การดูแลผู้ป่วยที่รับการฝังแร่

วันที่ 27-05-2010 | อ่าน : 36583


การดูแลผู้ป่วยที่รับการฝังแร่


 

      การฝังแร่เพื่อรักษามะเร็ง (Brachytherapy) สามารถรักษามะเร็งได้หลายชนิด อาทิ มะเร็งปากมดลูก รังไข่ เยื่อบุมดลูก หลอดอาหาร ลำไส้ใหญ่ ปอด ฯลฯ

หลักการทั่วไปของการฝังแร่
  - Molds (surface application) แร่จะถูกวางแนบชิดไปตามผิวของก้อนมะเร็ง ได้แก่ มะเร็งบริเวณใบหูชั้นนอก มะเร็ง ผิวหนัง

  - Intracavitary brachytherapy เป็นการสอดใส่แร่เข้า ไปในโพรงของอวัยวะที่เป็นโรค โดยวางแร่ใกล้กับก้อนมะเร็ง ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งหลังโพรงจมูก

  - Intraluminal brachytherapy เป็นการ สอดใส่แร่ในหลอดหรือท่อของอวัยวะที่เป็นโรค ได้แก่ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งหลอดลม มะเร็งท่อน้ำดี

  - Interstitial brachytherapy เป็นการเสียบใส่แร่เข้าไปในก้อนมะเร็งโดยตรง ได้แก่ มะเร็งของช่องปาก เช่น (ลิ้น ริมฝีปาก) มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก

      โดยส่วนใหญ่เรามักจะคุ้นเคยการฝังแร่สำหรับผู้ที่มีก้อนมะเร็งของอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน ข้อมูลการดูแลในที่นี้จึงเน้นไปที่ผู้ป่วยกลุ่มนี้ แต่สำหรับกลุ่มอื่นๆ ก็สามารถนำหลักปฏิบัติดังข้างล่างนี้ ไปประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน

การเตรียมตัวก่อนฝังแร่
  • บำรุงร่างกายให้แข็งแรง เตรียมพร้อมสำหรับการฝังแร่
  • โดยปกติอาจมีการนัดวันเข้านอนโรงพยาบาลก่อนวันฝังแร่ 1-2 วัน หรือควรมาก่อนเวลานัด 30 นาที
  • ประเมินสภาพร่างกายโดยการตรวจเลือด ตรวจคลื่นหัวใจและเอกซเรย์ ก่อนวันฝังแร่
  • เย็นก่อนวัดนัด และเช้าวันนัดฝังแร่ ควรรับประทานอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม หรือโจ๊ก
  • ก่อนวันฝังแร่ เจ้าหน้าที่พยาบาลจะเตรียมบริเวณผิวหนังที่จะฝังแร่คล้ายการเตรียมผ่าตัด อาจต้องโกนขนบริเวณนั้นๆ และทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำยาระงับเชื้อ

ในวันฝังแร่
  • ในวันฝังแร่ เจ้าหน้าที่พยาบาลจะให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำและใส่สายสวนปัสสาวะคาไว้ วิสัญญีแพทย์จะฉีดยาชาที่ผิวหนังบริเวณไขสันหลังและใช้เข็มขนาดเล็กฉีดยาชาเข้าไปในช่องน้ำไขสันหลัง จากนั้นแพทย์รังสีรักษาจะใช้เข็มโลหะแทงเข้าไปในก้อนมะเร็ง จำนวนของเข็มขึ้นอยู่กับขนาดของมะเร็ง เจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคจะถ่ายฟิล์มไว้เพื่อกำหนดดูตำแหน่งของเข็มทุกเล่ม และทำการฝังแร่เข้าไปในเข็มทีละเล่มตามเวลาที่นักรังสีฟิสิกส์คำนวณไว้ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมจากภายนอกห้องใส่แร่ เมื่อฝังแร่ครบแล้ว เครื่องควบคุมจะดึงแร่กลับเข้าถ้ำตะกั่วโดยอัตโนมัติ แพทย์จะถอนเข็มออกจากผู้ป่วยทั้งหมด เวลาที่ใช้ฝังแร่ประมาณ 15-30 นาที

  • หลังจากแพทย์วิสัญญีให้ยาระงับความรู้สึกทางไขสันหลังแล้ว ท่านจะยังคงรู้สึกตัวดีตลอดเวลาฝังแร่ แต่อวัยวะส่วนล่างจะหมดความรู้สึกชั่วคราว ขาทั้งสองข้างจะหนัก ยกไม่ขึ้นและขยับไม่ได้ และท่านจะไม่รู้สึกเจ็บขณะแพทย์ทำการฝังเข็มโลหะเลย

