วันที่ 10-04-2019 | อ่าน : 2484
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนที่กินเลี้ยงหรือทำกินเองในครอบครัวช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขอให้หลีกเลี่ยงการกินหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้หูดับ และอาจทำให้หูหนวกถาวรหรือเสียชีวิตได้ ข้อมูลปี 2561 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุและวัยทำงาน โดยเดือนเมษายนมีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หูดับมากที่สุดถึง 5 ราย
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ประชาชนจะกลับภูมิลำเนาต่างจังหวัด เพื่อพบปะญาติพี่น้องและเพื่อนๆ อาจมีการจัดเลี้ยงหรือทำกินเองในครอบครัว โดยเฉพาะเนื้อหมูที่ชำแหละกันเองในชุมชน แล้วนำมากินดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้หมูดิบ ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านที่มีการใส่เลือดหมูดิบผสม หรือการปิ้งย่างไม่สุก ซึ่งเสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับ หรือโรคติดเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส และอาจทำให้หูหนวกถาวรหรือเสียชีวิตได้
จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้หูดับ ปี 2561 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยทั้งหมด 338 ราย เสียชีวิต 29 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุและวัยทำงาน ได้แก่ อายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 106 ราย รองลงมาคือ 55-64 ปี จำนวน 89 ราย และ 45-54 ปี จำนวน 85 ราย เดือนที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือพฤษภาคม จำนวน 50 ราย รองลงมาคือเดือนเมษายน จำนวน 45 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หูดับมากที่สุดคือเมษายน จำนวน 5 ราย
สำหรับในปี 2562 นี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–28 มีนาคม 2562 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้หูดับแล้ว 50 ราย เสียชีวิต 10 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุดยังเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและวัยทำงาน ซึ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีโอกาสสูงที่จะพบผู้ป่วยโรคไข้หูดับเป็นกลุ่มก้อนในพื้นที่ต่างๆ เพราะอาจมีการนำเนื้อหมู มาประกอบอาหารแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ในงานเลี้ยงหรือทำกินเองในครอบครัว
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ตามที่มีข่าวหนุ่มสุโขทัยเล่าประสบการณ์ว่า เมื่อช่วงสงกรานต์หลายปีก่อน ได้กลับบ้านและมีงานเลี้ยงสังสรรค์กัน มีการกินหลู้ดิบในงาน ทำให้ป่วยและเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด จนต้องตัดขา โดยสาเหตุเกิดจากโรคไข้หูดับ จากการกินเนื้อหมูและเลือดหมูดิบ นั้น กรมควบคุมโรค ขอย้ำเตือนถึงความรุนแรงของโรคไข้หูดับ ว่าโรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ 1.การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ รวมทั้งเนื้อหมู เครื่องในและเลือดหมูที่เป็นโรค โดยติดต่อสู่คนทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา 2.เกิดจากการบริโภคเนื้อหมู หรือเลือดหมูที่ปรุงดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ที่มีเชื้ออยู่ โดยผู้ป่วยจะมีอาการหลังรับประทาน 3-5 วัน จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ขอให้รีบพบแพทย์ทันที และบอกประวัติการกินหมูดิบให้ทราบ เพราะหากมาพบแพทย์และวินิจฉัยได้เร็ว จะช่วยลดอัตราการหูหนวกและการเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ กลุ่มที่ติดเชื้อแล้วจะมีอาการป่วยรุนแรง ได้แก่ ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น สำหรับวิธีการป้องกันโรค คือ 1.กินหมูสุกเท่านั้น โดยปรุงเนื้อหมูให้สุกทั่วถึงจนเนื้อไม่มีสีแดง ไม่เติมหรือใส่เลือดดิบในอาหาร และควรเลือกซื้อเนื้อหมูที่ไม่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์ 2.ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้า บู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ที่มา : สสส.
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011
Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้