วันที่ 12-06-2019 | อ่าน : 1519
แม้อาการท้องผูกจะไม่ใช่โรคที่อันตราย แต่หากละเลยจนท้องผูกเรื้อรังเป็นเวลานานอาจนำไปสู่ภาวะภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง เช่น แผลในลำไส้ใหญ่ ริดสีดวงทวารหนัก เป็นต้น ตลอดจนบางครั้งอาจเป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
ภาวะท้องผูก คือการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ อุจจาระแข็งและแห้ง ใช้เวลานานกว่าจะขับถ่ายเสร็จ และเมื่อถ่ายเสร็จแล้วยังรู้สึกเหมือนยังถ่ายไม่สุด ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจาก ความเครียด การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย หรือมีปริมาณที่ไม่เพียงพอ ดื่มน้ำน้อย ขาดการออกกำลังกาย เคยชินกับการรับประทานยาระบายหรือสวนอุจจาระเองบ่อยๆ ชอบกลั้นอุจจาระ หรืออาจเกิดจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยาลดกรด และยาลดความดัน รวมถึงโรคประจำตัวบางโรคที่ส่งผลต่อการขับถ่าย เช่น เบาหวาน พากินสัน เส้นเลือดในสมองตีบ
สำหรับผู้ที่ถ่ายอุจจาระยากหรือมีอาการท้องผูกเป็นประจำ หากมีลักษณะอุจจาระเปลี่ยนไปควรรีบพบแพทย์ทันที โดยสามารถสังเกตอาการเบื้องต้น หากอุจจาระมีเลือดปน มีลักษณะ สี หรือขนาดเปลี่ยนไป ขณะขับถ่ายมีเลือดออกทางทวารหนัก ปวดถ่ายอุจจาระบ่อยขึ้นจากปกติ คลำพบก้อนในช่องท้อง รู้สึกปวดเบ่งบริเวณทวารหนักคล้ายปวดอุจจาระตลอดเวลาน้ำหนักลดโดยไม่ทราบเหตุ หรือมีภาวะซีด อ่อนเพลีย ปวดท้องอย่างรุนแรง แต่ไม่ถ่ายอุจจาระ หรือไม่ผายลม อาการเหล่านี้อาจเป็นอาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่
ภาวะท้องผูกสามารถป้องกันได้โดยออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้ได้วันละ 8-10 แก้ว หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่ สำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูก นักโภชนาการแนะนำว่าในแต่ละวันควรรับประทานกากใยในอาหารอย่างน้อยวันละ 30 กรัม หมั่นสังเกตจากอุจจาระ หากมีลักษณะอ่อนและลอยน้ำแสดงว่าเรารับประทานใยอาหารได้เพียงพอ แต่ถ้าอุจจาระเป็นก้อน ควรรับประทานผักและผลไม้เพิ่ม ฝึกการขับถ่ายให้ได้อย่างน้อยทุกวัน และไม่กลั้นอุจจาระโดยไม่จำเป็น
อาหารป้องกันท้องผูก
การปรับอาหารและเปลี่ยนพฤติกรรมการขับถ่ายให้เหมาะสมอาจช่วยแก้ปัญหาท้องผูกเรื้อรังได้ แต่ยังคงมีอีกหลายปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งตาม American Cancer Society กำหนดช่วงอายุที่ควรเข้ามาตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่อยู่ที่ 45 ปี หรือหากมีประวัติครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ ก็สามารถเข้ารับการตรวจก่อนอายุ 45 ปีได้ โดยวิธีการตรวจคัดกรองที่แพทย์นิยมใช้ในปัจจุบัน คือ การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ โดยการใช้เทคนิคจากญี่ปุ่น ที่มีความแม่นยำขึ้น 2 เท่า
ข้อมูลจาก นพ. อนุพงศ์ ตั้งอรุณสันติ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011
Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้