ภาวะแขนบวมหลังการรักษามะเร็งเต้านม (Lymphedema and Breast Cancer)

วันที่ 07-08-2019 | อ่าน : 2361


อุบัติการณ์

    พบภาวะแขนบวมประมาณ 30% ของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษามะเร็งเต้านมทั้งหมด (อัตราแตกต่างกันไปในแต่ละสถาบันระหว่าง 2-83%) ประมาณ 58% มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ และมีอาการไม่เกิน 3 เดือน, 39% มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ แต่มีอาการนานกว่า 3 เดือน, 63% มีอาการตั้งแต่ 6 เดือนหลังการผ่าตัด และประมาณ 63% ที่มีภาวะน้ำเหลืองคั้งตลอดชีวิตจะมีบางช่วงที่ไม่มีอาการ

ระยะเวลาการเกิด

    ภาวะนี้อาจเกิดขึ้นทันทีหรือหลายปีหลังการรักษา ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดที่ประมาณ 18 เดือนหลังการรักษา แต่มีการศึกษาหลายการศึกษาทั้งแบบย้อนหลังและการศึกษาแบบไปข้างหน้าว่ามีรายงานการเกิดภาวะนี้ได้ช้าถึง 3 ปี หลังการรักษาและ 10 ปี หลังการ

วินิจฉัยมะเร็งเต้านม

การประเมินการเกิดภาวะคั่งของน้ำเหลือง
    เนื่องจากจะเกิดอาการประมาณ 6 เดือนหลังการผ่าตัดเป็นต้นไป จึงน่าจะมีการประเมินอาการในช่วงนี้ โดยถ้าประเมินเร็วไปอาจสับสนกับการบวมซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้จากหลังการผ่าตัด

อาการ

    มีได้ตั้งแต่ปวด รู้สึกยิบๆ ยับๆ อ่อนแรง แขนติด เคลื่อนไหวได้ไม่เต็มที่ หรือชา ซึ่งอาการที่พบส่วนใหญ่ คือ อาการชา ปวด อ่อนแรง และรู้สึกว่าแขนติด นอกจากนี้ยังมี การศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริการายงานอาการต่างๆ ของภาวะนี้ ซึ่งได้แก่ รู้สึกว่าเครื่องประดับ หรือเสื้อผ้าที่ใส่คับขึ้น หรือหนักมากขึ้น มีแขนบวม เห็นเส้นเลือดหรือกระดูก ข้อนิ้วมือไม่ชัด ความรู้สึกที่ผิวหนังเปลี่ยนไปเช่น หนาหนักขึ้น มีอาการบวมหลังออกกำลังกายหรือใช้มือในการเขียนยากขึ้นแล้วให้ผู้ป่วยใส่คะแนนความถี่ ความรุนแรง ผลกระทบ กับ ชีวิตประจำวัน ผลได้ว่าผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการทุกอย่างที่กล่าวมา เฉลี่ยคะแนนมากกว่าผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงหรือไม่มีและอาการที่พบบ่อยสุด คือ รู้สึกเครื่องประดับคับ ผิวหนังหนาหนัก ไม่เรียบ และแขนบวม นอกจากนี้อาการรู้สึกว่าเครื่องประดับคับนั้นสามารถคาดการณ์การเกิดภาวะน้ำเหลืองคั่งได้ในอนาคต

ปัจจัยที่เพิ่ม ความเสี่ยงของการเกิดภาวะการคั่งน้ำเหลือง

1. อายุมากกว่า 50 ปี
2. ผู้ป่วยที่ทำงานแบบนั่งโต๊ะมีความเสี่ยงมากกว่าผุ้ที่ต้องออกแรงทำงาน
3. การผ่าตัดเต้านม โดยการผ่าตัดทั้งเต้ามีความเสี่ยงมากกว่าการผ่าตัดเฉพาะก้อน
4. การผ่าตัดต่อมน้ำเหลือง

    การศึกษาจากออสเตรเลียรายงานว่าการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่มากกว่า 20 ต่อมจะเพิ่มความเสี่ยง แต่ไม่พบความสำคัญทางสถิติการศึกษาจากประเทศอิตาลี พบว่าจำนวนต่อมน้ำเหลืองที่ผ่าตัดที่มากกว่า 30 ต่อมขึ้นไปจะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และอีกการศึกษาจาก Eastern Virginia Medical School ประเทศสหรัฐอเมริกา รายงานจำนวนต่อมน้ำเหลืองมากกว่า 14 ต่อมในผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำเหลืองคั่งเปรียบเทียบกับ 9 ต่อมในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ

5. ขนาดของก้อนมะเร็ง โดยการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา พบว่าก้อนที่ใหญ่ตั้งแต่เริ่มต้นทำให้มีโอกาสมีภาวะคั่งน้ำเหลืองทั้งที่บริเวณเต้านมและแขน และการศึกษาจากอิตาลีก็พบว่าถ้าก้อนตั้งแต่ 2 ซม. ขึ้นไปจะเพิ่มโดกาสมากกว่าเมื่อเทียบกับก้อนขนาดเล็กกว่า 2 ซม.

6. การฉายแสง การศึกษาจากประเทศออสเตรเลียไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับการฉายแสงกับการเกิดภาวะการคั่งของน้ำเหลือง ซึ่งผลไม่ตรงกับการศึกษาอื่นๆ เช่นการศึกษาจากตุรกี อิตาลี และสหรัฐอเมริกา ที่พบว่ามีความสัมพันธ์กัน โดยส่วนใหญ่การฉายแสงที่บริเวณรักแร้จะเพิ่มโอกาสเกิดอาการมากกว่าการฉายเฉพาะบริเวณทรวงอก หรือเต้านม ปัจจุบันแพทย์รังสีรักษามักไม่ฉายรังสีบริเวณรักแร้

7. ภาวะน้ำหนักเกิน หรืออ้วน ไม่พบว่าค่า Body mass index (BMI) ซึ่งเป็นค่าแสดงภาวะน้ำหนักเกินที่มีค่าสูงจะเกี่ยวพันกับการเพิ่มภาวะคั่งของน้ำเหลือง ในขณะที่การศึกษารายงานจากอื่น ๆ พบความเกี่ยวข้องกัน

ปัจจัยที่ลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะการคั่งน้ำเหลือง

    1. บุคคลมีรายได้ต่ำ เนื่องจากพบว่ามีการออกแรงของแขนข้างที่ผ่าตัดมากกว่า
    2. มารดาที่บุตรอายุน้อย คาดว่าน่าจะเกี่ยวกับการต้องใช้แขนในการเลี้ยงดูบุตร
    3. การได้รับเคมีบำบัด
    4. มีการออกแรงร่างกายส่วนบนมากกว่า

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะการคั่งของน้ำเหลือง

    โดยแจ้งให้ผู้รับบริการทางสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องทราบ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล หรือผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อขอรับคำแนะนำและวิธีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ซึ่งการปฏิบัติตัวสามารถทำได้ คือ การใช้งานแขนข้างที่มีภาวะนี้ด้วยการนวด ใส่ปลอกแขน ใช้ผ้าพันแขนและการยกแขนสูง

 


ข้อมูลจาก สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

อาหารผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้