วันที่ 10-06-2019 | อ่าน : 2545
ในทุกวันนี้ เรามักจะได้ยินกันว่าการตรวจสุขภาพประจำปีของโปรแกรมต่างๆ จะมีการตรวจเลือดหามะเร็งกันเป็นประจำ และนอกจากนี้ บางครั้ง เวลาที่มีความผิดปกติ เช่น เลือดออก หรือมีก้อน และสงสัยว่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่ ผู้คนส่วนใหญ่มักจะถามแพทย์ที่ดูแลว่าตรวจเลือดดูว่าเป็นมะเร็งได้หรือไม่ เพราะดูเหมือนจะเป็นวิธีการที่น่าจะสะดวก หรือ เจ็บตัวน้อยที่สุด ... ในความเป็นจริงแล้ว เราสามารถตรวจเลือดหามะเร็งได้หรือไม่?
ตรวจเลือดหามะเร็ง เขาตรวจหาอะไรกัน
การตรวจเลือดชนิดต่างๆ เพื่อหามะเร็ง เช่น ตรวจ CEA, PSA, CA 15-3, Alpha-fetoprotein (AFP) ฯลฯ ที่เราได้ยินจากโปรแกรมการตรวจเลือดต่างๆนั้น เป็นการตรวจหา Tumor marker (สารบ่งชี้มะเร็ง)
Tumor markers (สารบ่งชี้มะเร็ง) คืออะไร
ในภาวะที่เซลล์ของร่างกายมีความผิดปกติ เกิดการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นมะเร็ง กลไกควบคุมการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนของเซลล์จะเสียไป ทำให้เซลล์นั้นๆแบ่งตัวเพิ่มขึ้นอย่างควบคุมไม่ได้ และเกิดการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมภายในเซลล์ เป็นผลให้มีการสร้างสารแอนติเจน หรือสาร macromolecule อื่นๆ เช่น ฮอร์โมน หรือ เอ็นซัมย์ ที่ไม่เหมือนเซลล์ปกติ แอนติเจนเหล่านี้นอกจากจะพบอยู่ภายในเซลล์และบนผิวของเซลล์แล้ว เซลล์มะเร็งยังสามารถปลดปล่อยสารดังกล่าวออกสู่กระแสเลือด หรือสารคัดหลั่ง (biological fluid) อื่นๆ ได้อีกด้วย ซึ่งสารต่างๆ ที่เกิดจากเซลล์มะเร็งเหล่านี้ รวมเรียกว่าเป็น tumor marker หรือ สารบ่งชี้มะเร็ง สารเหล่านี้สามารถตรวจหาได้จากเลือด หรือ สารคัดหลั่ง เช่น น้ำในช่องท้อง (ascetic fluid) น้ำในช่องปอด (pleural fluid) ของผู้ป่วยรายนั้นๆ ด้วยการใช้วิธีการทางห้องปฏิบัติการที่มีความไวสูงพอ
โดยทั่วไป แอนติเจนหรือสารที่สร้างโดยเซลล์มะเร็งนี้ อาจแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1. Tumor-specific antigen (TSA): แอนติเจนเฉพาะกับมะเร็ง พบเฉพาะในเซลล์มะเร็งเท่านั้น ไม่พบในเซลล์ปกติ แต่มักเป็นสารที่มีคุณสมบัติในการตอบสนองและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้ตรวจหาทางห้องปฏิบัติการได้ยากมาก
2. Tumor-associated antigen (TAA): แอนติเจนที่เกี่ยวกับมะเร็ง อาจพบได้ทั้งในเซลล์มะเร็ง และเซลล์ปกติในบางระยะของพัฒนาการ ซึ่งในคนทั่วไป ก็อาจพบได้ เนื่องจากสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor marker) ที่มีการตรวจในทางคลินิกในปัจจุบัน เป็นสารในกลุ่ม tumor-associated antigen ทั้งสิ้น ดังนั้นประเด็นสำคัญที่ต้องทราบ คือ Tumor marker ไม่มีความจำเพาะต่อมะเร็ง
ประเด็นควรรู้เกี่ยวกับสารบ่งชี้มะเร็ง (tumor marker)
อาจตรวจพบระดับ tumor marker ในปริมาณต่ำๆ ได้ในคนปกติ และ/หรือ ผู้ป่วยที่มีการอักเสบ และ/หรือ มีพยาธิสภาพอื่นๆ ที่ไม่ใช่มะเร็ง (benign disease) ของอวัยวะที่เป็นแหล่งสร้าง tumor marker นั้นๆ
การตรวจพบระดับ tumor marker สูงกว่าปกติเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถบอกได้ว่าผู้ป่วยรายนั้นเป็นมะเร็งอย่างแน่นอน แต่จำเป็นต้องพิจารณาร่วมไปกับผลการตรวจทางคลินิกและผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ การตรวจซ้ำเป็นระยะ (follow up) เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อศึกษาดูว่าระดับของ tumor marker ดังกล่าวมีแนวโน้มเป็นเช่นไร ถ้าตรวจซ้ำแล้วพบว่าระดับ tumor marker สูงขึ้นเป็นลำดับ จะเป็นเครื่องชี้แนะให้สงสัยโรคมะเร็งมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าตรวจซ้ำแล้วระดับลดลง น่าจะบ่งชี้ว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคมะเร็ง
