วันที่ 03-12-2019 | อ่าน : 2282
ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ก็เคยบอกว่าอาหารแปรรูปไม่อันตราย ก่อนจะมีผลวิจัยใหม่ว่าเป็นสารก่อมะเร็ง
หลายคนอาจจะเคยสับสนทำตัวไม่ถูกกับผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายๆ ชิ้นที่ให้ผลกลับไปกลับมา อาทิ ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยระบุว่ามนุษย์ไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อแดงหรืออาหารที่ผ่านการแปรรูป แต่ต่อมากลับมางานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง แนะนำว่าไม่ควรรับประทานทั้งเนื้อแดงหรืออาหารแปรรูป เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็ง
สาเหตุของความสับสนนี้มาจากความยากของการวิจัย เนื่องจากวิทยาศาสตร์ว่าด้วยโภชนาการทางอาหารมีความไม่สมบูรณ์แบบอยู่ในตัวมันเอง การศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างการรับประทานอาหารกับสุขภาพอาจจะไม่ได้ข้อมูลที่แน่นอน เนื่องจากมนุษย์แต่ละคนล้วนมีพฤติกรรมและพื้นฐานสุขภาพแตกต่างกัน การวิจัยจึงทำได้ที่ที่สุดเพียงเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุดเท่านั้น ดังนั้นผลการวิจัยแต่ละครั้งจึงอาจไม่ตรงกัน
เช่นเดียวกับสารพาราควอตที่กำลังเป็นที่ถกเถียงในบ้านเราว่าตกลงแล้วสารเคมีชนิดนี้มีประโยชน์หรือมีโทษมากกว่ากัน และสมควรแบนหรือไม่ ฝั่งนักวิชาการบางรายบอกว่าไม่เป็นอันตราย ขณะที่ฝั่งของแพทย์บอกว่าอันตรายมากทั้งตกค้างในดินและร่างกายมนุษย์
สารเคมีทางการเกษตรอันตรายทั้ง 3 ตัว ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต จะอยู่หรือไป ภายใต้การพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งกำลังถูกสังคมจับตาว่าอย่างใกล้ชิดว่า จะแบนเพื่อสุขภาพของคนไทยหรือไม่ เพราะมีการยื้อเวลามานานกว่า 2 ปีแล้ว
สารเคมี 3 ชนิดนี้มีอันตรายอย่างไร ก่อให้เกิดผลกระทบอะไรบ้าง และมีประเทศอะไรบ้างที่แบนสารเหล่านี้
1.พาราควอต (Paraquat) สารฆ่าวัชพืช มีความเป็นพิษสูง เนื่องจากมีฤทธิ์กัดกร่อนมาก ไม่มียาต้านพิษ โดยข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี พบว่า อัตราตายของผู้ป่วยจากสารพาราควอตในประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 10.2 ถือว่ามีความเสี่ยงเกินกว่าจะนำมาใช้อย่างปลอดภัย
โดยอันตรายของพาราควอต สามารถรับได้ผ่านทั้งการกิน การสัมผัสทางผิวหนัง ซึ่งเป็นช่องทางหลัก ส่วนทางเดินหายใจเป็นช่องทางรอง การกินเข้าไปร่างกายจะดูดซึมสัสมความเข้มข้นมากที่ตับและไต โดยความเข้มขนในกระแสเลือดจะคงที่หลังกินประมาณ 30 ชั่วโมง และความเข้มข้นของสารพาราควอตในปอดจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ทำให้ปอดเป็นอวัยวะหลักที่ได้รับผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยถุงลมปอดจะถูกทำลาย สุดท้ายเกิดการทำลายเนื้อปอดจนเกิดพังผืดในปอด ทำให้ระบบหายใจล้มเหลวและเสียชีวิต
นอกจากนี้ การสัมผัสทางผิวหนังในระดับต่ำ อาจมีการสะสมในกล้ามเนื้อ และค่อยๆ ปล่อยออกมาสู่กระแสเลือด ขณะเดียวกัน พาราควอตยังมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน เนื่องจากพาราควอตทำให้เกิดการสร้าง metallothionein เพิ่มขึ้น ทำให้เซลล์ระบบภูมิคุ้มกันทำหน้าที่ได้น้อยลง
สำหรับอาการหลังรับสารพาราควอต ขึ้นกับช่องทางได้รับ หากรับทางการหายใจ ทำให้ระคายเคืองเยื่อบุโพรงจมูก เลือดกำเดาไหล หากรับผ่านการกิน ทำให้มีแผลไหม้ในช่องปาก ระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ความอยากอาหารลดลง ปวดท้อง คอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ปวดหัว มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย หายใจสั้นๆ หัวใจเต้นเร็ว
