วันที่ 27-05-2010 | อ่าน : 12598
การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต
(การปลูกถ่ายไขกระดูก)
การปลูกถ่ายไขกระดูก หรือในปัจจุบันนิยมเรียกว่าการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต เป็นวิธีการรักษาโรคทางโลหิตวิทยา ทั้งที่เป็นกรรมพันธุ์และที่เกิดขึ้นเองในภายหลังไขกระดูกมีลักษณะคล้ายเลือด อยู่ในโพรงกระดูก มีหน้าที่สร้างเซลล์เม็ดเลือด ได้แก่เม็ดเลือดแดง มีหน้าที่นำออกซิเจนไปให้อวัยวะต่างๆ เม็ดเลือดขาวมีหน้าที่ทำลายเชื้อโรคและสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย และเกร็ดเลือดมีหน้าที่ช่วยให้เลือดหยุดเวลามีบาดแผล ดังนั้นถ้ามีความผิดปกติในการทำงานของไขกระดูก อาจจะมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ผู้ป่วยที่สมควรได้รับการรักษาโดยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต
โรคที่ได้รับผลดีจากการรักษาโดยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตได้แก่
1. โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบบ่อยในไทย ในบางแห่งพบได้ในอัตราที่สูง ผู้ป่วยจะมีอาการซีด ตัวเหลือง ตาเหลือง ตับม้ามโต ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการให้เลือดเป็นระยะ ส่วนใหญ่โรคนี้มักจะรุนแรง และเสียชีวิตตั้งแต่ในวัยเด็กหรือวัยหนุ่มสาว การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจะสามารถทำให้หายขาดจากโรคนี้ได้
2. โรคไขกระดูกฝ่อชนิดรุนแรง เป็นโรคที่พบบ่อยในไทย และเป็นปัญหาในการรักษามาก ผู้ป่วยจะมีการพยากรณ์โรคไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ใหญ่ ประมาณร้อยละ 50 จะเสียชีวิตภายใน 6 เดือน และร้อยละ 20 จะมีชีวิตอยู่ 1 ปี การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตในระยะแรกๆ หลังการวินิจฉัยไม่นาน จะช่วยให้อัตราการมีชีวิตอยู่ หรือหายจากโรคดีขึ้นมาก โดยมีอัตราการมีชีวิตอยู่หลังปีที่ 2-4 ถึงร้อยละ 60-70 ดังนั้นการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจึงเป็นวิธีหนึ่งในการช่วยเพิ่มอัตราการหายจากโรคนี้
3. มะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ตลอดจนมะเร็งชนิดอื่นๆ ที่มีการพยากรณ์โรคไม่ดี น่าจะได้รับการพิจารณาเพื่อรับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต เพราะสามารถรักษาให้หายขาดได้
4. โรคพันธุกรรมอื่นๆ เช่น ภูมิคุ้มกันบกพร่องโดยกำเนิดชนิดรุนแรง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเสียชีวิตในวัยเด็ก การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจะช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวเหมือนคนปกติได้
5. โรคมะเร็งชนิดอื่นๆ เช่น มะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย หรือมะเร็งบางชนิดในเด็ก เป็นต้น
ขั้นตอนในการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต
ทำโดยการให้ยาเคมีบำบัดในขนาดสูงแก่ผู้ป่วย เพื่อทำลายเซลล์ไขกระดูกที่ผิดปกติหรือเซลล์มะเร็งให้หมดไป โดยอาจให้ร่วมกับการฉายแสงก็ได้ หลังจากนั้นนำเอาเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจากผู้บริจาคให้กับผู้ป่วยโดยทางหลอดเลือด แบบเดียวกับการให้เลือด เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจากผู้บริจาคจะเข้าไปอยู่ในไขกระดูกของผู้ป่วย และเริ่มสร้างเซลล์เม็ดเลือดได้ราวๆ ปลายสัปดาห์ที่ 2 หรือ ในสัปดาห์ที่ 3 ดังนั้นในระยะ 2-3 สัปดาห์แรกหลังการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต ผู้ป่วยจะมีภูมิต้านทานต่ำมาก จำเป็นต้องอยู่ในห้องแยกที่สะอาดปลอดเชื้อ เพื่อลดอัตราการติดเชื้อจากภายนอก อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีการติดเชื้อร่วมด้วยเสมอ จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพและจำเป็นที่จะต้องให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยมักจะมีอาการเบื่ออาหาร กินไม่ค่อยได้ จำเป็นต้องได้รับอาหารเสริมทางหลอดเลือด จนกว่าจะรับประทานอาหารได้เพียงพอ นอกจากนี้ เนื่องจากระยะเวลาตั้งแต่เริ่มเตรียมตัวก่อนการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต จนกระทั่งฟื้นตัว หายเป็นปกติ นานประมาณ 1-2 เดือน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ จะมีอาการกังวล ไม่สบายใจ ผู้ที่ดูแลจึงต้องมีความเห็นใจ และเข้าใจปัญหา ให้กำลังใจผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยมีจิตใจสดชื่น
ปัญหาที่พบในผู้ป่วยปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตอีกอย่างหนึ่งที่ไม่พบในผู้ป่วยเปลี่ยนอวัยวะอื่น คือเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจากผู้บริจาคที่ให้ไป อาจมีปฏิกิริยาต่อต้านเซลล์ของผู้ป่วยเอง ทำให้มีความผิดปกติของระบบต่างๆ เช่น ผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร การทำงานของตับ เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้อาจรุนแรงมากจนถึงแก่ชีวิตได้
เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตได้มาจากไหน
สำหรับผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตนั้น ต่างจากการเปลี่ยนอวัยวะอื่นตรงที่ผู้บริจาคสามารถสร้างมาทดแทนได้ใหม่ ดังนั้นผู้บริจาคจึงไม่ได้สูญเสียอะไรไปเลย ซึ่งต่างจากอวัยวะอื่นๆ ที่ร่างกายไม่สามารถสร้างทดแทนได้ใหม่ และการเอาเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตออกมานั้นสามารถทำได้ 2 วิธี
1. ทำโดยการใช้เข็มดูดจากไขกระดูกออกมา โดยไม่ต้องทำการผ่าตัดเพียงดมยาสลบเท่านั้น ผู้บริจาคจะมีอาการเจ็บกระดูกบริเวณนั้นใน 2-3 วันแรก และอ่อนเพลียเล็กน้อย เช่นเดียวกับการบริจาคเลือด ผู้บริจาคสามารถกลับไปทำงานตามปกติใน 2-3 วัน
2. ทำได้โดยใช้ยากระตุ้นเซลล์ไขกระดูกออกมาอยู่ในหลอดเลือดในปริมาณที่มากพอ หลังจากนั้นผู้บริจาคมาบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต โดยใช้สายต่อเข้าเส้นเลือดแล้วต่อเข้าเครื่องเพื่อจะแยกเอาเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตออกมาทางเส้นเลือด เหมือนการบริจาคเลือด วิธีนี้ ผู้ป่วยจะฟื้นตัวเร็วกว่าและกลับบ้านเร็วกว่า
3. นอกจากนี้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจาก 2 แหล่ง ดังกล่าวแล้ว เรายังสามารถใช้เลือดจากรกเป็นแหล่งของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตได้อีกทางหนึ่งด้วย
ใครเป็นผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตได้บ้าง
ส่วนใหญ่แล้ว ผู้บริจาคมักจะเป็นพี่น้องของผู้ป่วยที่มีเนื้อเยื่อ(HLA) เข้ากันได้ นอกจากนี้ผู้บริจาคยังอาจเป็นคนที่ไม่ใช่พี่น้องกันแต่มีเนื้อเยื่อเข้ากันก็ได้
ข้อจำกัด
1. ข้อจำกัดในเรื่องผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตก็คือ ถ้าผู้ป่วยไม่มีพี่น้อง หรือมีจำนวนน้อย เนื้อเยื่อเข้ากันไม่ได้ ก็ไม่สามารถทำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตได้ ในกรณีเช่นนี้อาจทำได้โดยการใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตของผู้ป่วยเอง เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือด หรือมะเร็งชนิดอื่น หลังจากที่ให้ยาเคมีบำบัดจนโรคสงบแล้ว เราสามารถเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตของผู้ป่วยแช่แข็งเก็บไว้ เมื่อเตรียมผู้ป่วยโดยการให้ยาเคมีบำบัดในขนาดสูงแล้ว เอาเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตของผู้ป่วยที่แช่แข็งไว้กลับมาให้ผู้ป่วยใหม่ ด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยเป็นผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตให้ตนเอง ปัญหาแทรกซ้อนเรื่องเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตที่เข้าไปจะต้านเซลล์ของผู้ป่วยจึงไม่เกิดขึ้น แต่จะมีอัตราการที่โรคกลับมาใหม่สูงกว่าการใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจากผู้บริจาค
2. ข้อจำกัดอีกประการหนึ่งในการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตในผู้ป่วยไขกระดูกฝ่อชนิดรุนแรง คือ ผู้ป่วยที่เคยได้รับเลือด หรือส่วนประกอบของเลือดอื่นๆ เช่น เม็ดเลือดขาว หรือเกร็ดเลือดเข้มข้นจำนวนมากมาแล้ว โอกาสที่จะได้ผลดีจากการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตมีน้อยลง เพราะจะมีโอกาสสูงที่ร่างกายจะมีการต่อต้านเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตของผู้บริจาค ทำให้การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตนั้นประสบความล้มเหลว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตในระยะแรกเริ่มหลังการวินิจฉัยโรคไม่นานนัก ก่อนที่ผู้ป่วยจะได้รับเลือดจำนวนมาก
3. นอกจากนี้ผู้ป่วยที่อายุมาก จะมีปัญหาแทรกซ้อนจากการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตมาก ดังนั้นส่วนใหญ่แล้วจะไม่สามารถทำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตในผู้ป่วยที่อายุเกิน 55 ปี หรือถ้าจำเป็นต้องทำในรายที่อายุมาก ต้องดัดแปลงโดยใช้วิธีให้ยาเคมีบำบัดในขนาดที่ลดลง เพื่อลดปัญหาแทรกซ้อน
สรุป
ในปัจจุบันนี้ ถือว่าการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตเป็นการรักษาที่มาตรฐานสำหรับโรคหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไขกระดูกฝ่อชนิดรุนแรง มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยได้เริ่มวิธีการรักษานี้มานานเกิน 10 ปีแล้ว ผลการรักษาดีเท่าๆ กับในต่างประเทศ ปัญหาแทรกซ้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจากผู้บริจาคมีปฏิกิริยาต่อต้านเซลล์ของผู้ป่วยนั้น เราพบน้อยกว่าในต่างประเทศ นับเป็นโชคดีของผู้ป่วยไทย
ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ฟรี คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011
Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้