ระดับ tumor marker ที่ตรวจวัดด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน และ/หรือ ใช้วิธีการเดียวกันแต่ใช้ชุดน้ำยาตรวจ (diagnostic test kit) ต่างกัน อาจให้ค่าที่มีความแตกต่างกันได้ ดังนั้น การติดตามผลการทดสอบ (follow up) ควรพิจารณาจากผลการตรวจของห้องปฏิบัติการเดียวกันทุกครั้ง
ประโยชน์ของสารบ่งชี้มะเร็ง (tumor marker) ในทางคลินิก
1. ช่วยวินิจฉัยโรคมะเร็ง โดยต้องพิจารณาร่วมไปกับประวัติ, การตรวจร่างกาย, การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการตรวจทางการแพทย์อื่นๆ เช่น X-ray, ultrasound เป็นต้น
การตรวจพบระดับ tumor maker สูงกว่าปกติเพียงอย่างเดียว ยังไม่สามารถให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งได้ แต่หากตรวจติดตามระดับของ tumor marker เป็นระยะๆ ต่อไป และพบว่าระดับ tumor marker มีค่าสูงขึ้นเป็นลำดับ แสดงว่าน่าสงสัยว่าจะเป็นโรคมะเร็ง
แต่ถึงแม้ตรวจ tumor marker แล้วพบว่าระดับอยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็ไม่ได้ยืนยันแน่นอนว่าบุคคลผู้นั้นไม่ได้เป็นมะเร็ง เนื่องจากระดับ tumor marker มักจะสัมพันธ์กับขนาดหรือระยะของโรคมะเร็ง ดังนั้นผู้ป่วยมะเร็งระยะเริ่มแรก จึงยังอาจพบระดับ tumor marker ปกติได้
2. ช่วยตรวจกรอง (screening) โรคมะเร็งบางชนิดในคนที่มีความเสี่ยงสูง ในปัจจุบันมี tumor marker เพียง 2 ชนิดเท่านั้น ที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถใช้ตรวจกรองโรคมะเร็งในคนที่มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งบางชนิดสูงได้ ได้แก่ Alpha-fetoprotein (AFP) ในคนที่เป็นตับอักเสบเรื้อรัง (chronic hepatitis), hepatitis B carrier, ตับแข็ง (cirrhosis) เพื่อตรวจกรองภาวะมะเร็งตับ และ Prostate specific antigen (PSA) ในผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในรายที่มีปัญหาปัสสาวะลำบาก เพื่อตรวจกรองภาวะมะเร็งต่อมลูกหมาก
3. ใช้ติดตามผลการรักษาและการกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็ง เป็นประโยชน์ที่นิยมใช้มากที่สุดของ tumor marker ที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยผู้ป่วยมะเร็งที่ตรวจพบว่ามีระดับ tumor marker สูงตั้งแต่เมื่อแรกวินิจฉัย หลังจากได้รับการรักษาแล้ว ระดับ tumor marker ที่เคยสูงอยู่เดิม ควรค่อยๆ ลดลงมาจนถึงระดับปกติ แต่ถ้าระดับ tumor marker ที่เคยลดลงหลังการรักษา กลับมีค่าสูงขึ้นเป็นลำดับอย่างต่อเนื่องอีกครั้ง แสดงว่าน่าจะมีการกลับเป็นใหม่ของโรคมะเร็ง โดยการเปลี่ยนแปลงของระดับ tumor marker ที่ขึ้นสูงภายหลังการรักษา มักตรวจพบได้ก่อนที่จะตรวจพบอาการแสดงทางคลินิก เฉลี่ยประมาณ 2-6 เดือน
4. พยากรณ์โรค เนื่องจากระดับ tumor marker จะแปรผันตามระยะของโรคมะเร็ง ดังนั้นถ้าตรวจพบระดับ tumor marker สูงมาก แสดงว่ามะเร็งน่าจะมีขนาดใหญ่ หรือมีการแพร่กระจายแล้ว
5 อาจนำไปใช้ช่วยในการเลือกวิธีการรักษาโรคมะเร็ง เช่น การตรวจหา estrogen receptor และ progesterone receptor ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เพื่อเลือกที่จะให้การรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมน เป็นต้น
สารบ่งชี้มะเร็ง (tumor marker) ที่ตรวจกันบ่อยๆ ได้แก่
สรุป
การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง หรือ tumor marker จากเลือด เป็นการตรวจหาสารที่ผลิตจากเซลล์มะเร็ง ซึ่งอาจมีความแม่นยำไม่สูงมากนัก แต่สามารถช่วยแพทย์ได้ในการตรวจหามะเร็งบางกรณี หากพบมีการเปลี่ยนแปลงระดับต่อเนื่องในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง หรืออาจใช้ช่วยติดตามการรักษา หรือบอกการพยากรณ์โรคได้ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดของ tumor marker ชนิดต่างๆ ได้จากบทความ สารบ่งชี้มะเร็ง (tumor marker) ที่ควรรู้จัก
ข้อมูลจาก ผศ.พญ.ศันสนีย์ เสนะวงษ์ ภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011
Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้