แนะรักษาสุขภาพช่วงฤดูฝน

วันที่ 27-05-2019 | อ่าน : 1681


         กระทรวงสาธารณสุข กำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั่วประเทศ เตรียมพร้อมเฝ้าระวังโรคติดต่อและภัยสุขภาพในช่วงฤดูฝน ส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่ทันทีหากเกิดการระบาด แนะประชาชนรักษาสุขภาพให้แข็งแรงป้องกันตนเองจาก 11 โรคติดต่อ 4 ภัยสุขภาพที่พบในบ่อยฤดูฝน

          นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศการป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ. 2562 ขอให้ระมัดระวังการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นได้จาก 11 โรคติดต่อ ใน 5 กลุ่มโรคที่พบได้บ่อย ได้แก่ โรคติดต่อทางระบบหายใจ คือ ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม โรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ คือ ไข้เลือดออกไข้สมองอักเสบ มาลาเรีย ไข้ปวดข้อยุงลาย โรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ คือ อหิวาตกโรค ไวรัสตับอักเสบเอ  โรคติดต่ออื่นๆ คือโรคมือ เท้า ปาก โรคเลปโตสไปโรซิส  และ 4 ภัยอันตราย คือ เห็ดพิษสัตว์มีพิษ ภัยจากฟ้าผ่า และอุบัติเหตุทางถนน

          “ขอให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของโรคในพื้นที่ หากพบโรคระบาดให้ส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) เข้าไปดำเนินการสอบสวน ควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ทันที รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชน เพื่อลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด” นายแพทย์สุขุม กล่าว

     ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า

     กลุ่มโรคที่ 1 เป็นโรคติดต่อทางระบบหายใจ ได้แก่โรคไข้หวัดใหญ่ พบได้ในทุกอายุ พบป่วยมากในเด็กเล็ก ส่วนผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง  ส่วนโรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ เกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อทางการสัมผัสน้ำมูก น้ำลายหรือไอจามรดกัน ป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำร่างกายให้อบอุ่น หมั่นล้างมือ ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น

     กลุ่มที่ 2 มี 5 โรคที่มียุงเป็นพาหะ ได้แก่ ไข้เลือดออก  ไข้สมองอักเสบ มาลาเรีย ไข้ปวดข้อยุงลาย โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ทั้งหมดป้องกันได้ด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด

     กลุ่มที่ 3 โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ได้แก่ อหิวาตกโรค เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนในอาหาร น้ำดื่ม หรือจากแมลงวันที่เป็นพาหะนำโรค ส่วนโรคไวรัสตับอักเสบเอ ติดต่อจากการสัมผัสสิ่งคัดหลั่ง น้ำลาย เลือดจากผู้ป่วย ทั้ง 2 โรคป้องกันด้วยการรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ไม่มีแมลงวันตอม อาหารค้างมื้อควรอุ่นให้ร้อนจัดก่อนรับประทาน หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ ดื่มน้ำสะอาด และฉีดวัคซีนป้องกันโรค

     กลุ่มที่ 4 โรคติดต่ออื่น ๆ ได้แก่ โรคมือ เท้า ปาก พบบ่อยในเด็ก ระบาดทุกปีช่วงฤดูฝนหรือเปิดเทอม ติดต่อจากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ป่วย ส่วนโรคเลปโตสไปโรซิส เชื้อแบคทีเรียจะเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผล รอยถลอก เยื่อบุตา จมูก ปาก หรือไชเข้าผิวหนังที่แช่น้ำนานจนอ่อนนุ่ม

     กลุ่มที่ 5 ภัยสุขภาพในฤดูฝน ได้แก่ อันตรายจากการรับประทานเห็ดพิษ ไม่รับประทานเห็ดที่ไม่รู้จัก อันตรายจากสัตว์มีพิษ ควรจัดบ้านให้สะอาด ไม่ให้เป็นที่หลบซ่อนของสัตว์มีพิษ ระวังเมื่อต้องเข้าไปในที่รก กอหญ้า หรือกองไม้  ส่วนภัยจากฟ้าผ่า เมื่อมีฝนตกฟ้าคะนอง ให้หลบในที่ปลอดภัย เช่น อาคารขนาดใหญ่ ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือกลางแจ้งในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เนื่องจากจะเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าเข้ามาในโทรศัพท์มือถือได้  ขับรถด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากฝนตกถนนจะลื่นทำให้ระยะการหยุดรถยาวกว่าปกติ และยังลดทัศนวิสัยการมองเห็นในการขับขี่

หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

 

ข้อมูลจาก : สสส.

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
ความรู้มะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้