ลดเดินสายบุฟเฟต์ปิ้งย่าง เพื่อลดโอกาสเสี่ยงมะเร็งลำไส้!

วันที่ 24-01-2020 | อ่าน : 2498


     เบคอนกรอบๆ เนื้อแดงหมักนุ่มละมุนลิ้น... ที่กำลังจะสุกบนเตาปิ้งย่าง น่าจะเป็นมื้อสุขสันต์ของสายเนื้อเลิฟเว่อร์หลายๆ คน แต่ในทุกๆ คำที่คุณกินเข้าไปนั้น รู้หรือไม่ว่า อาจซ่อนเร้นไปด้วย “ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่” ในอนาคต แล้วเพราะอะไรที่ทำให้เมนูสุดโปรดของใครหลายคนถึงกลายเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งได้ นี่คือเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่คนรักปิ้งย่างควรรู้!!

“บุฟเฟ่ต์ปิ้งย่าง” อาหารยอดฮิต...ที่แฝงไว้ด้วยสารก่อมะเร็ง
     เราเคยได้ยินกันบ่อยๆ ใช่ไหม? ว่ากินเนื้อสัตว์ไหม้เกรียมจะทำให้เป็นมะเร็ง! นั่นก็เป็นเพราะ... อาหารปิ้งย่างเป็นอาหารที่ปรุงสุกโดยถูกความร้อนสัมผัสโดยตรง เมื่อไขมันในเนื้อสัตว์หยดลงไปในเตาแล้วโดนถ่าน จะเกิดเป็นควันที่มีพิษซึ่งคือสารก่อมะเร็ง อย่าง สารพีเอเอช (PAH) ลอยกลับขึ้นมาจับบนเนื้อสัตว์ที่ปิ้งอยู่บนเตา หากเรากินอาหารที่ถูกปรุงสุกด้วยวิธีนี้บ่อยๆ ก็จะเกิดการสะสมในร่างกายและกลายเป็นมะเร็งได้ โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้และมะเร็งกระเพาะอาหาร

รู้ไหม? สารพีเอเอช... ยังพบได้จากควันรถยนต์และควันบุหรี่
     ความน่ากลัวของสารก่อมะเร็ง อย่าง สารพีเอเอช ไม่ใช่แค่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งทางเดินอาหาร แต่มีการพบสารพีเอเอชนี้จากการเผาไหม้ในเครื่องยนต์ บุหรี่ หรือเตาเผาเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งหากเราสูดดมควันที่มีสารพีเอเอชต่อเนื่องไปนานๆ การสะสมในร่างกายนี้ก็จะก่อให้เกิด “มะเร็งปอด” หรือหากสัมผัสควันทางผิวหนังบ่อยๆ ก็จะก่อให้เกิดโอกาสเสี่ยง “มะเร็งผิวหนัง” ได้ นับว่าพีเอเอชเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่งที่พบได้ง่ายในชีวิตประจำวัน... และมีความน่ากลัวไม่น้อยเลยทีเดียว!

ไม่ใช่แค่สารพีเอเอช แต่เป็นเหตุผลว่าทำไม...ควรลดบุฟเฟต์ปิ้งย่าง
     สารพีเอเอช ไม่ใช่แค่เป็นภัยเงียบแฝงมากับเนื้อสัตว์ปิ้งย่าง แต่สารไนเตรต-ไนไตรต์ ที่ใช้ในการถนอมอาหารสำหรับอาหารแปรรูป อย่าง ไส้กรอก แฮม เบคอน เมื่อทำปฏิกิริยากับสารประกอบเอมีนในอาหาร และสภาวะความเป็นกรดในกระเพาะ ก็จะทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง อย่าง ไนโตรซามีน ได้เหมือนกัน รวมไปถึงพฤติกรรมการชอบกินปิ้งย่างบ่อยๆ ยังทำให้การบริโภคเนื้อแดงมากกว่า 500 กรัมต่อสัปดาห์ ซึ่งเกินปริมาณการบริโภคที่เหมาะสมอีกด้วย

ไม่ใช่แค่กินปิ้งย่าง แต่พฤติกรรมเหล่านี้...ก็เพิ่มโอกาสเสี่ยงมะเร็งได้
     นอกจากสารก่อมะเร็งที่ซ่อนอยู่ในความอร่อยแล้ว การกินบุฟเฟต์เป็นประจำยังเพิ่มโอกาสที่น้ำหนักตัวจะเกินมาตรฐาน นำไปสู่ “โรคอ้วน” และหากคุณไม่ชอบออกกำลังกาย ชอบดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ สูบบุหรี่จัด พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่เพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ได้เหมือนกัน

รู้ให้ทัน! สัญญาณแบบนี้นี่แหละ อาการเตือน “มะเร็งลำไส้”

  • ท้องเสีย ท้องผูก ลักษณะการขับถ่ายเปลี่ยนไปและเป็นติดต่อกันนานหลายสัปดาห์
  • อุจจาระปนเลือดสีสดหรือเลือดสีคล้ำมาก
  • ปวดแสบร้อน อาหารไม่ย่อย ท้องอืด เหมือนมีแก๊สในกระเพาะ
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • การมีภาวะซีดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • การคลำพบก้อนในท้อง

     แม้ว่าการกินของอร่อยจะช่วยเยียวยาความเหนื่อยหน่ายในจิตใจให้สดชื่นขึ้นได้ แต่หากส่งผลร้ายต่อร่างกาย... ก็ควร “ลด” พฤติกรรมเหล่านี้ลง และหากสังเกตว่าตัวเองมีสัญญาณผิดปกติก็อย่านิ่งนอนใจ ควรมาพบแพทย์เพื่อส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหาร เพราะมะเร็งลำไส้... ยิ่งพบเร็ว รักษาไว ผลการรักษาก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพ


ข้อมูลจาก ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลพญาไท

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

อาหารผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้