วันที่ 08-07-2019 | อ่าน : 1675
จิตแพทย์เตือนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ดูซีรีส์ออนไลน์ที่กำลังฮิตทั่วโลกคนเดียว โดยเฉพาะกลุ่ม“บิงจ์ วอชชิ่ง“ เผยทำให้อาการกำเริบและจากงานศึกษาวิจัยในอังกฤษ พบปัญหามากมายทั้งอ้วน ความจำ ยาเสพติด
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จังหวัดนครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า มีความห่วงใยกระแสการดูละครชุดหรือซีรีส์ (series) ทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในไทยด้วย เนื่องจากสามารถดูได้จากมือถืออย่างไม่มีข้อจำกัดทางด้านเวลาหรือสถานที่ ซึ่งในแง่ดีนั้นสามารถใช้สร้างความสนุกสนานผ่อนคลายความเครียดจากงานประจำได้วิธีหนึ่ง แต่การดูจะต้องมีความพอดี เหมาะสม ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้ เช่นกันแม้ว่าในไทยจะยังมีข้อมูลการศึกษาเรื่องนี้น้อยมากๆก็ตามแต่จากงานศึกษาวิจัยในต่างประเทศ เช่นที่อังกฤษ พบว่าวัยผู้ใหญ่ประมาณ 1 ใน 3 ใช้เวลาดูทีวีเฉลี่ย 1.42 วันต่อสัปดาห์ส่งผลเกิดปัญหาอ้วน และอดนอน มีผลต่อปัญหาการจดจำ รวมทั้งยังเสี่ยงต่อการเสพติด เช่นเดียวกับการเสพติดสารเสพติดซึ่งเกิดมาจากกลไกภายในสมอง
ด้านแพทย์หญิงภรทิตา เลิศอมรวณิช จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีของซีรีส์ ซึ่งจะมีเป็นตอนๆ และมีระบบต่อเนื่องแบบอัตโนมัติ อาจทำให้เกิดความเพลิดเพลินหรือติดลม คือดูแบบต่อเนื่องซึ่งเรียกว่าพฤติกรรมนี้ว่าบิงจ์ วอชชิ่ง (Binge watching) คือดูรวดเดียวจบเรื่องหรือดูแบบมาราธอน อาจใช้เวลามากเป็นวันหรือข้ามวันข้ามคืน เนื่องจากบางเรื่องอาจยาวเป็นร้อยๆตอนผลกระทบที่ตามมาที่เห็นชัดเจนคือการอดนอนจะมีผลต่อการทำงานของสมอง ทั้งด้านความคิดความจำ การเรียนรู้ทางด้านภาษาการตัดสินใจในลักษณะเชื่องช้าลงหรือเรียกว่าสมองตื้อ มีผลกระทบกับการทำงานและการเรียนและยังทำให้อารมณ์หงุดหงิดง่ายขึ้น หากอดนอนต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการทางจิต (Psychosis) เช่น หูแว่ว ประสาทหลอน ได้เช่นกัน
“กลุ่มที่น่าเป็นห่วงก็คือผู้ ป่วยซึมเศร้า ซึ่งผลสำรวจของกรมสุขภาพจิต พบคนไทยมีอัตราป่วยร้อยละ 2.7 คาดว่าทั่วประเทศมีประมาณ 1.5 ล้านคน เฉพาะในพื้นที่ 4 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 9 คือนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ คาดมีประมาณ 148,000 กว่าคน เข้ารักษาแล้วร้อยละ70 อีกร้อยละ30 ยังไม่ได้รับการรักษา หากจะดูซีรีส์ ทั้งนี้ การดูซีรีส์สามารถดูได้ โดยดูร่วมกับคนในครอบครัว หรือกับเพื่อนและดูจบเป็นตอนๆไม่แนะนำให้ดูคนเดียวเนื่องจากจะเพิ่มเวลาในการอยู่คนเดียว ตัดตัวเองออกสังคมผู้คนมากขึ้น โอกาสที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ลดลงหรือทำให้การออกไปใช้ชีวิตข้างนอกเช่นการออกกำลังกายน้อยลงซึ่งไม่เป็นผลดีทั้งในแง่ผลการรักษาอาจทำให้อาการแย่ลงไปอีกโดยซีรีส์ที่ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าไม่ควรดูคือซีรีส์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตหรือเรื่องเศร้าๆ เนื่องจากจะทำให้อารมณ์ที่เศร้าอยู่เดิม เกิดหดหู่ เหงาหงอยเพิ่มขึ้น หรือนอนไม่หลับ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ”แพทย์หญิงภรทิตา กล่าว
แพทย์หญิงภรทิตา กล่าวว่า สำหรับประชาชนทั่วไป โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา มีคำแนะนำในการดูซีรีส์ 5 ประการ เพื่อให้ได้ผลต่อการดูคือมีความสุข คลายเครียด ป้องกันปัญหาติดลมโดยต้องจัดตารางชีวิต ฝึกวินัย แบ่งเวลาให้เหมาะสม ดังนี้
1. ควรกำหนดเวลาดูให้ชัดเจน ไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายพักผ่อนอย่างเต็มที่ คือผู้ใหญ่ ควรนอน7-8 ชั่วโมง เด็กมัธยม ควรนอน 8-9 ชั่วโมง เด็กวัยประถมควรนอน 10-11 ชั่วโมง
2. ไม่ดูซีรีส์ในห้องนอน เพื่อไม่ให้รบกวนเวลานอน 3.ในการหยุดดูซีรีส์ ควรหยุดเมื่อจบตอน หรือหยุดดูในช่วงกลางๆของตอน เนื่องจากในช่วงท้ายตอนมักจะทิ้งปมค้างไว้ ทำให้เราอยากจะดูต่อ
4. ควรจัดเวลาออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 วัน ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที การออกกำลังกายจะช่วยได้ทั้งคลายความเครียดและทำให้สุขภาพแข็งแรง
5. ควรจัดเวลาให้ครอบครัว เช่น ช่วยกันเตรียมอาหารรับประทานอาหารร่วมกัน
ทั้งนี้ โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา ได้ให้เจ้าหน้าที่เพิ่มคำแนะนำเพื่อป้องกันผล กระทบจากการดูซีรีส์แก่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทุกรายและญาติด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลรักษาซึ่งผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มาใช้บริการที่โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาฯนั้นเป็นรายที่มีอาการรุนแรงซับซ้อนทั้งสิ้น โดยมีผู้ป่วยนอกปีละประมาณ 9,000 คน มากเป็นอันดับ 2 รองจากโรคจิตเภท
ข้อมูลจาก สสส.
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011
Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้