การให้เคมีบำบัดทางหลอดเลือดแดง

วันที่ 27-05-2010 | อ่าน : 60121


การให้เคมีบำบัดทางหลอดเลือดแดง
Transarterial Oily Chemoembolization (TOCE หรือ TACE)

 

สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับเคมีบำบัด - Art for Cancer by Ireal


      ถือเป็นวิธีการรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน  ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถให้การรักษาโดยการทำการผ่าตัดได้ (การรักษาโดยการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกได้หมดถือเป็นการรักษาหลักที่ยอมรับกันว่าดีที่สุด)  การทำ TOCE คือ การรักษาด้วยการให้สารเคมีบำบัดเฉพาะที่  ผ่านทางหลอดเลือดแดงเข้าไปสู่บริเวณที่มีโรคอยู่โดยตรงแล้วอุดกั้นหลอดเลือดนั้น  เพื่อไม่ให้เลือดกลับไปเลี้ยงก้อนเนื้องอกได้อีก  โดยการใส่สายสวนเล็กๆ เข้าไปทางหลอดเลือดแดงที่บริเวณขาหนีบหรือรักแร้  แล้วบังคับให้สายสวนเคลื่อนไปสู่หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนเนื้องอกที่ตับ  โดยอาศัยจอเรืองแสง-ทีวี เป็นตัวชี้นำทาง  ร่วมไปกับการฉีดสารทึบรังสีเป็นระยะๆ  เมื่อได้เส้นเลือดที่ต้องการแล้ว  แพทย์จะฉีดสารเคมีบำบัดที่เตรียมขึ้นเป็นพิเศษเข้าไปสู่ก้อนเนื้องอกของตับ  แล้วจึงฉีดสารอีกชนิดหนึ่งให้อุดกั้นหลอดเลือดแดงทีไปสู่ก้อนเนื้องอกนั้น  ก้อนเนื้องอกจึงถูกทำลายด้วยสารเคมีบำบัดและการขาดเลือดไปเลี้ยง
 

      ส่วนใหญ่จะใช้วิธีนี้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งตับที่ไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้  เช่น  ผู้ป่วยสูงอายุ  ผู้ป่วยที่มีก้อนเนื้องอกโตและอยู่ใกล้กับหลอดเลือดขนาดใหญ่ของตับ  ซึ่งการผ่าตัดมีอัตราเสี่ยงสูง  การรักษาด้วยวิธีนี้จะช่วยลดขนาดและความรุนแรงของโรค  ลดความเจ็บปวด  ป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดร่วมด้วย  เช่น การตกเลือด  ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวได้  ในบางรายเมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้จนขนาดของก้อนเนื้องอกเล็กลง  จะสามารถนำไปผ่าตัดเอาเนื้องอกออกได้โดยปลอดภัย
 

     แต่อย่างไรก็ตามพบว่าเซลล์มะเร็งบางส่วนอาจเหลืออยู่  และก่อตัวขึ้นอีกโดยการกระตุ้นให้เนื้อเยื่อปกติที่อยู่ข้าง เคียงสร้างหลอดเลือดใหม่เข้ามาเลี้ยงตัวมันได้อีก ดังนั้น TOCE หรือ TACE จึงจำเป็นต้องทำซ้ำอีกเป็นระยะๆ ห่างกันประมาณ 45-60 วัน เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่
 

     ปัจจุบันยังมีการใช้สารกัมมันตภาพรังสีบางชนิดฉีดเข้าไปทางสายสวนที่อยู่ในหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงเนื้องอกเพื่อทำการรักษา แทนการทำ TACE ได้ด้วยเช่นกัน แต่วิธีการทำจะต้องยุงยากมากขึ้นและค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้นด้วย แต่ก็มีรายงานทางการแพทย์ว่าได้รับผลดี
 

ข้อบ่งชี้การทำ TACE :
ในการรักษาด้วยวิธี TACE แพทย์จะต้องพิจารณา ดังนี้
1. มีก้อนขนาดใหญ่ ลุกลาม หรือมีหลายก้อน
2. ไม่สามารถผ่าตัดได้เนื่องจากจะเหลือพื้นที่ตับน้อย หรือมีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดสูง
3. ต้องการลดขนาดก้อนเพื่อไปทำการผ่าตัดตับ หรือการเปลี่ยนตับ
4. เพื่อการรักษาแบบประคับประคอง และการรักษาตามอาการ โดยจะพิจารณาใน 2 ประเด็น ได้แก่
- ช่วยลดอาการปวดเนื่องจากก้อนขนาดใหญ่
- อุดหลอดเลือดแดงในกรณีมีการแตกของเส้นเลือดในตับ
 

ข้อห้ามต่อการทำ TACE :
แบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบได้แก่ absolute และ relative contra-indications ดังนี้
Absolute contraindications
1. ผู้ป่วยได้รับการประเมินเป็น Child-Pugh class C หรือ Okuda’s class III
2. ผู้ป่วยมี Portal vein occlusion เนื่องจาก epatofugal flow
3. มีการแพร่กระจายไปยังนอกตับ (Extrahepatic metastasis)

