วันที่ 27-05-2010 | อ่าน : 9958
พิชิตโรคมะเร็งแบบบูรณาการ
การแพทย์แบบบูรณาการ
การรักษาผู้ป่วยมะเร็งแบบ บูรณาการ คือการรักษาผู้ป่วยมะเร็งแบบองค์รวม ผสมผสานองค์ความรู้ นวัตกรรมการรักษา กลมกลืนสอดคล้องกับธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ ซึ่งประกอบด้วยร่างกายจิตใจ และวิญญาณ ซึ่งมีความสัมพันธ์แบบแยกจากกันไม่ได้ จากผู้คนรอบข้าง ญาติพี่น้อง ผู้ดูแลผู้ป่วย สังคม และสิ่งแวดล้อมรอบตัว จนถึงจักรวาลที่กว้างใหญ่ไพศาล ปรัชญา มุมมองและ มิติของการรักษา เป็นไปทั้งในแนวกว้าง ยาว และลึก แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากการแพทย์แผนปัจจุบันที่มีรากฐานจากการแพทย์ตะวันตก
การปฏิวัติการวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็ง
การแพทย์ในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้นี้ เป็นการแพทย์แบบปัจเจกบุคคล (Personalized Health Care) ซึ่งมีรากฐานมาจากโครงการวิจัยซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดตั้งแต่มนุษย์ชาติเคยมีมาตั้งแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบัน นั่นคือโครงการถอดรหัส ดีเอ็นเอ ของมนุษย์ เมื่อโครงการดังกล่าว สำเร็จลุล่วงเมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว ทำให้เราทราบถึงรหัส ดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นรากฐานของมนุษย์ชาติ การทราบรหัส ดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของยีนที่ควบคุมการสร้างมนุษย์ ควบคุมการทำงานทั้งหมดของร่างกาย และเมื่อเกิดการกลายพันธุ์ จะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ รวมทั้งโรคมะเร็ง ดังนั้น ข้อมูลและเทคโนโลยีจากโครงการถอดรหัส ดีเอ็นเอ ของมนุษย์ จึงสามารถประยุกต์ใช้ในการวินิจฉัยโรคมะเร็งถึงระดับโมเลกุล ทำให้ความไว และความจำเพาะของการตรวจดียิ่งขึ้นกว่าการตรวจแบบเดิม การวินิจฉัยโรคมะเร็งพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและแม่นยำ นอกจากนั้น ยังทำให้เกิดการพัฒนาการวินิจฉัยโรคด้วยรังสีวินิจฉัยระดับโมเลกุล (Molecular Imaging) สามารถวินิจฉัยทำนายความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งในคนปกติได้ก่อนเกิดโรคมะเร็ง (Molecular Diagnosis of Cancer) เลือกการรักษาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในผู้ป่วยมะเร็งแต่จะรายตามรหัส ดีเอ็นเอ ของผู้ป่วย นอกจากนั้นการตรวจทางโมเลกุล ยังสามารถทำนายถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการให้ยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งที่อาจเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยาเคมีบำบัดได้ การตรวจดีเอ็นเอของยีนที่เกี่ยวข้อง สามารถพยากรณ์ได้ว่า ผู้ป่วยมะเร็งมีการดำเนินโรคที่รุนแรงหรือไม่ ถ้าโรคที่เป็นไม่รุนแรงจากการตรวจยีน อาจหลีกเลี่ยงไม่ต้องใช้ยาเคมีบำบัดก็ได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถทำนายความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งในคนปกติได้อีกด้วย ด้วยการตรวจยีนนับร้อยนับพันยีน ในการตรวจที่เรียกว่า ไมโครอาเรย์ เรียกว่า การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งระดับโมเลกุล (Molecular Screening of Cancer)
การรักษามะเร็งตามเป้าหมาย (Targeted Therapy)
องค์ความรู้จากการศึกษาวิจัย ทำให้ทราบถึงเป้าหมายของการเกิดโรคมะเร็ง และการลุกลามของโรค นำไปสู่การพัฒนายาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งมะเร็งจำเพาะต่อเป้าหมายของการเกิดและการดำเนินของโรคมะเร็ง ผลลัพธ์ที่ได้คือ ทำให้สามารถรักษาโรคมะเร็งได้หลายชนิดที่การรักษาแบบดั้งเดิมไม่ได้ผลหรือได้ผลไม่ดีเพียงพอ สำหรับโรคมะเร็งที่มียารักษาอยู่แล้ว ก็สามารถพัฒนายาใหม่ที่ดีขึ้น หรือใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดเสริมฤทธิ์การรักษา โดยไม่เพิ่มผลข้างเคียง
