วันที่ 27-05-2010 | อ่าน : 19799
นวัตกรรมใหม่ในการรักษาโรคมะเร็ง
ผลการรักษาโรคมะเร็งยังได้ผลไม่ดีเท่าที่ควรเมื่อเปรียบเทียบกับโรคอื่นๆ ผู้ป่วยมะเร็งที่เป็นมากยังคงทุกข์ทรมานจากอาการของโรค และผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็ง เช่น รังสีบำบัด เคมีบำบัด ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการที่วิธีการรักษาโรคมะเร็งหลายวิธีออกฤทธิ์ไม่จำเพาะ โดยมีผลต่อเนื้อเยื่อปกติของร่างกายของผู้ป่วยด้วย ดังนั้นจึงมีผู้พยายามคิดค้นหาวิธีและตัวยาที่ออกฤทธิ์จำเพาะต่อโรคมะเร็งโดยตรง และไม่มีผลข้างเคียงต่อเนื้อเยื่อปกติ ความก้าวหน้าในการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันนี้ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาให้ดีขึ้น และลดผลข้างเคียงที่เกิดจากการรักษา ความเข้าใจถึงกลไกการเกิดโรคมะเร็งมีส่วนทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถคิดค้นพัฒนายาที่มีประสิทธิภาพ ออกฤทธิ์โดยตรงต่อโรคมะเร็ง โดยไม่มีหรือมีผลน้อยต่อเซลล์ปกติของร่างกาย ยากลุ่มนี้เรียกว่ายารักษาตามเป้าหมายหรือยารักษาพุ่งเป้า(Targeted therapy) ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่ายาเหล่านี้หลายชนิดได้รับอนุมัติจากองค์การอาหารและยาประเทศไทย อนุมัติให้ใช้รักษาโรคมะเร็งหลายชนิดตามข้อบ่งชี้จากผลการศึกษาวิจัยต่างๆ ในระยะเวลาเพียง 10 ปีที่ผ่านมา
การสร้างเส้นเลือดของก้อนมะเร็ง
ตอนแรกก้อนมะเร็ง ยังมีขนาดเล็ก โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 มิลลิเมตร เซลล์มะเร็งต้องการสารอาหารและออกซิเจน ซึ่งตอนแรกจะได้จากการซึมซาบสารเหล่านี้จากเส้นเลือดใกล้เคียงไปยังบริเวณที่ก้อนมะเร็งฝังตัวอยู่
มะเร็งจะโตขึ้นมากๆ ได้นั้น ต้องมีการสร้างเส้นเลือดให้เส้นเลือดงอกเข้ามาเลี้ยงก้อนมะเร็ง และมะเร็งจะใช้เส้นเลือดใหม่ที่สร้างขึ้น เป็นเส้นทางเดินให้แพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่นของร่างกาย
จะเห็นได้ว่าเป้าหมายการรักษาโรคมะเร็งอีกวิธีหนึ่ง คือ ใช้ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเส้นเลือดที่มาเลี้ยงก้อนมะเร็ง จะทำให้มะเร็งขาดอาหารและออกซิเจนทำให้ก้อนมะเร็งฝ่อ และยังเป็นการตัดเส้นทางของเซลล์มะเร็งไปสู่อวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย
วิธีการรักษาโรคมะเร็งโดยการยับยั้งการสร้างเส้นเลือดใหม่ที่มาเลี้ยงเซลล์มะเร็ง สามารถทำได้โดยใช้ยายับยั้งปัจจัยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์บุเส้นเลือดที่มาเลี้ยงก้อนมะเร็ง หรือใช้ยายับยั้งการส่งสัญญาณภายในเซลล์บุหลอดเลือดทำให้เส้นเลือดที่มาเลี้ยงก้อนมะเร็งฝ่อในที่สุด
ปัจจัยกระตุ้นการเจริญเติบโตของก้อนมะเร็ง
มะเร็งที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่รักษาจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในระยะเวลาสั้น การที่มะเร็งเติบโตผิดปกติ โดยไม่อยู่ในการควบคุมของร่างกายได้นั้น มีความผิดปกติของการสร้างปัจจัยการกระตุ้นมากเกินไป หรือมีตัวรับปัจจัยกระตุ้นการเจริญเติบโตที่ผิวเซลล์มะเร็งมากเกินไป หรือเกิดการกลายพันธุ์จนทำหน้าที่เกิน กระตุ้นให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วโดยร่างกายควบคุมไม่ได้ จนเกิดการลุกลามแพร่กระจายและทำลายเนื้อเยื่อและอวัยวะปกติที่สำคัญ เช่น สมอง ปอด ตับ จนทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเสียชีวิตในที่สุด
