มะเร็งระยะแพร่กระจายและการดูแลแบบประคับประคอง

วันที่ 04-09-2019 | อ่าน : 3600


การดูแลแบบประคับประคองคืออะไร?

     การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) หมายถึง การดูแลที่มุ่งเน้นในการบรรเทาความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน และปรับปรุงให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้รวมถึงการดูแลรักษาอาการต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งจากตัวโรคเอง  และ/หรืออาการข้างเคียงอื่นๆจากการรักษาโรคก็ได้  ดังนั้นการดูแลรักษาแบบประคับประคอง จึงมีผู้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า การดูแลตามอาการ (Supportive care) การดูแลแบบประคับประคองสามารถกระทำได้ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง ทุกระยะ ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่ได้รับยาเพื่อลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ระหว่างการได้รับยาเคมีบำบัด ก็ถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการดูแลแบบประคับประคอง  ในผู้ป่วยที่โรคมะเร็งอยู่ในระยะแพร่กระจาย  ทำให้มีข้อจำกัดในการรักษาเพื่อที่จะหายขาด  การดูแลแบบประคับประคองจัดเป็นแนวทางสำคัญในการดูแลผู้ป่วยและครอบครัว  เช่น  การบรรเทาความเจ็บปวด เป็นต้น  ถึงแม้ว่าการดูแลแบบประคับประคอง  จะสามารถกระทำได้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกระยะก็ตาม แต่บทบาทที่สำคัญแท้จริงแล้วนั้นมักจะอยู่ที่ช่วงปีสุดท้ายของชีวิตผู้ป่วยมะเร็ง
 
อาการสำคัญ ที่จำเป็นสำหรับการดูแลแบบประคับประคอง มีดังนี้
- อาการปวด
- อาการหายใจลำบาก
- อาการเบื่ออาหารและน้ำหนักลด
- อาการอ่อนเพลีย
- อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- อาการผิดปกติในการนอน
- อาการซึมเศร้าและวิตกกังวล
- อาการสับสน

การทำความเข้าใจต่อเป้าหมายของการรักษาโรคมะเร็ง
ในการรักษาโรคมะเร็ง ความเข้าใจต่อเป้าหมายของการรักษาเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับทั้งตัวผู้ป่วยและครอบครัว เป้าหมายในการรักษาโรค
มะเร็งนั้น มี 3 แนวทางหลัก คือ
- เป้าหมายเพื่อหายขาดจากโรค
- เป้าหมายเพื่อยืดชีวิต
- เป้าหมายเพื่อรักษาตามอาการ
 
     บางกรณี อาจมีความเข้าใจที่สับสน เพราะการรักษาบางอย่างสามารถกระทำได้ทั้งเพื่อให้หายขาดจากโรค หรือบางครั้งก็เพื่อแค่บรรเทาอาการก็ได้อย่างเช่น การฉายแสงสามารถให้การฉายรังสีเพื่อให้หายขาด หรือเพื่อบรรเทาอาการก็ได้ เป็นต้น ในอดีต อาจจะเคยได้ยินว่า เมื่อโรคลุกลามมากรักษาไม่หายขาด ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้อีก จึงสมควรหยุดการรักษาทุกอย่าง แต่ในปัจจุบัน แนวคิดนี้กำลังเปลี่ยนไป เพราะการรักษาหลายวิธี เช่น การฉายแสง การให้ยาเคมีบำบัด การผ่าตัด และอื่นๆ สามารถช่วยบรรเทาอาการไม่สุขสบายทั้งหลาย เช่น อาการปวด อาการไม่สบายท้องอาการคลื่นไส้อาเจียน อาการหายใจลำบาก ต่างๆเหล่านี้ให้ ผู้ป่วยทุกข์ทรมานลดน้อยลง

 

 

ข้อมูลจาก สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
ความรู้มะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้