ดังนั้น นวัตกรรมใหม่ในการรักษาโรคมะเร็ง คือ ต้องตรวจหาเป้าหมายของการรักษาว่ามีหรือไม่ และจัดยาที่รักษาตามเป้าหมายที่เหมาะสมกับโรคมะเร็งที่เป็น เช่น มะเร็งเต้านม ร้อยละ 20 เกิดจากยีนมะเร็ง เฮอร์ทู การใช้ยาต้านยีนมะเร็งเฮอร์ทู หรือใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดสามารถทำให้การตอบสนองต่อการรักษาดีขึ้น สามารถป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรคได้หลังการผ่าตัด ดีกว่าการใช้ยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว มะเร็งปอดที่มีการกลายพันธุ์ของยีนเฮอร์วัน จะตอบสนองดีต่อยาต้านยีนเฮอร์วัน ได้ผลการรักษาดีกว่ายาเคมีบำบัด มะเร็งจีสต์ เกิดในช่องท้องดื้อต่อยาเคมีบำบัด เกิดจากยีนมะเร็งซีคิด (C-Kit Oncogene) การใช้ยาต้านยีนมะเร็งคิด ชื่อ อีมาทีนิบ มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาโรคมะเร็งจีสต์ มะเร็งตับที่พบเป็นอันดับหนึ่งในผู้ชายไทย มักเกิดจาการติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบชนิดบี และซี มีการเพิ่มหน้าที่ของยีนมะเร็งร๊าฟ (Raf Oncogene) ปัจจุบันนี้มียาต้านยีนมะเร็งร๊าฟ เป็นยาเม็ดรับประทานได้ง่ายสะดวกเช้าเย็น ใช้รักษาโรคมะเร็งตับได้ผลดีและสามารถเพิ่มอัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยมากขึ้น และมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาเคมีบำบัด
สมุนไพรรักษามะเร็ง
ความสับสนประการหนึ่งในวงการแพทย์ คือ สมุนไพรรักษาโรคมะเร็งได้จริงหรือไม่ ผู้ป่วยมะเร็งจำนวนมากเชื่อว่าสมุนไพรมีประสิทธิภาพรักษามะเร็งได้ หลักสูตรแพทยศาสตร์ในประเทศจีนบางหลักสูตร รวมการแพทย์แผนจีนและได้บรรจุเรื่องสมุนไพรเข้าไว้ในหลักสูตรแพทยศาสตร์มากถึงร้อยละ 30 มีการใช้ยาสมุนไพรหลายชนิดในการบำบัดทุเลาผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็ง
ยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษาโรคมะเร็งในปัจจุบัน มากกว่าร้อยละ 20 ของยาเคมีบำบัดมีต้นกำเนิดมาจากสมุนไพร เช่นยาไอริโนทีแคน เป็นยาหลักในการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะแพร่กระจาย ยาดังกล่าวสังเคราะห์มาจากสมุนไพรจีนชนิดหนึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า แคมโตทีก้า แอคคิวมีนาต้า ยาพาคลีแท๊ซเซลสังเคราะห์มาจากต้นสนในประเทศสหรัฐอเมริกาชื่อว่า แปซิฟิกยิว หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า เท็กซัส บริวิโฟเลีย หรือยาเคมีบำบัดวิน คริสตีน วินบลาสตีน และวิโนเรลปีน มีต้นกำเนิดมาจากต้นพังพวยฝรั่ง ยาด๊อซซิแทซเซล มาจากต้นสนในยุโรป ชื่อ เท็กซัส แบคคาต้า ยาเคมีบำบัดอีโตโปไซด์ ซึ่งใช้รักษามะเร็งปอด มะเร็งอัณฑะ มีต้นกำเนิดจากต้นไม้ในเทือกเขาหิมาลัย เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า กว่ายาสมุนไพรจะใช้รักษาโรคมะเร็งอย่างได้ผลต้องผ่านการสกัดสังเคราะห์ วิเคราะห์ ผลิตสูตรยา ศึกษาผลในเซลล์มะเร็งในสัตว์ทดลอง ศึกษาในมนุษย์ระยะที่ 1 เพื่อตรวจสอบระดับยาสูงสุดที่รับได้ ศึกษาเภสัชจลศาสตร์ ศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 2 เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของยา ต่อมาเมื่อพบว่ายามีประสิทธิภาพและปลอดภัยจึงมีการศึกษาต่อเนื่องในระยะที่ 3 โดยศึกษาแบบสุ่ม เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน ถ้ายาใหม่ที่ศึกษาทดลองได้ผลดีกว่ายามาตรฐานเดิม ข้อมูลการศึกษาจะประเมินโดยองค์การอาหารและยาอย่างรอบครอบ เมื่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีมติเห็นชอบกับการอนุมัติให้ใช้ในผู้ป่วยมะเร็ง ยาดังกล่าวจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาให้ใช้ในผู้ป่วยมะเร็ง และยังต้องมีการศึกษาติดตามผลของยาหลังจากมีการใช้ยาดังกล่าวในการรักษาโรคมะเร็งในชุมชน เรียกว่าการศึกษาระยะที่ 4
ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากว่าที่ยาใหม่ชนิดหนึ่งจะสามารถนำมาใช้รักษาโรคมะเร็งต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวด และใช้ระยะเวลายาวนานกว่าจะได้รับอนุมัติจากองค์การอาหารและยาให้ใช้ได้อย่างปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง มีผลทำให้ยาเคมีบำบัดชนิดใหม่ๆ มีราคาสูง
