คีโมเทอราปี...การใช้ยาเคมีบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง

วันที่ 09-07-2019 | อ่าน : 2839


     ปัจจุบันวิธีการรักษาโรคมะเร็งที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด คือการให้คีโม หรือการใช้ยาเคมีบำบัด เพื่อเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งในตัวคนไข้ ซึ่งเราอาจจะเคยได้ยินเรื่องผลข้างเคียงจากการให้ยาเคมีบำบัดกันมาบ้างแล้ว ทำให้ผู้ป่วยมักเกิดความวิตกกังวล

การให้คีโมหรือเคมีบำบัด คืออะไร?
     คีโม หรือ คีโมเทอราปี (Chemotherapy) นั้นคือกลุ่มสารเคมีที่มีฤทธิ์ยับยั้งและทำลายเซลล์ที่มีอัตราการเติบโตหรือแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว เช่น เซลล์มะเร็งในร่างกายมนุษย์ แต่ในขณะเดียวกันยาเคมีบำบัดก็มีส่วนในการทำลายเซลล์ปกติที่มีการเติบโตเร็วของเราด้วย เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว เซลล์เส้นผม เซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร เป็นต้น เราจึงได้ยินถึงผลข้างเคียงจากการได้รับยาเคมีบำบัด เช่น อาการผมร่วง อ่อนเพลีย ท้องเสียง่าย

     แต่โดยธรรมชาติของมนุษย์เมื่อเซลล์ปกติในร่างกายของเราถูกทำลาย ร่างกายจะเร่งสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทน หลังจากให้ยาเคมีบำบัดแล้ว แพทย์จะให้ระยะเวลาคนไข้พักฟื้นประมาณ 3 – 4 สัปดาห์ หรือรอจนกว่าจำนวนเม็ดเลือดขาว และสภาพร่างกายแข็งแรงพอจะรับยาเคมีบำบัดในครั้งต่อไป ซึ่งในกระบวนการรักษาโรคมะเร็งบางชนิดอาจต้องใช้การรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสงและการผ่าตัด จนกว่าจะจบการรักษา

คนไข้จำเป็นต้องได้รับยาเคมีบำบัดทุกคนหรือไม่
     คนไข้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง อาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรักษาด้วยวิธีการให้ยาเคมีบำบัดเสมอไป ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่ามะเร็งเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกอวัยวะในร่างกาย แม้แต่ในอวัยวะเดียวกันก็มีสิทธิ์ที่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็งต่างชนิดกัน รูปแบบการรักษาก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้น คนไข้แต่ละคนจึงอาจจะได้รับการรักษาในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่การให้ยาเคมีบำบัดได้เช่นกัน

เคมีบำบัดสามารถรักษาโรคมะเร็งได้ทุกชนิดหรือไม่
     ยาเคมีบำบัด ไม่สามารถรักษาโรคมะเร็งได้ทุกชนิด โดยปกติแล้วยาเคมีบำบัด 1 ตัวนั้นอาจมีฤทธิ์เฉพาะกับเซลล์มะเร็งบางชนิดเท่านั้น ทางการแพทย์จึงมีสูตรยาเคมีบำบัดหลายตัวเพื่อใช้ในการรักษาโรคมะเร็งที่มีความหลากหลาย มะเร็งบางประเภทอาจต้องใช้ยาเคมีบำบัด  2 – 3 ชนิดร่วมกันเพื่อเสริมฤทธิ์ในการรักษา

     ในช่วงระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมาสูตรยาเคมีบำบัดเหล่านี้ได้ผ่านการค้นคว้าทดลองปรับสูตรยาและกระบวนการรักษา จนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ช่วยให้แพทย์รู้ว่าเมื่อคนไข้เป็นมะเร็งชนิดไหนต้องใช้สูตรยาเคมีบำบัดตัวใดในการรักษา และในขณะเดียวกันเทคโนโลยีทางการแพทย์ก็ยังคงค้นคว้าวิจัยหาสูตรตัวยา และเทคนิคการรักษาใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพออกมาอย่างสม่ำเสมอ ทำให้อัตราการรักษาโรคมะเร็งแล้วประสบความสำเร็จมีสูงขึ้นเรื่อยๆ


ข้อมูลจาก นพ.วิชิต อาภรณ์วิรัตน์ แพทย์ประจำศูนย์มะเร็ง ศูนย์มะเร็ง รพ.พญาไท 2

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
ความรู้มะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้