โภชนบำบัดเพื่อการป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง

วันที่ 10-03-2021 | อ่าน : 2276


             
    สถาบันวิจัยมะเร็งของสหรัฐอเมริกา และกองทุนวิจัยมะเร็งโลกพบว่า ประมาณร้อยละ 30-40 ของมะเร็งทั้งหมด สามารถป้องกันได้โดยการปรับวิถีชีวิต ซึ่งการบริโภคอาหารมีบทบาทสำคัญต่อโรคมะเร็ง รวมถึงการออกกำลังกาย และการรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับโภชนาการ ได้แก่ ความอ้วน การบริโภคอาหารไม่เหมาะสม เช่น การบริโภคน้ำตาลสูง อาหารที่ขัดสี ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นเบาหวาน การบริโภคใยอาหารน้อย  การบริโภคเนื้อสัตว์(เนื้อแดง)มาก ความไม่สมดุลของกรดไขมันโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6

    การรับประทานผักและผลไม้ในปริมาณที่มากจะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็ง มีรายงานวิจัยพบว่าพืชตระกูลกระเทียม และตระกูลกะหล่ำช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งได้ นอกจากนั้นสารอาหารซีลีเนียม กรดโฟลิค วิตามินบี12 วิตามินดี สารต้านอนุมูลอิสระ เช่น กลุ่มแคโรทีนอยด์ ซึ่งได้แก่ อัลฟ่า และเบต้าแคโรทีน ไลโคพีน ลูทีน และคริปโตแซนทีน ยังมีผลต่อการป้องกันมะเร็งอีกด้วย หากบริโภคอาหารให้เหมาะสม จะสามารถลดความเสี่ยงของการเกิด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งต่อมลูกหมากได้ร้อยละ 60 –70 มะเร็งปอดได้ร้อยละ 40 -50

    การบริโภคอาหารในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายของแต่ละคน กล่าวคือให้มีพลังงานที่เหมาะสม ซึ่งขึ้นอยู่กับเพศ อายุ ขนาดของร่างกาย กิจกรรมที่ทำอยู่ในแต่ละวัน และความเจ็บป่วยด้วย สำหรับคนทั่วไปซึ่งทำงานเบาเพศหญิงวัยทำงาน และผู้สูงอายุ ควรได้รับพลังงานวันละ 1,600 กิโลแคลอรี สำหรับผู้ชายวัยทำงานและเด็กวัยรุ่นควรได้รับวันละ 2,000 กิโลแคลอรี โดยอาจบริโภคอาหารตามกลุ่มต่างๆ ดังนี้

