รังสีรักษาในโรคที่ไม่ใช่มะเร็ง

วันที่ 12-09-2019 | อ่าน : 2087


     บทบาทของการฉายแสงไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงการรักษาโรคมะเร็งเท่านั้น ในโรคบางประเภทการฉายแสงก็สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ โดยอาศัยการเกิดปฏิกริยาต่อเนื้อเยื่อเป้าหมายดังนี้

1.ผลต่อเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน โดยหวังผลต่อเซลล์ที่มีชื่อว่า ไฟโบรบลาสต์(Fibroblast) ซึ่งเซลล์เหล่านี้จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นในขณะที่มีการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ การฉายแสงมีผลทำให้เซลล์เหล่านี้ลดการเพิ่มจำนวนลง จึงมีประโยชน์ในการรักษาภาวะ ที่แผลเป็นหนาตัวผิดปกติ หรือที่เรียกว่า คีลอยด์ (Keloids) นั่นเอง

2.ผลต่อระบบหลอดเลือด โดยถ้าให้รังสีปริมาณน้อยๆ จะเป็นการยับยั้งการสร้างสารที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ และการแบ่งตัวของเซลล์ ซึ่งสามารถนำมาใช้รักษาโรค Heterotopic ossification ได้ แต่ถ้าให้ปริมาณรังสีสูงจะสามารถทำลายเยื่อบุ หลอดเลือดได้ทำให้นำมารักษาภาวะหลอดเลือดผิดปกติ เช่น Arteriovenous malformation หรือ Veterbral hemangioma เป็นต้น

3.ผลต่อปฏิกริยาการอักเสบ โดยอาศัยการใช้รังสีปริมาณน้อยดังที่ได้กล่าวข้างต้น

4.ผลต่ออาการระงับปวด ในกรณีที่เนื้อเยื่อของร่างกายเกิดความเสื่อม สามารถทำให้เกิดอาการปวดเรื้อรังได้ มีรายงานว่าการฉายแสงสามารถช่วยลดอาการปวดเหล่านี้ได้เช่นกัน

     ดังนั้นก่อนที่จะรักษาโรคที่ไม่ใช่มะเร็งโดยใช้รังสีรักษานั้นจำเป็นที่จะต้องพิจารณาเหตุผล และเป้าหมายของการรักษาว่าเหมาะสมหรือสามารถทำได้หรือไม่ รวมทั้งต้องอธิบายโอกาสของการ ตอบสนองของการรักษา และผลข้างเคียงของการ ฉายแสงในระยะยาว ให้ผู้ป่วยรับทราบ ก่อนที่จะทำการรักษาใดๆ ด้วย จะขอยกตัวอย่างของโรคที่ไม่ใช่มะเร็งที่สามารถใช้ รังสีรักษาได้บางโรค

เนื้องอกของเยื่อหุ้มสมอง (Meningioma)

     การรักษาหลักของโรคนี้คือ การผ่าตัดออกให้หมด แต่ในกรณีที่ผ่าตัดแล้วยังเหลือก้อนอยู่ ตัวโรคกลับเป็นซ้ำหลังจากผ่าตัดไม่สามารถผ่าตัดออกได้เนื่องจากก้อนติดกับอวัยวะสำคัญ เป็นเนื้องอกที่มีลักษณะเซลล์รุนแรง หรือผู้ป่วยไม่แข็งแรง พอที่จะผ่าตัดการฉายแสงจะมีประโยชน์ในกรณีเหล่านี้ โดยฉายแสง 54-60 เกรย์ (Gy) ใน 27-30 ครั้ง

ภาวะตาโปนของฮอร์โมนธัยรอยด์ทำงานมากเกินปกติ (Grave's opthalmophathy)

ภาวะนี้เกิดจากการอักเสบเรื้อรังที่ก่อให้เกิดผังผืดบริเวณกล้ามเนื้อและช่องว่งรอบๆ ลูกตา ซึ่งเกิดจากภาวะไทรอยด์ทำงานมากเกินปกติ เมื่อเป็นนานๆ จะทำให้ตาโปนและเจ็บได้ การฉายแสงมีจุดประสงค์เพื่อยับยั้งการอักเสบและผังผืด โดยส่วนใหญ่ฉายแสง 20 Gy ใน 10 ครั้ง ส่วนผลของการรักษานั้นต้องใช้เวลาหลายเดือนจนถึงปีจึงจะเห็นผลชัดเจน

ภาวะที่แผลเป็นหนาตัวผิดปกติ (Keloids and hypertrophic scars)

     Keloids แตกต่างจาก hypertrophic scars ตรงที่ขอบเขตที่ไม่ชัดเจนและขนาดใหญ่ ร่วมกับมีปฏิกริยาการอักเสบและอาการปวดร่วมด้วยได้ พบได้ที่ผิวหนังมีความตึงมาก เช่นหน้าอกตรงกลาง หรือติ่งหู เป็นต้น สาเหตุยังไม่ทราบชัดเจน การรักษาสามารถทำได้โดยการผ่าตัด ร่วมกับการใช้แรงกดที่แผล การฉีดสเตียรอยด์ ส่วนการรักษาด้วยการฉายแสงนั้น มีข้อบ่งชี้ในกรณีที่เป็นซ้ำบ่อยๆ หรือ แผลในตำแหน่งที่มีโอกาสเป็นสูง เช่น ที่หน้าอก บริเวณที่ผิวตึงมาก เป็นต้น โดยกรณีที่ทำ การผ่าตัดแล้ว ควรให้รังสีหลังผ่าภายใน 24 ชั่วโมง อาศัยรังสีที่มีการทะลุทะลวงต่ำที่แผลและบริเวณใกล้เคียงห่างจากแผล 1 เซนติเมตร ปริมาณรังสี 12-20 Gy ใน 3-4 ครั้ง หรือ 7.5-10 Gy ใน 1 ครั้ง ซึ่งได้ผลดีมากในการควบคุมภาวะนี้ ในกรณีที่เป็น มานานแล้วควรให้รังสีภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่เกิดแผล

 


ข้อมูลจาก สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
ความรู้มะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้