การที่เราทราบถึงสาเหตุที่ทำให้มะเร็งเจริญเติบโตมากผิดปกติ ซึ่งเกิดจากปัจจัยกระตุ้นการเจริญเติบโตที่สร้างมากผิดปกติ ทำให้สามารถคิดค้นยาไปยับยั้งได้โดยตรง หรือคิดค้นยาไปยับยั้งตัวรับปัจจัยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่ผิวเซลล์ หรือคิดค้นยาไปยับยั้งภายในเซลล์ไม่ให้เซลล์เจริญเติบโต แนวทางการรักษาเหล่านี้มีผลรวมทำให้มะเร็งหยุดการเจริญเติบโต ฝ่อตายไปในที่สุด
การทราบถึงความแตกต่างกันระหว่างเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัจจัยการกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง หรือการสร้างเส้นเลือดไปเลี้ยงเซลล์มะเร็งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ กลายเป็นเป้าหมายสำคัญในการยับยั้งและทำลายเซลล์มะเร็งที่มีประสิทธิภาพและมีผลข้างเคียงน้อยต่อร่างกาย ได้นำไปสู่การคิดค้นพัฒนา นวัตกรรมใหม่ในการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันนี้เรียกว่า การรักษาแบบพุ่งเป้าหรือ รักษาตามเป้าหมาย (Targeted therapy)
การรักษาตามเป้าหมาย
นวัตกรรมใหม่ในการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทยเริ่มมีการใช้รักษาโรคมะเร็งในประเทศไทยมานานกว่า 5 ปี แล้ว ยารักษาตามเป้าหมายชนิดแรกที่ค้นพบ คือ ยารักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง จากการรักษาที่พบว่าโรคนี้เกิดจากความผิดปกติของยีนมะเร็งชื่อ BCR-ABL นักวิทยาศาสตร์ที่สามารถคิดค้นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งยีนมะเร็งดังกล่าวได้ คือ ไบรอัน ครุเคอร์ ซึ่งทำงานอยู่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สุขภาพโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมมือกับ นิก ลายดอน ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ของบริษัทผลิตยาโนวาติส ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ สามารถค้นพบยาที่ชื่ออิมาทินิบ ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งยีนมะเร็งที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง และต่อมายังค้นพบว่ายาดังกล่าวออกฤทธิ์ยับยั้งยีนมะเร็งชื่อ C-kit ซึ่งเป็นสาเหตุของ มะเร็งจีสต์ ซึ่งเป็นมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนเกิดในช่องท้อง
ยารักษาตามเป้าหมายอีกประเภทหนึ่งที่มีใช้ในประเทศไทยเป็นยาฉีดที่ยับยั้งเป้าหมายจำเพาะของมะเร็ง เรียกว่า monoclonal antibody ซึ่งหมายถึงโปรตีนระบบภูมิคุ้มกันที่ออกฤทธิ์จำเพาะต่อโปรตีนเป้าหมาย โดยจับกับเป้าหมายอย่างจำเพาะและยับยั้งการทำหน้าที่ของโปรตีนของเซลล์มะเร็ง และมีการพัฒนาแอนติบอดี้ทำให้มีความคล้ายคลึงกับโครงสร้างแอนติบอดี้ของมนุษย์มากที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพ้ยา
ตัวอย่าง แอนติบอดี้ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งอย่างจำเพาะ ได้แก่ ยาลิทูซิแมบ ออกฤทธิ์ยับยั้งโปรตีนจำเพาะที่ผิวเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ยาทราสทูซูแมบ ออกฤทธิ์ยับยั้งยีนมะเร็งเฮอร์ทูในมะเร็งเต้านม นอกจากนี้ยังมี ยาเบวาซิซูแมบ ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเส้นเลือดใหม่ที่มาเลี้ยงเซลล์มะเร็ง เป็นต้น ยารักษาตามเป้าหมายบางชนิดออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งและยับยั้งการสร้างเส้นเลือดใหม่ที่มาเลี้ยงเซลล์มะเร็ง ได้แก่ ยาโซราเฟนิบ ใช้รักษาโรคมะเร็งตับและมะเร็งไต ยาซูนิทินิบรักษาโรคมะเร็งไตและมะเร็งจิสต์ที่ดื้อยาอิมาทินิบ
