วันที่ 05-04-2019 | อ่าน : 3784
โดย แพทย์จีน มาลิน ปิยะชินวรรณ
ศูนย์สุขภาพครอบครัวเทียนเซียน
คนประเภทไหนมักเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร
- ผู้เป็นติ่งเนื้อในกระเพาะอาหาร มีโอกาสแปรเปลี่ยนเป็นมะเร็งได้ 3-10%
- ผู้เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังลักษณะหดตัว มีโอกาสแปรเปลี่ยนเป็นมะเร็งได้ 2-8%
- ผู้เป็นโรคโพรงกระเพาะอักเสบ โรคโลหิตจางชนิดร้ายแรง มีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารสูงกว่าคนปกติ 4 เท่า
- การอักเสบติดเชื้อในกระเพาะอาหารก็เป็นสาเหตุการเกิดมะเร็งด้วย
- ผู้ที่เคยผ่าตัดกระเพาะอาหารก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งมากกว่าคนปกติ
จากสถิติที่รวบรวมได้ยังพบว่า :
- คนที่มีกรุ๊ปเลือด เอ มีอัตราส่วนเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารสูงกว่าคนกรุ๊ปเลือดอื่น
- มะเร็งกระเพาะอาหารอาจมีปัจจัยทางพันธุกรรมรวมอยู่ด้วย
- การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ทานอาหารที่ไม่เหมาะสม เป็นเวลายาวนาน การใช้ชีวิตอย่างไม่ระบบระเบียบ อารมณ์เครียดอยู่ตลอดเวลา ทำให้เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ แผลเปื่อยในกระเพาะและสุดท้ายพัฒนาเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร
วิธีการรักษาภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดมะเร็งกระเพาะอาหาร
มะเร็งกระเพาะอาหารโดยทั่วไปจะใช้วิธีการผ่าตัดเป็นการรักษาหลัก ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยหลังการผ่าตัดมีดังต่อไปนี้
1. เลือดออก ต้องติดตามอาการตลอด 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด ต้องสังเกตุว่าผู้ป่วยมีอาการปวดตึงท้องหรืออาเจียนเป็นเลือด อุจจาระปนเลือดหรือไม่ ถ้ามีอาการเหล่านี้ต้องแจ้งแพทย์ทราบ
2. ภาวะอุดตัน เนื่องจากการอักเสบ การบวมจึงทำให้เกิดการอุดตัน ต้องสังเกตุว่าหลังผู้ป่วยทานอาหารอิ่มแล้วแน่นท้องหรืออาเจียนหรือไม่ ถ้าอาเจียนออกมามีน้ำดีปะปนหรือไม่
3. อาการปวดท้องรุนแรง มีไข้ มักเกิดขึ้นหลังผ่าตัด 4-6 วัน ถ้ามีอาการเหล่านี้ต้องแจ้งแพทย์
4. หลังผู้ป่วยทานอาหาร 10-20 นาที ถ้ามีอาการแน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ถ่ายท้อง ให้ผู้ป่วยนอนราบลงสักครู่อาการจะดีขึ้น วิธีการแก้ต่อไปต้องปรับด้านอาหาร โดยให้ทานอาหารน้ำน้อย แล้วนอนราบพัก 10-20 นาที อาการจะดีขึ้นเป็นลำดับภายใน 6-12 เดือน
สรุปแล้ว การผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกจากกระเพาะอาหาร ไม่ได้หมายความว่าโรคร้ายหายแล้วอย่างสิ้นเชิง ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดอื่นๆ ยังอาจเกิดขึ้นได้ ยังจำเป็นต้องทำการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมประสิทธิผลของการรักษาที่ได้ทำมาแล้ว
ทัศนะแพทย์จีนเห็นว่า การผ่าตัดทำลายชี่เลือดของผู้ป่วย หลังผ่าตัดผู้ป่วยมักมีอาการชี่เลือดพร่อง ม้ามและกระเพาะอาหารทำงานไม่ปกติ ดังนั้น หลังผ่าตัดผู้ป่วยจึงควรกระตือรือร้นที่จะเสริมการรักษาด้วยยาจีน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงเร็วยิ่งขึ้น ป้องกันการกำเริบซ้ำ และเพื่อเตรียมความพร้อมของร่างกายสำหรับการรักษาในขั้นต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยที่ปฏิเสธการรับเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา ยิ่งควรต้องใช้ยาจีนรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการกำเริบซ้ำและการแพร่กระจายของมะเร็ง
การดูแลหลังผ่าตัดมะเร็งกระเพาะอาหาร
