วันที่ 03-04-2019 | อ่าน : 24596
นิโคติน คือ สารเคมีให้โทษชนิดหนึ่งที่พบในกลุ่มยาสูบ เช่น บุหรี่ ซิการ์ ไปป์ สารนิโคตินส่งผลต่อสมองและระบบประสาท มีฤทธิ์ในทางการเสพติด เนื่องจากนิโคตินที่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจะมีผลทำให้เกิดการหลั่งสารเอพิเนฟรีนที่ต่อมหมวกไต ทำให้ผู้ป่วยเกิดการเสพติดสารนิโคติน ร่างกายต้องการนิโคตินเพิ่มมากขึ้น จึงมีผลต่อการสูบบุหรี่หรือยาสูบอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุด
ระดับของสารนิโคตินที่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและสมอง ขึ้นอยู่กับวิธีการและปริมาณที่สูบเข้าไปด้วย เช่น สารนิโคตินจะถูกดูดซึมผ่านการสูบและหายใจเอาควันบุหรี่เข้าไปได้เร็วกว่าผู้ที่สูบซิการ์หรือไปป์ ซึ่งมักไม่ได้สูดควันเข้าไปในร่างกายด้วย
ถ้าอย่างนั้นเรามาดูกันเลยดีกว่าว่าทุกครั้งที่เราสูดควันเข้าไป ไม่ว่าจะสูบเองหรือรับควันมือสองก็ตาม “นิโคติน” นั้นจะส่งผลกระทบต่อระบบในร่างกายของเราอย่างไรบ้าง
1.ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น นิโคตินทำให้ร่างกายหลั่งสารเคมีที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของหัวใจเพิ่มมากขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันเลือดสูงขึ้น และหัวใจบีบตัวแรงขึ้น ทำให้หัวใจต้องการเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น
2. ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจลดลง นิโคตินทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจหดตัว ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจน้อยลงแม้ในภาวะที่หัวใจต้องการเลือดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในคนที่หลอดเลือดแข็งตัวจากโรคความดันสูงหรือสูบบุหรี่
3. ทำให้ความดันสูงขึ้น ในคนที่เป็นโรคความดันสูง นิโคตินจะยิ่งทำให้ความดันเพิ่มขึ้น และต้องใช้ยาแรงขึ้นในการรักษาความดัน
4. นิโคตินส่งผลกระทบต่อไขมันในเลือด การสูบบุหรี่ทำให้ระดับไขมันชนิดไม่ดีในเลือดเพิ่มขึ้น และทำให้ไขมันชนิดดีลดลง นิโคตินทำให้สารที่ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวและเสื่อมเร็ว
5. นิโคตินทำให้แผลหายช้า การสูบบุหรี่ทำให้แผลบนผิวหนังหายช้า จากการที่นิโคตินทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงผิวหนังหดตัว ทำให้ผิวหนังได้รับออกซิเจนน้อยลง แผลก็จะหายช้า
6. ทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะ นิโคตินทำให้น้ำย่อยจากถุงน้ำดีไหลย้อนเข้าสู่กระเพาะ และการหลั่งสารที่เป็นด่างลดลง ทำให้อาการกรดไหลย้อนเป็นมากขึ้น เกิดแผลในกระเพาะ
7. กระตุ้นให้เนื้อมะเร็งโตเร็วขึ้น สารนิโคตินมีฤทธิ์ในการกระตุ้นให้เนื้อมะเร็งโตเร็วขึ้น
8. นิโคตินมีผลเสียต่อเด็กในครรภ์ ทำให้ทารกได้รับเลือดและออกซิเจนน้อยลง ทำให้น้ำหนักตัวของทารกน้อยลง มีความผิดปกติในโครงสร้างและการทำงานของสมองทารกในครรภ์
9. นิโคตินอันตรายต่อทารกแรกเกิด จากการทดลองที่ให้หนูซึ่งตั้งครรภ์ได้รับนิโคติน พบว่ามีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดความผิดปกติทางสมองของลูกหนูที่คลอดออกมา ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทารกที่เสียชีวิตกะทันหัน
รู้พิษร้ายของบุหรี่ขนาดนี้แล้ว คุณพร้อมจะยังเป็นหนึ่งในผู้ที่เลิกบุหรี่แล้วหรือยัง
ที่มา สสส, pobpad
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011
Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้