การใช้ยารักษาตามเป้าหมายร่วมกับยาเคมีบำบัด
ยาเคมีบำบัดเป็นยาต้นตำรับที่ออกฤทธิ์ยับยั้งและทำลายเซลล์มะเร็ง มีต้นกำเนิดมาจากแก๊สพิษที่ใช้ในสงครามโลกครั้งที่1 และ 2 ปัจจุบันการรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัดเริ่มเข้าสู่ทางตัน เพราะพิษผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดต่อเนื้อเยื่อปกติ
วิธีการพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งด้วยยาเคมีบำบัด คือ การผสมผสานยาเคมีบำบัดใช้ร่วมกับยารักษาตามเป้าหมาย พบว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาโรคมะเร็งได้ดียิ่งขึ้นโดยไม่เคยพบมาก่อน โดยให้พร้อมกันหรือใช้เป็นยาสูตรที่สองหรือสามหลังจากที่ผู้ป่วยดื้อยาเคมีบำบัดแล้ว ดังเช่น ในโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะแพร่กระจาย การใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับยารักษาตามเป้าหมาย พบว่าการใช้ยาสูตรที่สองและสามหลังจากดื้อยาสูตรแรก สามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตผู้ป่วยจากเพียงหนึ่งปีเศษยาวนานขึ้นถึง 27 เดือน
ในปัจจุบันนี้ โรคมะเร็งปอดที่ดื้อยาเคมีบำบัดก็สามารถรักษาต่อเนื่องได้ด้วยยายับยั้งปัจจัยการกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง นอกจากนั้นยังสามารถใช้ยาเคมีบำบัดกับยารักษาตามเป้าหมายเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรคภายหลังการผ่าตัดได้ เช่น โรคมะเร็งเต้านมชนิดเฮอร์ทู ภายหลังการผ่าตัดมีการใช้ยาเคมีบำบัดเสริมภายหลังการผ่าตัด ติดตามด้วยการฉีดยาต้านยีนมะเร็งเฮอร์ทู เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรคภายหลังการรักษา
การรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ด้วยยารักษาตามเป้าหมาย
1. มะเร็งตับ เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับที่หนึ่งของคนไทย จากการศึกษามานานกว่า 30 ปี ไม่พบว่ายาเคมีบำบัดสามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตองผู้ป่วยมะเร็งตับได้ การรักษาส่วนใหญ่ใช้วิธีการผ่าตัดหรือฉีดยาเข้าตับ ผู้ป่วยส่วนมากมาพบแพทย์ในระยะที่เป็นมากผ่าตัดหรือเปลี่ยนตับไม่ได้แล้ว เมื่อมีการค้นพบยารักษาตามเป้าหมายชื่อ โซลาฟินิบ พบว่าสามารถเพิ่มระยะเวลามีชีวิตปลอดการกำเริบของโรค และเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้
2. มะเร็งไต เดิมการรักษาโรคมะเร็งไตที่ผ่าตัดไม่ได้ รักษาด้วยยาอิมมูนบำบัด เช่น ยาอินเตอเฟียรอน หรือยาเคมีบำบัด แต่ผลการรักษาไม่ดี มีอัตราการตอบสนองต่ำ ต่อมามีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างยารักษาตามเป้าหมาย ชื่อ โซลาฟินิบ หรือ ยาซูนิทินิบ พบว่าได้ผลการรักษาที่ดีกว่ายาอินเตอเฟียรอน