Relative contraindications
1. ผู้ป่วยมีผลเลือดที่ไม่ดี หรือเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว
2. ผู้ป่วยมีอาการโรคหัวใจ หรือโรคไต
3. ผู้ป่วยมีผลเลือดไม่ดีและไม่อาจแก้ไขได้
4. ผู้ป่วยมีลักษณะเส้นเลือดที่ไม่ปกติ หรือมีโรคทางหลอดเลือดที่จะเพิ่มความเสี่ยงจากหัตถการ เช่น มีความเสี่ยงในการที่ยาเคมีบำบัดจะกระจายไปยังอวัยวะอื่นในช่องท้องเนื่องจากหลอดเลือดเชื่อมต่อกัน
 

ข้อจำกัดในการทำ TACE :
     ในการพิจารณารับทำ TACE นั้นรังสีแพทย์จะพิจารณาถึงข้อจำกัดต่างๆ ที่ทำให้ไม่อาจทำหัตถการหรือผลของหัตถการเกิดความไม่คุ้มค่าต่อความเสี่ยงจากหัตถการ โดยข้อจำกัดได้แก่
1. ก้อนเนื้อเป็นแบบไม่มี capsule (Noncapsulated tumor) หรือก้อนมีการแพร่ออกไปจาก capsule (tumor extension beyond capsule) ซึ่งจะทำให้ก้อนตายไม่หมด
2. ก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่กว่า 4 เซนติเมตร
3. ก้อนเนื้ออยู่ในตำแหน่งที่ใกล้ผิวตับ ซึ่งจะได้รับเลือดจากระบบเลือดอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ผลต่อเคมีบำบัดไม่สมบูรณ์
4. มีการกระจายของมะเร็งออกนอกตับ ชนิดไม่อาจควบคุมได้
5. มีหลอดเลือดอุดตันเนื่องจากการให้เคมีบำบัดผ่านหลอดเลือดในครั้งก่อน
 

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการรักษา :
1. แพทย์จะรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลก่อนการรักษา 1 วัน เพื่อเตรียมตัวให้พร้อม เช่น
       - ทำความสะอาดและโกนขนบริเวณที่แพทย์จะใส่หลอดสวนหลอดเลือด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณขาหนีบหรือรักแร้ข้างซ้าย
       - เจาะเลือดเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
       - ซื้อยาและอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นในการตรวจรักษา
2. ผู้ป่วยต้องเซ็นใบยินยอมเพื่อรับการตรวจและรักษา
3. ผู้ป่วยต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมง 
4. ก่อนตรวจผู้ที่มีประวัติแพ้อาหารทะเล โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด ต้องแจ้งให้พยาบาล หรือแพทย์ทราบทันทีก่อนตรวจ
 

การปฏิบัติตัวภายหลังการตรวจรักษา :
1. นอนราบบนเตียงห้ามงอขา  หรือใช้แขนหรือขาข้างที่แพทย์ใส่หลอดสวนหลอดเลือดอย่างน้อย 8 ชั่วโมง  เพื่อป้องกันการตกเลือดที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการตรวจได้
2. สังเกตบริเวณที่แพทย์ใส่หลอดสวนทุก 15 นาที  ถ้าพบว่ามีเลือดซึมที่ผ้าปิดแผลต้องรีบแจ้งพยาบาลทราบทันที  เพื่อช่วยห้ามเลือดให้
3. สังเกตบริเวณปลายมือปลายเท้าข้างที่แพทย์ใส่หลอดสวน  ถ้ามีอาการปวดชา  ผิวหนังเย็นและมีสีคล้ำ ต้องรีบแจ้งพยาบาลทราบทันที
4. ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดบริเวณตับเนื่องจากหลอดเลือดถูกอุดกั้น  สามารถรับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ
5. ดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้สารทึบรังสีถูกขับออกจากร่างกายโดยเร็ว
6. หลังจาก 24 ชั่วโมงไปแล้ว พยาบาลจะเปิดผ้าปิดแผลออก และเช็ดแผลด้วยสำลีชุบแอลกอฮอล์ 70% หรือน้ำยาเบตาดีน เช้า-เย็น ผู้ป่วยควรระวังอย่าให้แผลถูกน้ำจนกว่าแผลจะหาย
 

การปฏิบัติตัวเมื่อกลับบ้าน  :
1. ดูแลแผลบริเวณที่แพทย์ใส่หลอดสวน อย่าให้ถูกน้ำ ทำความสะอาดแผลโดยใช้สำลีชุบน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ 70 % หรือน้ำยาเบตาดีน เช็ดวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น จนกว่าแผลจะหาย
2. รับประทานยาตามแพทย์สั่ง
3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ข้าว เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ไข่ นม หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน ของหมักดอง และอาหารที่มีส่วนผสมของผงชูรส สารกันบูด ผงกรอบ เครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์
4. รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น
5. ออกกำลังกายแต่พอควร หรือทำงานเบาๆได้ เช่น รดน้ำต้นไม้ กวาดบ้าน ถูบ้าน ฯลฯ
6. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 8-10 ชั่วโมง
7. ทำจิตใจให้แจ่มใสไม่เครียด โดยหางานอดิเรกทำ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง พูดคุยกับเพื่อนบ้าน การฝึกทำสมาธิวันละ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง จะทำให้จิตใจสงบ และรู้สึกผ่อนคลาย
8. มาตรวจตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ ทุก 5-6 สัปดาห์

 
ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ฟรี คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078

 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
ความรู้มะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้