โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก

วันที่ 27-08-2019 | อ่าน : 1869


     โรคมะเร็ง เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับสองของผู้ป่วยเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี  ในประเทศไทยพบการเกิดโรคมะเร็งในเด็กประมาณ 900 คนต่อปี โดยโรคมะเร็งในเด็กที่พบบ่อยที่สุด คือ  มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน (Acute Leukemia)  พบตัวเลข 38.1คน/ล้านคน/ปี

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
     เป็นโรคมะเร็งทางโลหิตวิทยา เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตในไขกระดูก ส่งผลให้ตัวอ่อนของเม็ดเลือดขาวมีการแบ่งเซลล์เพิ่มจำนวนมากกว่าปกติ โดยเซลล์เหล่านี้จะไม่เจริญเติบโตไปเป็นตัวแก่ ในทางตรงกันข้ามจะกลายเป็นเซลล์มะเร็งที่เข้าไปยับยั้งการสร้างเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดอีกด้วย การที่เด็กป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวนั้นเกิดได้จากปัจจัยที่หลากหลาย ลักษณะอาการที่ปรากฏ คือ มีไข้ ตัวซีด อ่อนเพลีย มีเลือดออกผิดปกติ ไปถึงความผิดปกติทางร่างกายอื่นๆ เช่น น้ำหนักลด ต่อมน้ำเหลืองโต ตับโต ม้ามโต อัณฑะโต มีการปวดข้อ-กระดูกต่าง ๆ โดยอาการที่ข้างต้นจะแสดงออกมาในระยะเวลาอันสั้นหลังจากที่เด็กป่วยเป็นโรคดังกล่าวแล้ว

อาการเบื้องต้น
     ที่สามารถสังเกตว่าลูกหลานป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือไม่ ให้เริ่มสังเกตอาการต่างๆ เช่น มีปวดศีรษะ คลื่นไส้ และอาเจียน บ้างหรือไม่  โดยอาการดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่เซลล์มะเร็งเข้าไปแทรกตัวในเยื่อหุ้มสมองและทำให้ความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังอาจมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นร่วมด้วย อาทิ มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง และเกิดผื่น ปื้น หรือก้อนที่ผิวหนัง เป็นต้น หากพบอาการให้รีบนำผู้ป่วยเด็กเข้ามารับการตรวจ เพื่อให้กุมารแพทย์ได้วินิจฉัยอาการ หากพบว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวจริง ผู้ป่วยเด็กก็จำเป็นจะต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป ซึ่งเบื้องต้นนั้น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันสามารถรักษาด้วยการใช้เคมีบำบัดที่สอดคล้องกับผลตรวจเซลล์มะเร็งจากไขกระดูก

การรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
     ผู้ป่วยเด็กแต่ละรายจะใช้ระยะเวลารักษามากหรือน้อยแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์มะเร็งและการตอบสนองต่อยาที่นำมาใช้ในเคมีบำบัด แต่สำหรับเด็กบางรายที่พบว่ามีอาการดื้อยาหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ขึ้น ทางทีมแพทย์อาจต้อง ใช้กระบวนการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก

วิธีการปลูกถ่ายไขกระดูก
     การที่จะทำการปลูกถ่ายไขกระดูกนั้น ผู้ป่วยที่จะได้รับไขกระดูกเรียกว่าผู้รับ และผู้ที่จะให้ไขกระดูก เรียกว่า ผู้ให้ การปลูกถ่ายไขกระดูกง่ายกว่าการปลูกถ่ายอวัยวะอื่นมาก ทำได้โดยดูดไขกระดูกจากกระดูกบริเวณก้นกบของผู้ให้ นำไขกระดูกที่ได้ไปกรอง และให้ผู้ป่วยโดยการฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ผู้ให้จะมีอาการเจ็บเล็กน้อยบริเวณที่เจาะเพียง 2-3 วันเท่านั้น ไม่มีอันตรายอย่างอื่น  ซึ่งปัจจุบันสามารถปลูกถ่ายไขกระดูกจากเซลล์ต้นกำเนิดของพ่อแม่ได้ ไม่ต้องรอบริจาคไขกระดูกที่ตรงกันอีกต่อไป หรือที่เรียกกระบวนการนี้ว่า Haploidentical Hematopoietic Stem Cell Transplantation ข้อดีคือหากรักษาด้วยวิธีนี้แล้ว โรคสามารถหายขาดได้ ซึ่งการรักษารูปแบบใหม่นี้พัฒนาโดยทีมกุมารแพทย์ด้านโรคเลือดและมะเร็งในเด็กอันดับต้นของประเทศไทย ประกอบด้วย ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง, รศ.นพ.สามารถ ภคกษมา และ พญ.พรชนก เอี่ยมศิริรักษ์ ทีมกุมารแพทย์โรคเลือดและมะเร็งในเด็กโรงพยาบาลเด็กสมิติเวช

 


ข้อมูลจาก พญ. นุตตรา สุวันทารัตน์ สาขากุมารเวชศาสตร์ อนุสาขาโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก สมิติเวช ศรีนครินทร์

 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ความรู้มะเร็ง
การดูแลผู้ป่วย
การรักษามะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้