มีขนาดเล็กเพียง 0.5-1 ซม.

         ปัจจุบันการผ่าตัดผ่านกล้องเริ่มเป็นมาตรฐานในการผ่าตัดอวัยวะระบบต่างๆ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการผ่าตัดรักษาโรคต่างๆ เมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง เนื่องจากผู้ป่วยที่ผ่าตัดโดยวิธีนี้จะมีแผลผ่าตัดที่มีขนาดเล็กกว่า สูญเสียเลือดระหว่างผ่าตัดน้อยกว่า มีความเจ็บปวดน้อยกว่า ระยะเวลาในการพักฟื้นหลังผ่าตัดสั้นกว่า ส่งผลให้คุณภาพชีวิตหลังผ่าตัดดีกว่านั่นเอง

         และเป็นที่ทราบกันดีว่า ศัลยแพทย์ที่ผ่าตัดด้วยวิธีนี้ จำเป็นต้องมีทักษะการผ่าตัดแบบเปิดช่องท้องที่ดีพอ ร่วมกับการมีทักษะการใช้กล้องและอุปกรณ์ผ่าตัดขั้นสูงเป็นอย่างดี จึงสามารถทำการผ่าตัดรักษาได้อย่างปลอดภัย

         สำหรับผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง ต้องมีการเตรียมตัวที่ดี เนื่องจากปัจจัยที่มีผลต่อการส่องกล้องคือ ความสะอาดของลำไส้ เพราะหากลำไส้ไม่สะอาด อาจทำให้แพทย์เห็นภาพไม่ชัด หรือมองไม่เห็นก้อนเนื้อภายในลำไส้ ก่อนผ่าตัดผู้ป่วยต้องงดอาหารและน้ำทุกชนิดนานอย่างน้อย 6 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสำลักอาหารในขณะให้ยาระงับความรู้สึก และอาหารมื้อสุดท้ายก่อนเข้ารับการผ่าตัดควรเป็นอาหารอ่อน ย่อยง่าย และไม่ทานมากเกินไป

    หลังผ่าตัดมะเร็งลำไส้ต้องดูแลตัวเองอย่างไร?
         ช่วงหลังผ่าตัดเสร็จ ผู้ป่วยต้องพักผ่อนอย่างน้อย 2-3 วัน พยายามเคลื่อนไหวร่างกายเบาๆ ด้วยการลุกนั่งหรือเดิน ช่วยให้ฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้เร็วขึ้น และลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ดี ในการผ่าตัดแบบส่องกล้องแพทย์จะปิดแผลด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ ผู้ป่วยจึงอาบน้ำได้ทันที

         หมั่นสังเกตอุจจาระของตนเองว่ามีเลือดปนมาหรือไม่ และในผู้ป่วยที่ได้รับยาระงับความรู้สึกทางหลอดเลือดดำ ห้ามขับรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรอย่างน้อย 24 ชั่วโมง หากมีอาการปกติอย่างปวดท้อง ท้องอืด ท้องแข็งตึง มีไข้สูง ควรรีบพบแพทย์

         นอกจากนี้ ผู้ป่วยต้องงดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 24-48 ชั่วโมงหลังผ่าตัด หลักสัปดาห์แรกหากมีอาการปวดแผล ให้ทานยาแก้ปวดเพื่อช่วยบรรเทาได้ หลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง 6 สัปดาห์ รับประทานยาให้ตรงเวลา และครบจำนวนตามที่แพทย์กำหนด

         โรคมะเร็งสำไส้ หากตรวจพบเร็ว โอกาสรักษาหายจะสูงมาก ดังนั้นเมื่อพบความผิดปกติหรือมีอาการน่าสงสัย ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กให้แน่ใจ จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

     
    ขอขอบคุณข้อมูล ศูนย์ศัลยกรรมผ่าตัดแผลเล็ก โรงพยาบาลพญาไท 2

    หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

อาหารผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้