ไอเรื้อรัง ปล่อยไว้ อันตราย!

วันที่ 06-05-2021 | อ่าน : 544


     อาการไอ ย่อมสร้างความรำคาญให้ใครหลายๆ คน แต่บางคนก็คิดว่าแค่ไอ ปล่อยไว้เดี๋ยวก็หายเอง ซึ่งหากทิ้งไว้นานวันแล้วยังมีอาการไออยู่อย่างต่อเนื่องเรื้อรังย่อมไม่ดีแน่ เพราะนั่นย่อมหมายถึงสัญญาณของการเกิดโรคต่างๆ ตามมามากมายได้

กลไกของการไอ
     การไอ เกิดจากการมีสิ่งแปลกปลอมไปสร้างความระคายเคือง หรือการที่เสมหะอยู่ในหลอดลม ซึ่งร่างกายก็จะพยายามกำจัดทิ้งด้วยการไอออกมา บางกรณีที่ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอม อาจมีบางอย่างไปกดทับที่บริเวณของเนื้อปอดหรือหลอดลมจึงทำให้เกิดอาการไอ เช่น มีก้อนเนื้อหรือมะเร็งปอด ทำให้ร่างกายนั้นพยายามจะขับออกมาแต่ไม่สามารถขับได้ จนเป็นเหตุให้มีอาการไอเรื้อรังเกิดขึ้น

อาการไอเรื้อรัง...เกิดจากโรคใดบ้าง?

  1. วัณโรคปอด พบได้ในคนทั่วไปแม้ไม่มีประวัติสัมผัสโรค ในระยะแรกจะไม่มีอาการ แต่สามารถตรวจพบได้จากการเอกซเรย์ปอด เมื่อโรคลุกลามมากขึ้นจะมีอาการไอเรื้อรัง มีไข้ มักเป็นตอนกลางคืน มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด บางรายอาจไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย
  2. มะเร็งปอด ในระยะเริ่มแรกจะไม่มีอาการ เมื่อโรคเป็นมากขึ้นจะมีอาการไอเรื้อรัง บางราย อาจไอออกเป็นเลือดสด บางรายอาจมีอาการเจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือมีไข้ร่วมด้วย ผู้ป่วยมักมีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน แต่บางรายอาจไม่มีประวัติสูบบุหรี่ก็ได้
  3. ถุงลมโป่งพอง มักพบในคนที่มีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน ผู้ป่วยมักมีอาการไอแบบมีเสมหะเรื้อรัง และหอบเหนื่อยง่าย มีหายใจเสียงดัง
  4. โรคหืด พบได้ทุกช่วงอายุ มักมีอาการไอ โดยเฉพาะเวลากลางคืน อากาศเย็น ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับขนาดหลอดลมฝอยว่าตีบมากหรือน้อย อาการมีได้ตั้งแต่หายใจไม่สะดวก ไอมาก หายใจดัง หอบเหนื่อย อาการมักจะกำเริบเมื่อติดเชื้อทางเดินหายใจร่วมด้วย
  5. โรคภูมิแพ้อากาศ มักมีอาการคันจมูก คันคอ ไอ จาม บางรายมีน้ำมูกใสๆ ร่วมด้วย มักมีอาการเมื่อสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่นละอองเกสร ขนสัตว์ อากาศเย็น เป็นต้น
  6. กรดไหลย้อน มีอาการไอแห้งๆ โดยเฉพาะหลังอาหาร หรือเวลาล้มตัวลงนอน อาจจะมีอาการแสบร้อนในอก หรือเรอเปรี้ยวร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้
  7. ไซนัสอักเสบ มักจะมีอาการเป็นหวัดหรือโรคภูมิแพ้อากาศนำมาก่อน บางรายอาการหวัดอาจดีขึ้นในช่วงแรก แล้วแย่ลงภายหลัง มักไอเวลากลางคืนเพราะน้ำมูกไหลลงคอ
  8. ภาวะทางเดินหายใจไวต่อสิ่งกระตุ้น พบตามหลังโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ คือเมื่ออาการหวัดหายแล้ว แต่ยังมีอาการไออยู่ โดยไอมากกลางคืนหรือเวลาอากาศเย็นๆ ถูกลม เป็นต้น
  9. อาการไอแบบใดที่เป็นอันตราย และควรรีบพบแพทย์ ?

    • ไอนานกว่า 2 สัปดาห์ ขึ้นไป
    • อาการไอที่รุนแรงมากขึ้น
    • อาการไอที่มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีเลือดปน น้ำหนักลด เบื่ออาหาร หอบเหนื่อย อ่อนเพลีย เจ็บหน้าอก เป็นต้น

    การตรวจหาสาเหตุของการไอเรื้อรัง
         เนื่องจากสาเหตุจากการไอเรื้อรังนั้นเกิดจากโรคที่ต่างกัน จึงควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ทำการตรวจด้วยการเอกซเรย์ทรวงอก เพื่อดูว่าเป็นวัณโรค หรือมะเร็งปอดหรือไม่ ถ้าสงสัยว่าเป็นไซนัสอักเสบก็สามารถตรวจเอกซเรย์โพรงจมูก ในกรณีที่สงสัยว่าอาจจะเป็นโรคหอบหืด ต้องตรวจสมรรถภาพปอด ถ้าสงสัยว่าเป็นโรคกรดในกระเพาะไหลย้อน แพทย์จะรักษาเบื้องต้น ถ้ารักษาแล้วไม่ดีขึ้น จะต้องส่องกล้องตรวจหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร เป็นต้น

    การดูแลตนเองเมื่อมีอาการไอ

    • หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้อาการไอแย่ลง เช่น เปิดแอร์อุณหภูมิ 25 องศา ไม่เปิดแอร์เย็นอุณหภูมิต่ำเกินไป สวมผ้าพันคอ อย่าเปิดพัดลงตรงตัว หลีกเลี่ยงการทานอาหารหรือเครื่องดื่มเย็นๆ รวมถึงของทอด ของมัน เป็นต้น ถ้าไอจากกรดไหลย้อน ต้องหลีกเลี่ยงเหล้า บุหรี่ อาหารเปรี้ยว เผ็ด
    • พบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และรักษาตามสาเหตุที่พบ บางรายอาการไอเรื้อรัง อาจมีหลายสาเหตุร่วมกัน เช่น เป็นภูมิแพ้อากาศ โรคหืด และกรดไหลย้อนร่วมกันทั้ง 3 โรค
    • ถ้าสูบบุหรี่ต้องเลิกบุหรี่

     

     

    ที่มา แพทย์หญิงพิมฑิราภ์ สุจริตวงศานนท์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจโรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์

    หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

อาหารผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้