  • ข้าว-แป้ง  วันละ 8-10 ทัพพี หรือมื้อละ 2-3 ทัพพี ซึ่งควรเป็นข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ หรือธัญพืชไม่ขัดสี ขนมปังโฮลวีท (1 แผ่นเท่ากับข้าว 1 ทัพพี) หรือจะรับประทานเผือก มัน หรือข้าวโพดก็ได้
  • ผัก ควรบริโภคผักให้มากขึ้น วันละ 4-5 ทัพพี ผักในเมืองไทยมีมากมายหลากหลายชนิด ควรบริโภคผักให้หลากหลายสี โดยเฉพาะสีเขียว สีเหลือง สีส้ม สีแดง หรือแม้กระทั่งสีม่วง การรับประทานผักในปริมาณมากจะช่วยลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็ง มีรายงานวิจัยพบว่าพืชตระกูลกระเทียม และตระกูลกะหล่ำช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งได้ พืชตระกูลกะหล่ำ เช่น กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี บล็อคโคลี โดยเฉพาะบล็อคโคลี มีสารที่ชื่อว่า ซัลโฟโรเฟน มีฤทธิ์ในการต้านมะเร็ง มีหลายการศึกษาพบว่า พืชตระกูลกะหล่ำลดการเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งปอดได้ ส่วนในผักตระกูลกระเทียม ได้แก่ กระเทียม หอมหัวใหญ่ หอมแดง มีรายงานว่าช่วยป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งต่อมลูกหมาก อีกด้วย
  • ผลไม้ ควรบริโภคอย่างน้อยวันละ 3 ส่วน (1 ส่วนหมายถึง กล้วยน้ำว้า 1 ผล หรือ แอปเปิล 1 ผล หรือ ส้มเขียวหวาน 1 ผลใหญ่ หรือ ฝรั่ง 1/2 ผล หรือ เงาะ 4 ผล หรือ สำหรับผลไม้ผลใหญ่ที่หั่นเป็นชิ้นพอคำ ได้แก่ มะละกอ หรือสับปะรด หรือแตงโม ประมาณ 6 - 8 คำ) ควรบริโภคผลไม้รสไม่หวานจัด ซึ่งผลไม้เป็นแหล่งของใยอาหาร วิตามินซี วิตามิน เกลือแร่มากมาย นอกจากนั้นยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ในผักผลไม้ที่มีสีแดง จะมีสารไลโคพีนซึ่งมีฤทธิ์ป้องกันโดยเฉพาะมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • เนื้อสัตว์ ควรบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ วันละ 6-9 ช้อนรับประทานข้าว โดยลดการบริโภคเนื้อแดงหันมาบริโภคเนื้อสัตว์ขาวแทน ได้แก่ ปลา หากเป็นปลาทะเลก็จะได้รับกรดไขมันโอเมก้า 3 มากขึ้น ซึ่งจะทำให้สัดส่วนกรดไขมันโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 สมดุล ยิ่งไปกว่านั้นปลามีไขมันต่ำ ย่อยง่าย คอเลสเตอรอลต่ำ นอกจากปลา ยังสามารถบริโภคถั่วเมล็ดแห้ง โดยเฉพาะถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น เต้าหู้ สลับกับเนื้อสัตว์ได้ ในถั่วเหลืองจะมีสารที่ชื่อว่าไฟโตเอสโตรเจน หากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม จะลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเต้านมได้
  •  นม สามารถดื่มนมได้ โดยบริโภคได้ 1-2 แก้วต่อวัน แต่ควรเป็นนมไขมันต่ำ หรือนมขาดมันเนย หากท่านดื่มนม 2 แก้ว ท่านควรลดอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์ลงมา อาจจะเหลือวันละ 4-6 ช้อนรับประทานข้าว
  • น้ำมัน น้ำตาล และเกลือ ให้บริโภคในปริมาณน้อย ไม่ควรเติมน้ำตาล และเกลือลงในอาหาร หรือเติมในปริมาณที่น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ ควรลดอาหารหมักดอง อาหารที่ผ่านการแปรรูป เช่น ปลาเค็ม ไข่เค็ม แหนม หมูยอ ไส้กรอก เป็นต้น สำหรับไขมันควรลดการปรุงอาหารด้วยการทอด การทอดด้วยใช้น้ำมันมากๆ การชุบแป้งทอด โดยเฉพาะการทอดด้วยน้ำมันซ้ำๆ

     นอกจากการบริโภคอาหาร การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต หรือพฤติกรรม ทั้งในด้านการออกกำลังกาย การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ ตลอดจนทำจิตใจให้เบิกบานผ่องใสจะช่วยให้ไม่กลับมาเป็นมะเร็งอีก หลังจากการรักษาอาจจะได้รับคำแนะนำจากผู้ที่ประสงค์ดีหลายๆ ท่านว่าไปรักษาที่นั่นที่โน่นดี ไปรับประทานยาพระ ยาหม้อ หมอพระ รวมทั้งชีวจิต ท่านต้องตั้งสติว่าข้อมูลที่ท่านได้รับมีความน่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์หรือไม่ มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์หรือไม่ อย่าไปเชื่อเพราะเขาบอกหรือตามคำเล่าลือเท่านั้น เพราะอาจจะทำให้ท่านเสียเงินและเสียเวลา  สถาบันวิจัยมะเร็งของสหรัฐอเมริกา (The American Institute for Cancer Research) และสมาคมมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (The American Cancer Society) ได้แนะแนวทางในการดูแลตัวเองให้แข็งแรง และลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง หรือแนวทางการป้องกันมะเร็งดังนี้

