วันที่ 18-09-2019 | อ่าน : 3805
การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย
การดูแลแบบประคับประคอง คือ การมุ่งเน้นการบรรเทาความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน ปัองกันภาวะแทรกซ้อน และส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เน้นสภาพจิตใจ สังคม อารมณ์ และจิตวิญญาณของผู้ป่วยและญาติ การดูแลแบบประคับประคองสามารถกระทำได้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกระยะ บทบาทที่สำคัญจะอยู่ช่วงสุดท้ายของชีวิตผู้ป่วย ผู้ป่วยและครอบครัวควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจร่วมกับทีมแพทย์เพื่อวางเป้าหมายการรักษาไปในทิศทางเดียวกัน
ความต้องการครั้งสุดท้าย (The living will) ควรมีการพูดคุยกันในครอบครัวและเตรียมเอกสารระบุความต้องการของผู้ป่วย ที่เกี่ยวข้องกับความต้องการด้านการแพทย์ในขณะที่มีสติสัมปัชชัญญะสมบูรณ์ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับตัดสินใจวางแผนการรักษา โดยเฉพาะในช่วงใกล้เสียชีวิต ซึ่งไม่มีความสามารถพอที่จะตัดสินใจเองได้
ใช้หัตถการเพื่อยื้อชีวิต ในกรณีที่ต้องการชีวิตอยู่ เช่น ปั๊มหัวใจ ใส่ท่อช่วยหายใจ ผ่าตัดเยื่อหุ้มปอด หัวใจ เจาะท้อง เพื่อระบายน้ำ ผ่าตัดเส้นเลือกเพื่อวัดความดันโลหิต vs ยอมรับการเสียชีวิตตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องยื้อเวลา
ควรจัดทำเอกสานฝากไว้กับญาติหรือเพื่อนผู้ใกล้ชิด เพื่อให้แพทย์ยึดเป็นแนวทางในการรักษาหากผู้ป่วยไม่สามารถสื่อสารได้ หากปราศจากเอกสารฉบับนี้ แพทย์ผู้รักษาจะขอความเห็นจากสมาชิกในครอบครัวใกล้ชิด
บทบาทของสมาชิกครอบครัวและผู้ดูแลผู้ป่วย
บทบาทสำหรับตัวผู้ป่วยเอง บทบาทหน้าที่ของตนเองก็จะเปลี่ยนแปลงไป เมื่อป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย ไม่สามารถทำงานหรือช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา
บทบาทหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ต้องลาออกจากงานประจำมาดูแลผู้ป่วยต้องรับบทบาทหัวหน้าครอบครัวหรือหารายได้เข้าครอบครัว ซึ่งทำให้เกิด "ปฏิกิริยาต่อการสูญเสีย" ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของอารมณ์ซึมเศร้า หรือความตึงเครียด ดังนั้นจึงควรเข้าใจความเปลี่ยนแปลงนี้ พร้อมทั้งพยายามช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ผู้ป่วยและครอบครัวที่ประสบปัญหา
บทบาทสำหรับผู้รับหน้าที่ดูแลผู้ป่วย นอกจากต้องเผชิญกับความเหนื่อยยากในการดูแลผู้ป่วยแล้วอย่าลืมว่าผู้ดูแลก็ต้องมีภาระในการดูแลสุขภาพของตนเองและสมาชิกในครอบครัวอีกด้วย ดังนั้นผู้ดูแลควรมีเวลาผ่อนคลายจากการดูแลผู้ป่วยด้วยเช่นกัน
บทบาทของศาสนา การดูแลทางด้านจิตวิญญาณ ศาสนา เป็นแหล่งพึ่งพิงทางจิตใจ จิตวิญญาณ โรงพยาบาลสนับสนุนให้ผู้ทำพิธีทางศาสนามีส่วนในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งโดยปรึกษากับทีมสุขภาพ ที่อยู่หน้างาน
