ฮิปโปแคมปัสและนมเปรี้ยว กับ อัลไซเมอร์

วันที่ 09-09-2019 | อ่าน : 1368


โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease)
     คือหนึ่งในกลุ่มโรคภาวะสมองเสื่อม (Dementia)  ซึ่งพบได้บ่อยที่สุดคิดเป็น 60-80% ในกลุ่มโรคภาวะสมองเสื่อมทั้งหมด โดยผู้ที่เป็นโรคนี้ สมองจะมีการสะสมคราบโปรตีนที่ชื่อว่า  เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid) ส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลง รวมถึงทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองเสียหาย เพราะพบว่ามีการลดลงของสารสื่อประสาทที่ส่งผลโดยตรงกับความทรงจำ ที่ชื่อว่า อะซีติลโคลีน (acetylcholine)

     การสะสมของคราบโปรตีน เบต้า-อะไมลอยด์ เริ่มจากสมองส่วน ฮิปโปแคมปัส (hippocampus) โดยสมองส่วนนี้ จะช่วยทำให้ความจำระยะสั้นกลายเป็นความจำระยะยาว (ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการเรียนรู้ข้อมูลใหม่ ๆ) เป็นกระบวนการที่เรียกว่า “การทำความจำให้มั่นคง” (consolidation) แม้ว่า ฮิปโปแคมปัส จะไม่ใช่ส่วนที่เก็บข้อมูล แต่ถ้าสมองส่วนนี้ฝ่อหรือเสียหาย ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาเรื่องความจำโดยเฉพาะความจำระยะสั้น เช่น ลืมไปว่าเมื่อ 10-15 นาทีก่อนหน้าได้ทำอะไรหรือพูดกับใครไป (ลืมสนิทและนึกไม่ออก) จากนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นจะแพร่กระจายไปสู่สมองส่วนอื่นๆ และส่งผลต่อการเรียนรู้ ความรู้สึกนึกคิด ภาษา และพฤติกรรม ส่งผลให้เริ่มไม่สามารถดูแลตัวเองได้ จนเป็นภาระของคนในครอบครัว

     อย่างไรก็ตามโรคอัลไซเมอร์คือหนึ่งในโรคที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของพันธุกรรม โดยมีปัจจัยหลายปัจจัยเข้ามาส่งเสริม (Complex Disorders หรือ Multifactorial Inheritance)  เช่น อายุที่เพิ่มขึ้น  การมีรหัสพันธุกรรมที่ผิดปกติบางอย่างแต่กำเนิด โรคเรื้อรังที่เป็นอยู่ (เช่น โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคซึมเศร้าหรือโรคเครียดเรื้อรัง) ภาวะบางอย่างของร่างกายหรือพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ได้รับการบาดเจ็บที่ศีรษะหรือสมอง สูบบุหรี่จัด การติดเชื้อในสมอง

     ปัจจุบันมีการตรวจหาการกลายพันธุ์ (Mutation) ของยีนที่เกี่ยวข้องกับอัลไซเมอร์ เช่น  Apo E , APP, PSEN1 และ PSEN2  เป็นกลุ่มยีนที่พบได้ในผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งการตรวจยีนหาความเสี่ยงนี้ ถือเป็นอีกแนวทางที่จะช่วยให้เราระมัดระวังการใช้ชีวิตให้รอบคอบ เพราะถ้าหากผลการตรวจออกมาพบความเสี่ยง นั่นหมายถึง เราเสียเปรียบกว่าคนทั่วไปตั้งแต่กำเนิด เพราะโอกาสเกิดจะมากกว่าคนอื่นๆ  การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างให้ดีกว่าเดิมจะช่วยชะลอไม่ให้เผชิญโรคนี้ก่อนวัยชรา (ทดสอบความเสี่ยงเบื้องต้นจากแบบประเมิน)

นมเปรี้ยวเกี่ยวอะไรด้วย???
     ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคอัลไซเมอร์ ให้หายขาย ถ้าพบว่าเป็นโรคไปแล้ว สามารถทำได้เพียงแค่ชะลอไม่ให้โรคดำเนินไปในทางที่แย่ลงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่มีทีมนักวิจัยและพัฒนายาระดับโลก กำลังคิดค้นยาตัวใหม่ที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดตะกอนหรือคราบโปรตีนเบต้า-อะไมลอยด์ ในสมอง โดยใช้แนวคิดการทำวิจัยมาจาก กลไกบางอย่างของจุลินทรีย์ในนมเปรี้ยว ที่ชื่อ สเตรปโตค็อกคัส เทอร์โมฟิลัส (Streptococcus Thermophilus) ที่มีระบบปกป้องภูมิคุ้มกันตัวเอง โดยสามารถแก้ไขยีนในตัวเองเมื่อเกิดความผิดปกติหรือติดเชื้อไวรัส โดยเราเรียกชื่อระบบนั้นว่า ระบบ CRISPR/Cas9 (คริสเปอร์-แคสไนน์)

     จากการค้นพบระบบ CRISPR/Cas9 นี้ร่วมกับองค์ความรู้การสังเคราะห์สายดีเอ็นเอ ทำให้นักวิจัยสามารถดัดแปลงลำดับของสายดีเอ็นเอในเซลล์สิ่งมีชีวิตตามที่ต้องการได้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่ม การลด การเปลี่ยนลำดับรหัสพันธุกรรม รวมถึงการพัฒนายาอนุภาคเล็กระดับนาโนที่สามารถผ่านเยื่อกั้นเส้นเลือดฝอยและสมอง (Blood Brain Barrier) ไปช่วยฟื้นฟูเซลล์หรือยีนที่ผิดปกติในสมอง แม้จะยังไม่ใช่ในอนาคตอันใกล้ แต่นับว่าเป็นข่าวที่ดี และไม่ใช่สำหรับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงโรคทางระบบภูมิคุ้มกันอื่นๆ โรคมะเร็ง โรคเอดส์ และโรคทางพันธุกรรมอื่นๆอีกด้วย

 

 

 

ข้อมูลจาก นพ. ไพศิษฐ์ ตระกูลก้องสมุท โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

อาหารผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้