เนื้องอกในเต้านมชนิดปกติ(Fibroadenoma) พบแล้วรักษาได้อย่างไร

วันที่ 17-09-2021 | อ่าน : 1234


เนื้องอกในเต้านมชนิดปกติ(Fibroadenoma) พบแล้วรักษาได้อย่างไร

     เนื้องอกในเต้านมมีอยู่หลายชนิด แต่เนื้องอกในเต้านมชนิดปกติหรือ Fibroadenoma เป็นก้อนเนื้อในเต้านมที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิง สามารถเกิดได้ในผู้หญิงทุกวัยแต่มักพบในผู้หญิงอายุน้อยวัยก่อนหมดประจำเดือน ก้อนเนื้องอกชนิดนี้มีลักษณะเรียบกลมหรือเป็นรูปไข่มีขอบเขตชัดเจน กลิ้งไปมาได้เมื่อสัมผัส ส่วนใหญ่พบเพียงก้อนเดียวแต่ในบางรายอาจพบได้หลายก้อน มักไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ ก้อนเนื้องอกอาจโตขึ้นหรือหดตัวเล็กลงจนหายไปเองได้ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเอง ไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สูงขึ้นจากการตั้งครรภ์หรือการกินฮอร์โมนเสริมเป็นตัวกระตุ้นให้ก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่ขึ้น ในขณะที่วัยหมดประจำเดือน (Menopause) มักทำให้ก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็กลง

     โดยทั่วไปเนื้องอกชนิดปกติ ไม่จำเป็นต้องทำการรักษาหากไม่มีข้อบ่งชี้ เพียงแค่ติดตามอาการทุก 6 เดือนหรือทุกปี เนื่องจากความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งมีน้อยกว่า 1% เท่านั้น

เนื้องอกในเต้านมชนิดปกติกับซีสต์ต่างกันอย่างไร

     เนื้องอกในเต้านม หมายถึง ก้อนที่ภายในเป็นเนื้อหรือของแข็ง ในขณะที่ซีสต์หรือถุงน้ำในเต้านม คือ ก้อนที่มีของเหลวอยู่ภายใน แยกความแตกต่างได้โดยการทำอัลตร้าซาวด์หรือการใช้เข็มเล็กๆดูดออกมาเพื่อดูว่ามีน้ำอยู่ภายในก้อนเนื้อหรือไม่

ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดมีอะไรบ้าง

ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดมีอยู่ 4 ประการด้วยกันคือ

  • หากติดตามอาการแล้วก้อนเนื้อมีขนาดโตขึ้น เนื่องจากมีปัจจัยบางอย่างไปกระตุ้น เช่น ฮอร์โมน การตั้งครรภ์ การให้นมบุตร การกินฮอร์โมนเสริม
  • มีอาการเจ็บตรงก้อน จนมีผลกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เจ็บเมื่อมีประจำเดือน
  • ก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่เกิน 3 เซนติเมตรขึ้นไปหรือเกิน 2 เซนติเมตรขึ้นไปในคนที่อายุไม่เกิน 30 ปี
  • ความกังวลของตัวผู้ป่วยเอง บางคนไม่อยากเก็บก้อนเนื้อไว้หรือไม่อยากติดตามผลอยู่เรื่อยๆ

ดังนั้นหากผู้ป่วยมีเนื้องอกหลายก้อน อาจไม่จำเป็นต้องเอาออกทั้งหมดเพราะการผ่าตัดทำตามข้อบ่งชี้ 4 ประการข้างต้น
 

การผ่าตัดทำได้กี่วิธี

ในปัจจุบัน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ให้บริการผ่าตัดก้อนเนื้องอกในเต้านมชนิดไม่ร้ายแรงอยู่ 2 วิธีด้วยกัน ดังนี้

  • การผ่าตัดแบบปกติ โดยแพทย์จะผ่าตัดเอาเนื้องอกออกมาทั้งก้อนพร้อมกับเลาะเนื้อเยื่อปกติบางส่วนรอบๆ ดังนั้นหลังผ่าตัดผู้ป่วยอาจมีรอยแผลเป็นได้
  • การรักษาด้วยความเย็นติดลบ (Cryoablation) โดยใช้ความเย็นต่ำกว่าจุดเยือกแข็งทำให้เซลล์ก้อนเนื้องอกตายทั้งก้อนในทันที หลังจากนั้นร่างกายจะสลายหรือดูดซึมเซลล์ที่ตายออกไปเองภายในระยะเวลา 6 เดือน การรักษาด้วยความเย็นติดลบเป็นการรักษาที่ไม่ทำให้เนื้อเยื้อโดยรอบเสียหาย มีเพียงรอยเจาะเล็กๆเท่านั้น

อาการแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดมีอะไรบ้าง

  • การติดเชื้อ ซึ่งมีโอกาสเกิดได้น้อยมาก เพราะเราใช้เทคนิคปราศจากเชื้อ (sterile technique) ในการผ่าตัด รวมถึงผู้ป่วยจะได้รับยาฆ่าเชื้อหลังการผ่าตัด
  • อาการเจ็บปวด บางคนอาจมีอาการเจ็บปวดได้บ้าง หากเป็นการผ่าตัดปกติ แพทย์จะให้ยากลุ่ม NSAID เพื่อระงับอาการปวด แต่หากเป็นการรักษาด้วยความเย็นติดลบที่เจ็บน้อย สามารถบรรเทาอาการปวดได้ด้วยยาพาราเซตามอล
  • ผิวหนังถูกความเย็นกัด (Frost bite) จากการรักษาด้วยความเย็นติดลบในกรณีที่ก้อนเนื้องอกอยู่ใกล้ผิวหนังมาก อย่างไรก็ตาม แพทย์มีวิธีป้องกันด้วยการใช้เทคนิคที่ทำให้ไม่เกิดภาวะความเย็นกัด ด้วยการฉีดน้ำเกลือ (saline) เพื่อเป็นผนังกั้นไม่ให้ก้อนน้ำแข็งโดนผิวหนัง

 

 

ขอบคุณข้อมูล : คลินิกเต้านม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
ความรู้มะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้