3. มะเร็งเต้านม ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิดเฮอร์ทู มีการดำเนินโรคที่รุนแรงดื้อยาเคมีบำบัด และเสียชีวิตในเวลาอันสั้น ปัจจุบันพบว่ามะเร็งเฮอร์ทู ถ้ารักษาด้วยยาเคมีบำบัดร่วมกับยาต้านยีนมะเร็งเฮอร์ทูชื่อยา ทราสทูซูแมบ ให้ผลการรักษาดีกว่าการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ยายังยับยั้ง เช่น บีวาซิซูแมบ ร่วมกับยาเคมีบำบัดดีกว่ายาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว โดยเพิ่มการปลอดการกำเริบของโรค
4. มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรัง ปัจจุบันนี้ยาต้านยีนมะเร็ง BCR-ABL เป็นยามาตรฐานในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดนี้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีผลข้างเคียงน้อย
5. มะเร็งจีสต์ ซึ่งเป็นมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนเกิดในช่องท้องไม่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด พบว่าเกิดจากยีนมะเร็ง c-kit ซึ่งสามารถยับยั้งได้โดยยาอีมาทินิบ ถ้าดื้อยาอิมาทินิบสามารถรักษาต่อเนื่องได้ด้วยยา โซลาฟินิบ
6. มะเร็งต่อมน้ำเหลือง สามารถรักษาได้ด้วยยารักษาตามเป้าหมายชื่อ ไรทูซิแมบ ร่วมกับยาเคมีบำบัดหลายชนิด นอกจากนี้ มียาเซวารินติดฉลากสารรังสีใช้รักษาได้ด้วย
7. มะเร็งลำไส้ใหญ่ ปัจจุบันพบว่าการใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับยายับยั้งการสร้างเส้นเลือดใหม่ที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็งชื่อยา บีวาซิซูแมบ ให้ผลการรักษาดีกว่าการใช้ยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว และเมื่อโรคดื้อยาเคมีบำบัดสามารถรักษาต่อได้ด้วยยายับยั้งปัจจัยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ชื่อยา เซทูซิแมบ ซึ่งอาจใช้เป็นยาเดี่ยวหรือใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด
8. มะเร็งของศีรษะและคอ การฉายแสงรังสีรักษาร่วมกับยายับยั้งปัจจัยการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งชื่อยา เซทูซิแมบ ให้ผลการรักษาด้วยการฉายแสงรังสีรักษาอย่างเดียว
9. มะเร็งปอด พบมะเร็งปอดมากเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งตับในผู้ชายไทย ยาเคมีบำบัดมีประสิทธิภาพจำกัดในการรักษาโรคมะเร็ง เมื่อใช้ยายับยั้งเส้นเลือดร่วมกับยาเคมีบำบัด พบว่าได้ผลดีกว่ายาเคมีบำบัด และเมื่อผู้ป่วยดื้อยาเคมีบำบัด การใช้ยายับยั้งตัวรับปัจจัยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ สามารถยืดชีวิตผู้ป่วยได้ยืนยาวขึ้น มีรายงานจากการศึกษาในการประชุมประจำปีของสมาคมโรคมะเร็งประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 พบว่า การใช้ยายับยั้งปัจจัยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งปอด ชื่อยา เซทูซิแมบ ร่วมกับยาเคมีบำบัด สามารถยืดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งปอดที่เป็นมากดีกว่ายาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว
ในอนาคตอันใกล้นี้จะมียาใหม่อีกจำนวนมากที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็ง ในกลุ่มยารักษาตามเป้าหมาย และมีผลข้างเคียงน้อยต่อเนื้อเยื่อปกติทำให้ผู้ป่วยมะเร็งหายขาดได้มากขึ้นมีชีวิตยาวนานขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย
ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ฟรี คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011
Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้