ผู้ป่วยมะเร็ง กินได้แค่ปลา ผัก จริงหรือ?

วันที่ 30-08-2019 | อ่าน : 2706


     ภาวะทุพโภชนาการภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยมะเร็ง โดยความแรกขึ้นอยู่กับชนิดและภาวะของโรค โดยมีสาเหตุมาจากตัวโรคของมะเร็ง จะกระตุ้นให้มีการสร้างสารที่ก่อให้เกิดภาวะอักเสบ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการใช้พลังงานและการเผาผลาญสารอาหารต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะการเริ่มใช้พลังงาน เพิ่มการสลายโปรตีนจากกล้ามเนื้อ และเพิ่มการสลายไขมัน และทำให้ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งรู้สึกเบื่ออาหาร โรงมะเร็งบางชนิดมีผลทำให้กลืนอาหารลำบาก อืดแน่นท้อง ร่วมกับผลข้างเคียง จากการรักษาทั้งยาเคมีบำบัดและการผ่าตัด ภาวะทางจิตใจที่หดหู่ซึมเศร้า ตลอดจนพฤติกรรมความเชื่อในการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้อง ยิ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะทุพโภชนาการที่แย่ลง

     การเลือกรับประทานอาหาร ปริมาณ ชนิด และสัดส่วนที่ถูกต้องจึงมีความสำคัญช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร อีกทั้งทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาวะที่แข็งแรง สามารถลดอาการแทรกซ้อน จากการรักษาเช่น การติดเชื้อ แผลผ่าตัดแยก และระยะในการรักษาตัวในโรงพยาบาลที่นาน ตลอดจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีการศึกษาที่พบว่า การจำกัดอาหารจนทำให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารไม่เพียงพอนั้น ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการ จึงแนะนำรับประทานอาหารเท่ากับปริมาณของคนปกติ โปรตีนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของร่างกาย ช่วยทำให้ผู้ป่วยแข็งแรง ไม่อ่อนเพลีย และไม่ติดเชื้อง่าย

     การเติบโตของมะเร็งขึ้นอยู่กับประมาณของโปรตีนที่บริโภคเพียงบางส่วน แม่้ว่าจะจำกัดปริมาณโปรตีนที่บริโภค มะเร็งก็ยังเติบโตได้โดยสลายโปรตีนในร่างกายผู้ป่วยมาใช้ แต่กลับเกิดผลเสียกับผู้ป่วย ทำให้เจ็บป่วยง่าย ไม่มีแรง และทำให้ไม่สามารถรักษาทั้งเคมีบำบัด และการฉายแสงตามกำหนด ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีความต้องการโปรตีนสูงกว่าคนปกติ เนื้อสัตว์ ไข่และนมเป็นแหล่งของโปรตีนคุณภาพสูง ยังอุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่ใที่จำเป็นต่อร่างกาย จึงแนะนำให้บริโภคเนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านกระบวนการถนอมอาหาร ปรุงสุกและหลีกเลี่ยงการประกอบอาหารด้วยการปิ้งย่าง

     แม้ว่าจะมีข้อมูลว่าการบริโภคเนื้อแดง เช่น เนื้อหมูหรือเนื้อวัว จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่เนื่องจากมีธาตุเหล็กสูง จึงแนะนำให้บริโภคได้บ้างในผู้ป่วยที่ซีด ข้าวแป้งและน้ำตาลเป็นหมวดอาหารที่ให้พลังงานหลักและควรบริโภคให้เพียงพอ การงดหรืออดอาหารหมวดนี้ไม่ช่วยให้โรคมะเร็งดีขึ้นแล้ว ยังกลับทำให้ทุพโภชนาการรุนแรงขึ้นอีก ไขมันก็เป็นหมวดอาหารที่ให้พลังงานสูง แหล่งวิตามินที่ละลายในไขมันและกรดไขมันจำเป็น ควรรับประทานในปริมาณเท่ากับคนทั่วไป แต่ควรหลีกเลี้่ยงไขมันอิ่มตัว จำพวกไขมันสัตว์ กะทิ นมและเนย แล้วเลือกรับประทานเฉพาะชนิดที่มีกรดไขมันอิ่มตัวตำแหน่งเดียว ซึ่งพบในน้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว และกรดไขมันชนิดโอเมก้า3 ซึ่งพบได้ในปลาทะเล ผักและผลไม้เป็นแหล่งวิตามินเกลือแร่ สารต้านอนุมูลอิสระ และกากใยอาหารที่สำคัญ ควรรับประทานให้หลากหลายและเพียงพอ ในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ ควรรับประทานผักต้มสุกและผลไม้เปลือกหนา

     ความรู้ทางโภชานาการที่ถูกต้อง ถือเป็นสิ่งจำเป็นมากในผู้ป่วยมะเร็ง การรับประทานอาหารแบบผิดวิธีตามความเชื่อหรือไม่ถูกต้อง อาจส่งผลร้ายแก่ตัวผู้ป่วยกับตัวโรคมะเร็ง การวางแผนการรักษาและคุณภาพชีวิต ดังนั้นควรศึกษาให้ดีหรือพบแพทย์ พยาบาล นักกำหนดอาหาร หรือบุลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนที่จะเลือกปฏิบัติ

 


ที่มา: อ.นพ.กุลพงษ์ ชัยนาม ภาควิชาอายุรศาสตร์ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

อาหารผู้ป่วยะมเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้