  • ควรนอนนิ่งๆ หายใจเข้าออกยาวๆ ทำใจให้สงบ จะมีเจ้าหน้าที่คอยดูท่านผ่านจอโทรทัศน์ ท่านสามารถพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ได้ตลอดเวลา ถ้ามีปัญหาหรือมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจอึดอัด รู้สึกหนาวสั่น หรือคลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น ควรแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อให้ความช่วยเหลือท่านได้ ผู้ป่วยไม่ควรกังวลมากเกินไป เพื่อให้การใส่แร่ไม่ลำบากและจะลดความเจ็บปวดของผู้ป่วยด้วย

  • ผู้ป่วยไม่ต้องกังวลว่าจะมีแร่ติดตัวกลับไป เพราะเมื่อฝังแร่ครบเวลาการรักษา เครื่องคอมพิวเตอร์จะนำแร่ออกจากคนไข้โดยอัตโนมัติ แล้วแพทย์จะนำเครื่องมือออกอีกครั้ง

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยหลังใส่แร่
  • ควรนอนพักกับเตียง อย่างน้อย 8 ชั่วโมง สามารถหนุนหมอนและนอนตะแคงได้ แต่ไม่ควรลุกจากเตียงเนื่องจากยาชาอาจมีฤทธิ์สกัดกั้นเส้นประสาทอัตโนมัติอยู่ ทำให้หลอดเลือดบางส่วนยังขยายตัว เกิดภาวะความดันเลือดต่ำ เวลาลุกนั่งเร็วๆ เลือดจะไปเลี้ยงสมองไม่ทัน ส่งผลให้เกิดอาการหน้ามืดเป็นลมได้

  • หลังจากบล็อกหลังประมาณ 1-2 วัน อาจมีอาการปวดศีรษะเนื่องจากน้ำที่ไขสันหลังรั่วออกมาบริเวณรูเข็มมาอยู่ชั้นนอกของเยื่อหุ้มไขสันหลัง ทำให้ความดันในสมองต่ำลง จึงทำให้ปวดศีรษะในขณะลุกนั่งได้ สามารถบรรเทาได้โดยดื่มน้ำมากๆ กินยาแก้ปวด นอนพักผ่อนมากๆ อาการจะทุเลาภายใน 3-4 วัน ถ้ายังมีอาการปวดมาก ควรแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือต่อไป ในปัจจุบันอาการนี้พบน้อยมาก เนื่องจากเข็มที่ใช้ในการบล็อกหลังมีขนาดเล็กมากประกอบกับมีการปรับปรุงเทคนิคในการฉีดยา

  • อาจเกิดอาการปวดหลัง แต่จะดีขึ้นภายใน 3-4 วัน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการจัดท่าขณะฝังแร่ซึ่งอาจทำให้กล้ามเนื้อบริเวณหลังยืดตึงมาก เมื่อยาชาหมดฤทธิ์จึงรู้สึกปวดเมื่อยได้

  • วันหลังใส่แร่ห้ามสวนล้างช่องคลอด  ห้ามมีเพศสัมพันธ์

  • อาจมีปัสสาวะลำบาก อาการนี้จะเป็นอยู่ชั่วคราวในช่วงแรกหลังจากยาชาหมดฤทธิ์ หลังจากนั้นจะสามารถปัสสาวะได้เองตามปกติ ควรดื่มน้ำมากๆ และอย่ากลั้นปัสสาวะ

  • สังเกตอาการผิดปกติ เช่น มีเลือดออก มีไข้ ปวดศีรษะมาก เป็นต้น ถ้ามีควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบเพื่อช่วยเหลือต่อไป

  • ห้ามยกของหนักเกิน 2-3 กิโลกรัมขึ้นไป

  • พึงทราบว่าหลังเอาเข็มฝังแร่ออกแล้ว จะไม่มีแร่ติดตัวท่านไป ท่านสามารถคลุกคลีติดต่อกับผู้อื่นได้ตามปกติ

  • จำนวนครั้งในการใส่แร่ของผู้ป่วยแต่ละราย ประมาณ 2-5 ครั้ง สัปดาห์ละ1-2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับโรคของผู้ป่วย และการวินิจฉัยของแพทย์ผู้รักษาเป็นสำคัญ ดังนั้น ควรมาใส่แร่ตามคำแนะนำของแพทย์ให้ครบ เพื่อประโยชน์ในการรักษาที่ดีที่สุดของผู้ป่วยเอง

  • รับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

  • หมั่นแขม่วท้องและขมิบก้นเป็นประจำเพื่อให้กล้ามเนื้อหน้าท้องและอุ้งเชิงกรานแข็งแรง


รับข้อมูลเพิ่มเติมฟรี คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078
 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
ความรู้มะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้