ถ้าผู้ป่วยประสงค์ที่จะใช้ยาสมุนไพรรักษามะเร็ง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบประสิทธิภาพ คุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของยา และต้องตรวจสอบว่ายาดังกล่าวได้รับอนุมัติจากองค์การอาหารและยา หรือขึ้นบัญชียาหลักของกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่ ยิ่งถ้าได้รับอนุมัติในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่มีมาตรฐานทางการแพทย์ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ก็ยิ่งจะสร้างความมั่นใจในการนำยาดังกล่าวมาใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็ง ควรต้องแจ้งแพทย์ที่รักษาด้วย เพราะยาสมุนไพรอาจมีปฏิกิริยากับยาแผนปัจจุบันที่ใช้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นการต้านฤทธิ์หรือเสริมกันได้
การรักษาโรคมะเร็งแบบผสมผสาน
การผสมผสานศาสตร์ต่างๆ ในการรักษาโรคมะเร็งไม่ใช่ความคิดใหม่ ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยศึกษาค้นคว้า หรือได้รับคำแนะนำจากผู้ป่วยคนอื่น หรือญาติสนิท มิตรสหายถึงวิธีการรักษาผู้ป่วยมะเร็งหลากหลายวิธี การผสมผสานวิธีการรักษามะเร็งที่ถูกต้องจำเป็นต้องประเมินตรวจสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวิธีการรักษา ว่ามีการขัดแย้งกับวิธีการรักษามาตรฐานหรือไม่ โดยสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วย 3 สาขาใหญ่ คือ ศัลยแพทย์มะเร็งวิทยา รังสีแพทย์ และอายุรแพทย์มะเร็งวิทยา สำหรับแพทย์แผนโบราณทางกระทรวงสาธารณสุขก็มีการควบคุมคุณภาพ และขึ้นทะเบียนแพทย์แผนโบราณ
“ยาดีหมอดีมีทางหายขาด ได้ยาผิดพลาดอาจชะตาขาด” ดังนั้นการเรียนรู้สู้มะเร็งจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ถึงแม้จะได้รับการรักษาด้วยยามาตรฐานแต่ไม่ได้ใช้ยาที่ดีกว่าจากนวัตกรรมใหม่ อาจทำให้ผู้ป่วยมะเร็งสูญเสียโอกาสที่จะเห็นผล หรือยืดชีวิตได้ ซึ่งอาจเป็นโอกาสครั้งเดียวและครั้งสุดท้ายของผู้ป่วยคนนั้น ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นอาจจะเพียงครั้งเดียวเท่านั้น อาจมีชีวิตผู้ป่วยเป็นเดิมพัน และไม่สามารถแก้ไขได้อีกเลยชั่วชีวิต
การรักษามะเร็งแบบผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง
การรักษามะเร็งที่ถูกต้องควรเป็นการรักษาที่มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง มุ่งเน้นทั้งร่างกายและจิตใจ นอกเหนือจากการรักษาตัวโรคมะเร็งเอง กายและใจมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด กายป่วยต้องป้องกันอย่าให้ใจป่วยหรือจิตตก ร่างกายและจิตใจมีการเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด โดยอิทธิพลของฮอร์โมนและสารคัดหลั่งจากระบบประสาท และยังเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายในการทำลายเซลล์มะเร็งด้วย เรียกว่าศาสตร์แห่งมะเร็งวิทยาประสาทวิทยา จิตเวชและภูมิคุ้มกัน (Psychoneuroimmuno-oncology)
บทสรุป
การผสมผสานการแพทย์แผนใหม่ การแพทย์แผนโบราณ ภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิต ร่างกายและจิตใจ สังคม ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมแบบบูรณาการ การศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เหล่านี้ให้เกิดการผสมผสานอย่างถูกต้องเหมาะสมกับนวัตกรรมทางการแพทย์ ซึ่งมีการศึกษาวิจัยค้นพบอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องในปัจจุบันนี้ จะนำไปสู่ความสำเร็จในการรักษาโรคมะเร็งแบบหลายมิติ และทำให้เกิดแนวทางใหม่ในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งแบบบูรณาการในที่สุด
ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ฟรี คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011
Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้