วันที่ 31-05-2019 | อ่าน : 1331
บุหรี่มีสารเคมีและสารพิษรวมกันมากกว่า 4,000 ชนิด รวมถึงมีสารก่อมะเร็งอีกมากกว่า 60 ชนิด ยิ่งสูบบุหรี่ในปริมาณมากและสูบติดต่อกันเป็นเวลานาน ย่อมเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคร้ายมากมาย ทั้งมะเร็ง ถุงลมโป่งพอง ปอดบวม โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคเบาหวาน
1. มะเร็ง
จากสถิติในประเทศไทย มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 2 ในผู้ชาย อันดับ 4 ในผู้หญิง และเป็นมะเร็งที่มีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 เนื่องจากมักพบเมื่อเป็นระยะกระจายไปตามอวัยวะต่างๆ แล้ว โดยสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปอด คือการสูบบุหรี่
นอกจากนี้สารพิษในควันบุหรี่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเกือบทุกชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ฯลฯ
ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง หรือสูบบุหรี่มากกว่า 2 ซองต่อวัน ติดต่อกันนานกว่า 15 ปี ควรเข้ารับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อดูว่าเป็นมะเร็งปอดหรือไม่ หากตรวจพบในระยะแรกมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้
2. ถุงลมโป่งพอง
ภายในปอดของคนเราประกอบด้วยถุงลมเล็กๆ จำนวนมากมาย ทำหน้าที่ฟอกเลือด และถ่ายออกซิเจนให้เลือดดำ หากสูบบุหรี่จำนวนมากเป็นระยะเวลานาน ควันที่มีสารพิษจะไปทำลายผนังถุงลม ส่งผลให้เกิดภาวะถุงลมบวมอักเสบ และฉีกขาด ไม่สามารถฟอกเลือดได้ตามปกติ เมื่อไม่สามารถรับออกซิเจนได้เพียงพอ จะทำให้มีอาการหอบเหนื่อย
ผู้ป่วยถุงลมโป่งพองยังอาจพบอาการหัวใจเต้นเร็ว น้ำหนักลด เกิดภาวะซึมเศร้า และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โรคถุงลงโป่งพองในระยะรุนแรงจะทำให้ผู้ป่วยทรมานมาก เนื่องจากภาวะเหนื่อยมากจนต้องนอนติดเตียง หรือต้องได้รับออกซิเจนตลอดเวลา ดังนั้นหากผู้สูบบุหรี่มีอาการหายใจตื้น หรือเหนื่อยง่ายติดต่อกัน ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยก่อนที่โรคจะรุนแรง
3. ปอดบวม
โรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ คือ ภาวะติดเชื้อในปอด จาก 2 สาเหตุ คือ ปอดอักเสบจากการติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา และปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เกิดจากการหายใจเอาสารที่ทำให้ระบบทางเดินหายใจระคายเคือง เช่น ฝุ่น สารเคมี โดยเฉพาะควันบุหรี่ มีอาการหายใจลำบาก ไม่สบายตัว บางกรณีอาจมีไข้ หรืออาการคล้ายเป็นหวัด เช่น ปวดศีรษะ หนาวสั่น ไอ และเจ็บคอ หากอาการรุนแรงอาจเจ็บหน้าอก อาเจียน และมีเสมหะปนเลือด
โรคปอดบวมมักพบในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีภูมิต้านทานต่ำ หากการติดเชื้อรุนแรงอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ รวมถึงได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่น
4. โรคหัวใจและหลอดเลือด
สารพิษในบุหรี่ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจผิดจังหวะ และทำให้เส้นเลือดแดงตีบแคบ รวมถึงเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจหยุดพัก และขณะออกกำลังกาย
แม้สูบบุหรี่เพียงไม่กี่มวนต่อวัน ก็ส่งผลให้หัวใจและหลอดเลือดเสียหาย จากการศึกษาพบว่าผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจประมาณ 20% มีความเชื่อมโยงกับการสูบบุหรี่โดยตรง โดยเฉพาะผู้ที่ทานยาคุมกำเนิดหรือเป็นโรคเบาหวาน หากสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
5. โรคเบาหวาน
จากงานวิจัยของศูนย์การแพทย์ทางทหารเบอร์มิ่งแฮม (Birmingham) รัฐอลาบามา พบว่าอาสาสมัคร 22% ของกลุ่มคนที่สูบบุหรี่มีภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดโรคเบาหวาน และ 17% ของกลุ่มอาสาสมัครที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลย แต่ได้รับควันบุหรี่เสมอๆ เริ่มจะมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่เคยสูบบุหรี่ และเลิกสูบไปแล้วกลับมีแค่เพียง 14% ส่วนกลุ่มที่ไม่สูบบุหรี่และไม่ได้รับควันสูบบุหรี่เลย มีเพียง 11.5%
จากผลการวิจัยนี้เองทำให้เห็นว่าบุหรี่และควันบุหรี่มีผลต่อน้ำตาลในเลือดและโรคเบาหวาน เนื่องจากสารพิษในบุหรี่ สามารถเข้าไปสะสมอยู่ที่ตับอ่อน ทำให้ตับอ่อนทำงานได้น้อยลง จนเกิดเป็นโรคเบาหวาน
นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่สูบบุหรี่มีแนวโน้มควบคุมโรคได้ยากและเกิดปัญหากับการใช้อินซูลินมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่สูบบุหรี่ รวมถึงเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น โรคไต ปลายประสาทอักเสบ และเบาหวานขึ้นตา แพทย์จึงมักแนะนำให้ผู้ป่วยเลิกสูบบุหรี่ รับประทานอาหารไขมันต่ำ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมถึงรับประทานยาและพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ เพื่อช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
นอกจากโรค ที่เกิดจากการสูบบุหรี่แล้ว โทษของบุหรี่ยังมีอีกมากมาย ส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางร่างกายต่างๆ เช่น ฟันผุ ฟันมีคราบดำ มีกลิ่นปาก กลิ่นตัว เล็บเหลือง ทำให้ผิวหยาบกร้าน ผมหงอก และแก่ก่อนวัย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเข้าสังคมและการใช้ชีวิตประจำวัน จนอาจต้องประสบกับภาวะซึมเศร้า หรือประสบกับโรคที่อาจคร่าชีวิตได้ในที่สุด
ข้อมูลจาก : โรงพยาบาลสมิติเวช
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011
Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้