1. ควรเลือกอาหารที่มาจากพืชเป็นส่วนใหญ่

  • ให้มีอาหารพืชผัก ผลไม้ไว้ในตู้เย็นเสมอ
  • ให้ใช้ถั่วเมล็ดแห้งในการปรุงอาหารให้มากขึ้น เช่น ใส่ถั่วในส้มตำ ยำ หรือในแกง อาจจะใช้ถั่วได้หลายชนิด เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วแดง เป็นต้น
  • หัดปรุงอาหารที่ทำจากพืช
  • ให้รับประทานอาหารพวกผักชนิดใหม่ๆ ซึ่งจะเพิ่มความอยากรับประทานอาหารพวกผัก
  • รับประทานอาหารโปรตีนที่ทำจากพืช เช่น เนื้อปลอมที่ทำจากถั่วเหลืองหรือจากเห็ด
  • ใช้เนื้อเพียงแค่ปรุงรสเท่านั้นไม่ใช่อาหารหลัก เช่น ผัดผักใส่หมูหรือกุ้งเพื่อปรุงรสและกลิ่น

2. รับประทานผักและผลไม้เพิ่มขึ้น

  • เลือกอาหารว่างที่ทำจากพืช เช่น ผลไม้ต่างๆ น้ำผลไม้ และควรเป็นน้ำผลไม้สดจะดีกว่า โดยเฉพาะการคั้นเองจะทำให้ไม่สูญเสียวิตามินซีไปมาก และไม่ควรเติมน้ำตาล
  • รับประทานผักใบเขียวให้มาก
  • ควรรับประทานผลไม้หลังจากรับประทานอาหาร

หากท่านรับประทานผักและผลไม้มากเท่าใดท่านจะได้รับสารอาหาร วิตามิน สารต้านอนุมูลอิสระมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งจะเพิ่มกำลังในการป้องกันมะเร็ง

 3. รักษาน้ำหนักที่เหมาะสมและออกกำลังกายเป็นประจำ
     น้ำหนักที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่างดัชนีมวลกาย 18.5-22.9 กิโลกรัม/เมตร2 สำหรับคนที่น้ำหนักน้อยต้องรับประทานอาหารเพิ่ม โดยอาจเพิ่มอาหารพวกข้าว แป้ง ธัญพืชที่ไม่ขัดสีและอาหารที่ให้โปรตีนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปลา ถั่วเหลืองหรือเต้าหู้ โรคอ้วนทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพมาก ดังนั้นสำหรับคนที่มีน้ำหนักเกิน ต้องรับประทานอาหารน้อยลง ควรเลือกชนิดของอาหารที่บริโภค วิธีการรับประทานอย่างฉลาด ดังนี้

  • อ่านฉลากอาหารทุกครั้ง หากปริมาณสารอาหารตามฉลากมากเกินไป ต้องแบ่งอาหารออกมาตอนรับประทาน เพื่อมิให้ได้รับพลังงานเกินไป
  • อย่าอดอาหาร เพราะจะรับประทานมากขึ้นในมื้อต่อไป
  • เลือกอาหารว่างอย่างฉลาด ควรจะเลือกพวกผักและผลไม้
  • ให้รับประทานเมื่อหิวเท่านั้น อย่ารับประทานเพราะว่าอร่อย หรือว่ากำลังเหงา ควรหางานอดิเรกทำเพื่อจะได้ไม่รับประทานมากเกินไป
  • อาหารพวกผักและผลไม้จะมีไขมันต่ำ หากอาหารหลักเป็นอาหารเหล่านี้โอกาสที่จะอ้วนก็มีน้อย

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอทำให้ร่างกายแข็งแรง ลดความเครียดได้ ทำให้ระบบย่อยอาหารและการขับถ่ายดีขึ้น วิธีการออกกำลังกายอย่างง่ายๆ ทำได้ดังนี้

  • เริ่มทีละเล็กน้อยค่อยๆ เพิ่ม อย่าหักโหม เพราะจะทำให้ได้รับบาดเจ็บ
  • การเดินเป็นวิธีที่ดี ง่าย สะดวก และประหยัด
  • การทำกิจวัตรประจำวันควรให้กระฉับกระเฉง เช่น การขึ้นบันได การเดินไปทำงาน การล้างรถหรือถูบ้าน
  • ท่านที่สูงอายุหรือมีโรคข้อเข่าเสื่อม อาจจะออกกำลังในน้ำ เพราะน้ำจะช่วยพยุงตัวท่าน ลดการกระแทก และไม่เป็นอันตรายต่อข้อ

4. ลดการดื่มสุรา
การดื่มสุราก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นมะเร็งตับควรงดการดื่มสุรา

  • หากไม่เคยดื่มสุราก็ไม่มีความจำเป็นต้องเริ่มดื่ม
  • หากไปงานเลี้ยงก็ไม่ควรใช้เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสม

5. เลือกรับประทานอาหารที่มีปริมาณไขมันต่ำ
     อาหารที่มีไขมันสูงและเกลือสูง จะเพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งโดยเฉพาะกรดไขมันอิ่มตัวและกรดไขมันทรานส์ (trans-fatty acid) ซึ่งไขมันทั้งสองเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งและโรคหัวใจและหลอดเลือด ไขมันอิ่มตัว พบมากในน้ำมันสัตว์ เช่น น้ำมันหมู น้ำมันไก่ หนังสัตว์ และกะทิ ส่วนไขมันทรานส์ พบมากในเนยขาว และมาการีน ซึ่งเป็นส่วนประกอบในการทำขนมพวกเบเกอรี จึงควรงดการรับประทานอาหารดังกล่าว แต่มิได้ห้ามรับประทานไขมันทั้งหมด เพราะไขมันก็มีประโยชน์ต่อร่างกาย คือ ให้พลังงาน และยังไปสร้างฮอร์โมนต่างๆ นอกจากนั้นหากไม่รับประทานเลย วิตามินที่ละลายในไขมันซึ่งได้แก่ วิตามินเอ ดี อี เค จะไม่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้

6. ปรุงอาหารอย่างถูกวิธี
     การปรุงอาหารพวกเนื้อสัตว์โดยการปิ้ง ย่าง หรือเผา ด้วยความร้อนที่สูงจะทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง เนื่องจากน้ำมันที่ถูกไฟไหม้จะก่อให้เกิดสาร polycyclic aromatic hydrocarbons ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ควรจะเลี่ยงไปใช้วิธีอื่น เช่น การอบ นึ่ง ต้ม ทอดในน้ำ วิธีการที่จะลดการเกิดสารก่อมะเร็งมีดังนี้

  • อย่าย่างเนื้อสัตว์หลายชนิดในไม้เดียวกัน เพราะเนื้อทุกชนิดสามารถทำให้เกิดมะเร็งได้ ให้เลี่ยงไปย่างผักหรือผลไม้แทนเนื้อสัตว์
  • เลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่มีไขมัน และให้ตัดไขมันออกจากเนื้อสัตว์ให้หมด
  • ให้หมักเนื้อนั้นก่อนปรุงอาหารโดยเฉพาะการหมักด้วยมะนาวจะช่วยลดสารก่อมะเร็งให้หมักก่อนปรุง 15-20 นาที ไม่ควรหมักด้วยน้ำมัน
  • ไม่ควรเผาเนื้อสัตว์ ถ้าเลี่ยงไม่ได้ให้หุ้มเนื้อสัตว์ด้วยฟอยด์กอ่น หรืออาจจะทำให้เนื้อสัตว์สุขด้วยการต้ม อบ หรือเข้าไมโครเวฟก่อน แล้วจึงนำมาปิ้งภายหลัง
  • อย่ารับประทานเนื้อสัตว์ที่ไหม้ ให้ตัดส่วนที่ไหม้ออก
  • การย่างหรือเผาอาหารพวกผักไม่ก่อให้เกิดสารก่อมะเร็ง

7. การเตรียมและการประกอบอาหารอย่างปลอดภัย
ผู้ป่วยที่ฟื้นจากโรคมะเร็งอาจจะมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ มีโอกาสจะเกิดโรคจากอาหารเป็นพิษสูง ดังนั้นควรปฏิบัติในเรื่องความปลอดภัยในอาหาร จะช่วยป้องกันการโรคติดเชื้อได้

  • ล้างมือ ถ้วยชาม เช็ดโต๊ะ ให้สะอาดอยู่เสมอ
  • ให้ล้างผักและผลไม้โดยการรินน้ำให้ไหลผ่านเป็นเวลานานพอสมควร
  • ระวังการปนเปื้อนอาหารจากการใช้มีด เขียง จาน ชาม
  • ปรุงอาหารให้สุกทุกครั้ง ไม่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ
  • อ่านฉลากอาหารให้ทราบวันหมดอายุ

8. งดการสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่จะทำให้เกิดมะเร็งได้หลายระบบ โดยเฉพาะมะเร็งปอด การเลิกสูบบุหรี่ทำให้ลดการเกิดมะเร็งได้ 30%

 

 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

อาหารผู้ป่วยะมเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้