วันที่ 23-09-2020 | อ่าน : 1311
เพราะร่างกายที่ถูกใช้งานมาเป็นเวลานานผนวกกับอายุที่เพิ่มขึ้น อวัยวะต่างๆ จึงมีความเสื่อมและความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมากมาย การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นการค้นหาความเสี่ยงและความเสื่อมของร่างกายในเบื้องต้น ซึ่งหากตรวจพบความผิดปกติก็จะสามารถป้องกัน ตรวจเพิ่มเติม และรักษาได้ทันที เพราะหากพบเร็ว รักษาไว โอกาสหายก็ย่อมมากกว่า
“ตรวจสุขภาพ” ความสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม...
ด้วยมลพิษมากมายในปัจจุบัน ส่งผลให้สุขภาพของคนเราย่ำแย่ตามไปด้วย หลายคนมองข้ามความสำคัญของการตรวจสุขภาพ เพราะเห็นว่าร่างกายปกติดี ไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยอะไร ใครที่กำลังคิดแบบนี้อยู่เราขอบอกเลยว่า… ขอให้คิดใหม่! เพราะการที่ร่างกายไม่ได้แสดงอาการอะไรออกมาให้เห็น ไม่ได้หมายความว่าสุขภาพของคุณยังแข็งแรงดีไม่มีความเสื่อม เพราะโรคบางโรคที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้แสดงอาการออกมาให้เห็นชัดรู้สึกได้ ต่อเมื่อมีการตรวจร่างกายจึงจะพบนั้นหมายถึงว่าหากไม่ตรวจสุขภาพบ้าง มั่วแต่รอให้อาการแสดงออกมาโรคก็ลุกลามไปมากแล้ว การตรวจสุขภาพประจำปีจึงเป็นการค้นหาความผิดปกติที่เรายังไม่รู้ตัวหรือยังไม่มีอาการให้เห็น เป็นการค้นหาปัจจัยเสี่ยงและความเสื่อมของร่างกายที่แฝงอยู่เพื่อการป้องกันและรักษาอย่างทันท่วงที
เริ่มตรวจสุขภาพได้ตั้งแต่เด็ก
การตรวจสุขภาพประจำปี ไม่ต้องรอให้สูงอายุ เพราะสามารถตรวจได้ตั้งแต่วัยเด็ก การตรวจแต่ละวัยก็จะมีโปรแกรมการตรวจที่เหมาะสมกับช่วงวัย เช่น ในวัยเด็ก ก็จะตรวจดูการเจริญเติบโตและพัฒนาการในทุกๆ ด้านว่าเหมาะสมกับวัยหรือมีความผิดปกติใดหรือไม่ รวมถึงการให้วัคซีนป้องกันโรคต่างๆ เมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่นหรือวัยเจริญพันธุ์ก็จะมีการตรวจเฉพาะทางเพิ่มขึ้น เช่น โรคทางนรีเวช สุขภาพหัวใจ เมื่อถึงคราวมีครอบครัวก็อาจจะตรวจเพื่อเตรียมความพร้อมในการมีบุตร หรือดูความเสี่ยงโรคทางพันธุกรรมต่างๆ และเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ การตรวจสุขภาพก็จะเน้นเรื่องของความเสื่อมของร่างกาย รวมถึงการเสริมสร้างสุขภาพความแข็งแรง เพื่อป้องกันการเกิดโรคและอุบัติเหตุจากการที่อวัยวะต่างๆ เสื่อมสมรรถภาพลงไป
การซักประวัติคือจุดสำคัญ
หลายคนมักเข้าใจผิดว่าการตรวจสุขภาพ คือการค้นหาโรคด้วยการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ หรือการเอกซเรย์ต่างๆ เพื่อมุ่งเน้นไปในการรักษาโรคเท่านั้น แท้จริงแล้วการตรวจสุขภาพที่ดีจะเริ่มจากการให้ความสำคัญกับข้อมูลประวัติคนไข้ การที่แพทย์สอบถามข้อมูลต่างๆ ก็เพื่อให้รู้ถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต ที่ นับเป็นส่วนสำคัญในการวินิจฉัยว่าคนๆ นั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคใดเป็นพิเศษหรือไม่ และเมื่อทำการตรวจร่างกายและทราบผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการแล้ว แพทย์จะใช้ข้อมูลทั้งหมดนำมาวินิจฉัยความเสี่ยงหรือวิเคราะห์โรคที่เกิดขึ้น ผู้เข้ารับการตรวจควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการเข้ารับการรักษา หรือหันกลับมาใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ
ตรวจสุขภาพเบื้องต้น…ต้องตรวจอะไรบ้าง?
การตรวจสุขภาพประจำปี ทำได้ทั้งแต่การตรวจร่างกาย อวัยวะสำคัญๆ ทั่วไป รวมไปถึงการตรวจเพิ่มเติมเพื่อดูว่ามีความผิดปกติอื่นใดเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งมีรายละเอียดที่แตกต่างกันมากมาย ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการตรวจทั่วๆ ไป ดังนี้
สำหรับผู้หญิงควรเพิ่มการตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจภายใน และเพิ่มการตรวจมะเร็งเต้านมด้วย ซึ่งในผู้ชายจะเพิ่มการตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากจากการเจาะเลือด และการตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งในตับและลำไส้ด้วยก็จะครอบคลุมมากขึ้น
ควรตรวจสุขภาพบ่อยแค่ไหน ?
ควรเข้ารับการตรวจเป็นประจำทุกปีอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง ในกรณีที่คนไข้มีความเสี่ยงหรือมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจต้องเฝ้าระวัง เช่น โรคที่ติดต่อทางพันธุกรรม เบาหวาน ไขมันในเลือดที่จะต้องเฝ้าระวัง ก็ควรตรวจถี่ขึ้นตามคำแนะนำของแพทย์
แค่ดูแลตัวเอง…ก็มีสุขภาพดีไม่ยาก
เพราะการตรวจสุขภาพโดยแพทย์เรามักจะทำกันแค่ปีละครั้ง แต่เราสามารถตรวจสุขภาพด้วยตนเองได้ ด้วยการสังเกตพฤติกรรมของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการกินว่า... กินของหวาน ของทอด ของเค็มมากเกินไปหรือไม่ มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างผิดปกติไหม รู้สึกอ่อนเพลีย ป่วยเล็กๆ น้อยๆ บ่อยเกินไปหรือเปล่า ได้ออกกำลังกายบ้างไหม พักผ่อนนอนหลับดีหรือไม่ มีความเครียดมากไปไหม การสังเกตตัวเองแบบนี้จะช่วยให้เรารู้จักประเมิินสุขภาพตัวเองในเบื้องต้น เพราะการเอาใจใส่สุขภาพของตนเองก็เท่ากับเป็นการป้องกันโรคได้ส่วนหนึ่งซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการตรวจสุขภาพประจำปีเช่นกัน
ที่มา โรงพยาบาลเปาโล
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011
Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้