วันที่ 22-04-2019 | อ่าน : 1807
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกรมควบคุมโรค ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ติดตามและตรวจสอบกรณีการเสียชีวิตของชายจังหวัดสุพรรณบุรี ที่บ่นอากาศร้อนและหักดิบหยุดดื่มเหล้า พร้อมเตือนประชาชนในช่วงอากาศร้อน เสี่ยงป่วยโรคฮีทสโตรกได้ง่าย โดยเฉพาะใน 6 กลุ่มเสี่ยง เน้นหลีกเลี่ยงการดื่มเหล้า เนื่องจากฤทธิ์แอลกอฮอล์ทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจทำงานหนักขึ้น อาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้
เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2562 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบโรค มอบหมายให้สำนักระบาดวิทยา สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อติดตามและตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับการเสียชีวิตของชายจังหวัดสุพรรณบุรี ที่บ่นอากาศร้อนและหักดิบหยุดดื่มเหล้า ซึ่งจากกรณีดังกล่าว กรมควบคุมโรคขอให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า การหักดิบหยุดดื่มเหล้ากะทันหัน ไม่ได้ทำให้เสียชีวิตแต่อย่างใด แต่อาจเกิดจากโรคแทรกซ้อนที่เป็นอยู่ ส่วนในรายที่ติดเหล้าขั้นรุนแรง ร่างกายอาจปรับสภาพไม่ทัน หากจะเลิกดื่มควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน เพื่อวางแผนในการเลิกดื่มเหล้า
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า ในช่วงนี้สภาพอากาศร้อนอบอ้าว ประชาชนอาจเจ็บป่วยจากอากาศร้อนได้ โดยเฉพาะโรคฮีทสโตรก (Heat stroke) ซึ่งเป็นภาวะวิกฤต ร่างกายไม่สามารถปรับตัว หรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายจากผลของสภาพอากาศที่ร้อนจัด อาการสำคัญได้แก่ ตัวร้อน อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิน 40 องศาเซลเซียส อาการสำคัญคือ หน้ามืด เพ้อ กระสับกระส่าย มึนงง หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชักเกร็ง ช็อก จนถึงหมดสติ และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้
สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป มี 6 กลุ่ม ได้แก่
1.ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น ออกกำลังกาย
2.เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบและผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว
3.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง
4.คนอ้วน
5.ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ โดยร่างกายของคนอ้วนและผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอจะตอบสนองต่อความร้อนที่ได้รับช้ากว่าปกติ
6.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัวได้มากขึ้น ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม ในสภาพอากาศที่ร้อนจัด แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้รวดเร็ว และออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย อาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า คำแนะนำในการดูแลสุขภาพตนเอง คือ สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ระบายความร้อนได้ดี อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ลดหรือเลี่ยงทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงกลางแจ้งนานๆ สวมแว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง กางร่ม ควรดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ เพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกายจากเหงื่อออก หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และไม่ทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดไว้กลางแจ้ง เนื่องจากอุณหภูมิภายในรถจะสูงกว่าภายนอก ส่วนผู้ที่ออกกำลังกาย ควรเลือกในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อนมาก ในผู้ที่มีโรคประจำตัวหากสงสัยผู้มีอาการเจ็บป่วยจากอากาศร้อน ควรให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยให้ดื่มน้ำเย็นและเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น ให้อยู่ในที่ระบายอากาศที่ดี ถ้ามีอาการรุนแรง หมดสติควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011
Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้