1. หลังผ่าตัด 2 สัปดาห์ ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อน เริ่มให้อาหารเหลวที่ไม่มีไขมันปะปน ถ้าต้องเสริมโปรตีนให้เริ่มจากปริมาณต่ำสุดที่ร่างกายต้องการ และควรมีกากใยแต่น้อย
2. หลังผ่าตัด 3 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายเมื่อกินของหวานแล้วจะรู้สึกใจสั่น เหงื่อแตก วิงเวียน คลื่นไส้ เป็นต้น โดยทั่วไปอาการเหล่านี้จะดีขึ้นเองภายใน 30 นาที เพื่อป้องกันอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้ ถ้าต้องการกินของหวานให้กินของเค็มตามไปด้วย และต้องกินอย่างช้าๆ
3. เมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้ว ให้กินอาหารอ่อนนิ่มย่อยง่าย อุดมด้วยวิตามินและสารบำรุง ห้ามกินของดิบ ของเย็น ของมันของทอด ของเปรี้ยวของเผ็ด เพราะจะทำให้ท้องอืด ผู้ป่วยควรกินอาหารช้าๆ และเคี้ยวให้ละเอียด กินแต่น้อยบ่อยครั้ง กินผักผลไม้สดให้มาก ไม่กินอาหารไขมันสูง อาหารหมักดอง เสริมด้วยธาตุเหล็กบ้าง กินข้าวเป็นเวลา งดบุหรี่ งดเหล้า
4. หลังผ่าตัด 3 เดือน ก็ทานอาหารปกติได้ ออกกำลังกายตามสภาวะร่างกาย ทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง
ข้อควรสนใจด้านอาหารของผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหาร
1. ผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะระยะสุดท้าย ด้านอาหารต้องหลีกเลี่ยงอาหารเค็ม อาหารลักษณะแข็ง อาหารร้อนจัด ต้องไม่กินมาก ดื่มมากไป ควรทานแต่น้อยบ่อยครั้ง ทานให้เป็นเวลา ทานอาหารที่ย่อยง่าย รสจืด น้ำใส
2. การผ่าตัดมักเป็นการรักษาหลัก หลังการผ่าตัดต้องสนใจด้านโภชนาการ ควรเลือกอาหารที่อุดมด้วยวิตามินและมีสารบำรุงสูง อาหารที่ไม่มีลักษณะกระตุ้น ควรเลือกทานโจ๊กลูกเดือย โจ๊กข้าวเหนียว เสริมด้วยไข่ไก่ ผักสด ผลไม้ หลังผ่าตัดผู้ป่วยกินอาหารวันละ 3-5 ครั้ง ค่อยๆ เพิ่มปริมาณอาหาร ถ้าหลังอาหารผู้ป่วยคลื่นไส้ อาเจียน ไม่ต้องตกใจ ให้ผู้ป่วยนั่งพิงสักครู่หรือเดินช้าๆ อาการจะบรรเทาลง หรือให้ต้มน้ำขิงสด 10 กรัม จิบหลายๆ คำ โดยทั่วไปสุขภาพจะฟื้นคืนหลัง 6 เดือน
ผักอะไรเหมาะสำหรับผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหาร
- ตระกูลเห็ด ได้แก่ เห็ดหอม เห็ดฟาง เห็ดเข็มทอง เห็ดหูหนู นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าเห็ดมีสารที่สามารถต้านมะเร็ง เสริมภูมิคุ้มกัน
- กระเทียม มีสรรพคุณต้านมะเร็ง คนที่กินกระเทียมสดเป็นประจำ โอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะน้อยมาก
- หัวหอม มีสรรพคุณต้านมะเร็ง
เมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหาร( โดยเฉพาะผู้ที่รับการผ่าตัดแล้ว)
1. ซุปเห็ดเนื้อปลา : เห็ดหอม 10 กรัม, เห็ดเป๋าฮื้อ 10 กรัม, ปลา 1 ตัว ต้มเป็นน้ำแกงดื่มวันละ 2 ครั้ง สรรพคุณ เสริมม้ามกระเพาะอาหาร บำรุงกำลังบำรุงเลือด
2. ซุปปลาเต้าหู้ : เนื้อปลา(เน้นเนื้อปลาที่มีเกล็ด) 30 กรัม, เต้าหู้ 1 ก้อน, เนื้อหมูสับเล็กน้อย ต้มเครื่องปรุงทั้งหมดจนเป็นซุปข้น กินให้หมดใน 1 วัน
3. โจ๊กโสมคน : โสมคน 30 กรัม, ข้าวเหนียว 50 กรัม, น้ำตาลแดงเล็กน้อย ต้มด้วยไฟอ่อน จนข้าวสุกเป็นโจ๊ก แบ่งกิน 2 ครั้ง กินสูตรนี้ติดต่อกัน 10-15 วัน
4. ซุปโสมลูกเดือยพุทราแดง : โสมอเมริกัน 2 กรัม, พุทราแดง 5 ลูก, ลูกเดือยดิบ 20 กรัม พุทราแดงเอาเม็ดในออก แช่ในน้ำอุ่นสักครู่ ลูกเดือยล้างแล้วแช่น้ำ 1 ชั่วโมง น้ำลูกเดือยและโสมไปต้มจนใกล้สุก ใส่พุทราแดง แล้วต้มต่อจนสุกเปื่อย สรรพคุณ บำรุงกำลัง เสริมสารน้ำ ช่วยให้ม้ามแข็งแรง ขับความชื้น
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011
Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้