อาการที่อาจเปลี่ยนไปในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต
อุณหภูมิร่างกาย เมื่อการไหลเวียนโลหิตลดลง มือและเท้าของผู้ป่วยจะเริ่มเย็นขึ้น สีคล้ำหรือซีดเมื่อเวลาผ่านไปจะเริ่มกิดขึ้นที่ใบหน้าควรให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายอย่างต่อเนื่อง
การรับรู้ สติสัมปชัญญะ ผู้ป่วยหลายรายจะมีอาการสับสนระดับการรู้สติลดน้อยลง อย่างไรก็ตามผู้ป่วยส่วนใหญ่รับรู้ด้วยการฟังหรือการสัมผัส แต่ไม่สามารถตอบสนอง ครอบครัวและผู้ใกล้ชิดควรให้เวลากับผู้ป่วยมากขึ้น คอยย้ำเตือนกับผู้ป่วยเสมอว่ายังมีเราอยู่เคียงข้าง แสดงความรักความห่วงใยผ่านทางคำพูดและการสัมผัส การใช้คำพูดน้ำเสียงที่แสดงความเชื่อมั่นจะช่วยลดความหวาดกลัวในตัวผู้ป่วยได้
การรับอาหาร ผู้ป่วยมักมีความอยากอาหารลดลงร่วมกับสามารถรับอาหารได้น้อยลง ไม่จำเป็นต้องให้อาหารแข็งเว้นแต่เป็นความประสงค์ของผู้ป่วย อาจให้ก้อน้ำแข็ง น้ำเปล่า หรือน้ำผลไม้หากผู้ป่วยร้องขอ แต่ควรหยุดเมื่อมีอาการกลืนลำบากหรือสำลัก
การหายใจ อาจสังเกตว่าผู้ป่วยมีลักษณะการหายใจในรูปแบบที่แปลก อาจมีเสียงครึดคราดจากเสมหะบาง ท่านอนหงายหรือท่าตะแคงเป็นท่าทางที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยในยามนี้ แต่อาจจะปรับเป็นท่านั่งได้บ้าง โดยยึดความรู้สึกผ่อนคลายและความสบายของผู้ป่วยเป็นสำคัญ สำหรับออกซิเจนนั้นควรให้แบบทีละน้อยๆ อาจช่วยลดความเหนียวข้นของเสมหะด้วยการเพิ่มความชุ่มชื้นภายในห้อง ให้ผู้ป่วยดูดน้ำ อมน้ำแข็ง กรณีผู้ป่วยยังสามารถกลืนได้หรือเปลี่ยนท่าทางเพื่อระบายเสมหะ
ความผิดปกติทางระบบประสาท อาจมีการเคลื่นไหวแบบแปลกๆ ของแขน ขา หรือบริเวณใบหน้าบางครั้งอาจจะเกิดอาการควบคุมการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ไม่ได้ ผู้ดูแลควรใส่ผ้าอ้อมให้ผู้ป่วย หรือในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถปัสสาวะได้ด้วยตนเองอาจต้องใช้สายสวนช่วย
เมื่อผู้ป่วยหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้น จะพบผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ลูกตาหยุดนิ่งและรูม่านตาขยาย บ่งบอกว่าผู้ป่วยได้เสียชีวิตแล้ว หากเกิดเหตุการณ์นี้ในที่พักอาศัยของผู้ป่วยเองควรเรียกหาความช่วยเหลือ หรือคำแนะนำจากบุคคลที่เหมาะสมเช่นแพทย์หรือบุคลากรในที่มผู้ดูแล
ผู้ป่วยระยะสุดท้ายจำนวนไม่น้อยที่เลือกจะรักษาตัวอยู่ที่บ้านพักของตนจนกระทั่งเสียชีวิตไปเพราะผู้ป่วยมักรู้สึกสุขสบายกว่าหากอยู่ในที่ที่ตนคุ้นเคยห้อมล้อมด้วยญาติมิตรผู้เป็นที่รัก
ข้อมูลจาก รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011
Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้