โดยขณะนี้มี 56 ประเทศที่ประกาศห้ามใช้แล้ว เช่น อังกฤษ สวีเดน สเปน แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งมาเลเซีย กัมพูชา ลาว เวียดนาม มีแค่ไทยที่ยังไม่ยกเลิกใช้ ส่วนประเทศที่จำกัดการใช้มี 7 ประเทศ
2.คลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos) เป้นสารฆ่าแมลงกลุ่ม organophsphorus มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว กลิ่นแรงคล้ายกระเทียม โดยคลอร์ไพริฟอส ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท โดยจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ทำหน้าที่สลายสารสื่อประสาทอะซิคิลโคลีน ทำให้สารสื่อประสาทดังกล่าวเกิดอาการคั่งและส่งสัญญาณประสาทมากขึ้น ระบบประสาททำงานมากขึ้น เป็นพิษต่อระบบประสาท
ผลกระทบของคลอร์ไพริฟอส คือ ทำให้ไอคิวลดลง สูญเสียความจำในการทำงาน ขาดสมาธิ คล้ายโรคสมาธิสั้น ออทิสติก รบกวนการทำงานของไทรอยด์ฮอร์โมน ผลต่อระบบสืบพันธุ์ ระบบเมตาบอลิก ระบบประสาทและพาร์กินสัน และมีการศึกษาพบว่า ในแม่ที่สัมผัสสารนี้ระหว่างตั้งครรภ์ พบว่ามีผลต่อพัฒนาการทางระบบประสาทของเด็กด้วย
โดยประเทศที่ห้ามใช้คลอร์ไพริฟอส เช่น สหรัฐอเมริกา แอฟริกาใต้ สิงคโปร์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เยอรมนี สวีเดน เป็นต้น
3.ไกลโฟเซต (Glyphosate) ยาฆ่าวัชพืชกลุ่ม Phosphonic acid ซึ่งสถาบันวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) ภายใต้องค์การอนามัยโลก กำหนดให้เป็นสารก่อมะเร็ง ขณะที่ศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี พบว่า อัตราการตายของผู้ป่วยในไทยอยู่ที่ร้อยละ 3 โดยพิษหลักมาจากสารส่วนประกอบที่เรียกว่า สาร Polyoxyethylene มีผลทำให้ระคายเคือง รบกวนการทำงานของผนังเซลล์ ทำให้การตอบสนองของอวัยวะต่างๆ ช้าลง และรบกวนการทำงานของยีนบางตัว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและทำให้เซลล์ตายตามมา โดยความเป็นพิษจะเกิดขึ้นกับระบบไหลเวียนโลหิตเป็นหลัก
นอกจากนี้ ไกลโฟเซตยังมีข้อมูลว่า เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โดยศาลในรัฐแคลิฟอร์เนีย ตัดสินให้บริษัทผู้ผลิตต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ใช้และต่อมาพบว่าป่วยด้วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ขณะที่สมาคมต่อมไร้ท่อสหรัฐอเมริกา ระบุว่า เป็นสารที่รบกวนการทำงนของระบบต่อมไร้ท่อ มีงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวศรีลังกาพบว่าทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง ส่วนการศึกษาของ ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล พบไกลโฟเซตในซีรัมของแม่และสะดือทารกเด็กแรกเกิด 46.3-50.7% ของจำนวนตัวอย่าง
ที่สำคัญ ไกลโฟเซตอาจตกค้างมากกว่า 1 ปี ซึ่ง ม.นเรศวร ศึกษาและตรวจพบที่ จ.น่าน โดยพบในดิน น้ำดื่มบรรจุขวด และในน้ำประปา แสดงถึงการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหาร โดยประเทศที่มีการห้ามใช้แล้ว เช่น ออสเตรีย ฝรั่งเศส โอมาน ซาอุดิอาระเบีย เวียดนามม เป็นต้น
หากในอนาคตไทยจะแบนพาราควอตและสารกำจัดศัตรูพืชอย่างอื่น คงต้องชั่งน้ำหนักผลดีผลเสีย รวมทั้งออกมาตรการป้องกันการลักลอบจำหน่ายพาราควอตในตลาดมืดให้ครบคลุม มิเช่นนั้นประชาชนคนไทยก็คงต้องรับผลกระทบจากสารเคมีเหล่านี้ต่อไป
ข้อมูลจาก posttody, mgronline
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011
Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้