วันที่ 27-03-2019 | อ่าน : 3219
การปฏิวัติการวินิจฉัยและการรักษาโรคมะเร็ง
เมื่อปี ค.ศ. 2006 มีความยิ่งใหญ่ที่สุดของการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าการดูแลรักษาโรคของมนุษย์ไปตลอดกาล นั่นคือความสำเร็จของโครงการศึกษาเรื่องการถอดรหัสดีเอ็นเอของมนุษย์ ทำให้สามารถทราบถึงรหัสดีเอ็นเอของยีนทุกยีนของมนุษยชาติ โรคภัยไข้เจ็บของมนุษย์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของยีนในเซลล์และความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม การดำเนินชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งที่เป็นมหันตภัยเงียบที่คร่าชีวิตมนุษย์ทั่วโลกมากมายนั้น มีสาเหตุมาจากการกลายพันธุ์ของยีนที่อยู่ภายในเซลล์มะเร็ง
ผลจากกการรู้จักยีนทุกยีนในร่างกายมนุษย์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญพื้นฐานของการเกิดโรคต่างๆในมนุษย์ ทำให้เกิดการปฏิวัติทางการแพทย์เข้าสู่ยุคของการแพทย์โมเลกุล (Molecular Medicine) ซึ่งจะทำให้การป้องกันและรักษาโรคต่างๆมีประสิทธิภาพและผลข้างเคียงลดน้อยลง นอกจากนี้ยังเปลี่ยนโฉมการวินิจฉัยโรคต่างๆ โดยสามารถวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ยังไม่เกิดโรค และเกิดการผลิตยาที่ออกฤทธิ์ตรงตามเป้าหมายและกลไกการเกิดโรค สามารถทำนายผลข้างเคียงต่อยาได้อย่างแม่นยำ
การวินิจฉัยโรคมะเร็งระดับโมเลกุล (Molecular Diagnosis Cancer) ทำให้การวินิจฉัยโรคมะเร็งมีความไวสูง เช่น การตรวจทางโมเลกุลด้วยเทคนิคพีซีอาร์ (ย่อมาจาก Polymerase Chain Reaction) สามรถตรวจเซลล์มะเร็งหนึ่งเซลล์ที่ปะปนในเซลล์ปกติหนึ่งล้านได้ การพัฒนาเทคโนโลยีในการตรวจยีนจำนวนหลายพันยีน โดยอาศัยแผ่นตรวจขนาดเท่าซิมการ์ดของโทรศัพท์มือถือที่เรียกว่า ไมโครอาเรย์ (Microarray) สมารถตรวจค้นยีนผิดปกติจำนวนมากในการตรวจเพียงครั้งเดียวได้ โดยปรากฏผลบวกของการตรวจเป็นจุดเล็กๆเท่าอณู ซึ่งต้องวิเคราะห์ต่อด้วยคอมพิวเตอร์ สามารถประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งในคนปกติได้เรียกว่า การคัดกรองมะเร็งระดับโมเลกุล (Molecular Screening) ในปัจจุบันนี้เราสามารถตรวจแบ่งแยกโรคมะเร็งตามลักษณะของยีนที่ผิดปกติเรียกว่า การแบ่งแยกชนิดของโรคมะเร็งระดับโมเลกุล (Molecular Classification) ทำให้สามารถตรวจค้นวินิจฉัยและรู้จักโรคมะเร็งอย่างลึกซึ้งอย่างที่ไม่เคยทราบมาก่อนในอดีต การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งระดับโมเลกุลทำได้แล้วในบ้านเรา
การทำนายการดำเนินโรคมะเร็งว่าร้ายแรงมากหรือน้อยโดยอาศัยข้อมูลทางเทคนิคและพยาธิวิทยาไม่ละเอียดเพียงพอในการทำนายโรคมะเร็ง เมื่อนำเทคโนโลยีทางอณูชีววิทยามาตรวจหายีนต่างๆของมะเร็งที่ผิดปกติสามารถทำนายโรคมะเร็งได้ว่าร้ายแรงเพียงใด เช่น การตรวจยีน 21 ชนิดในโรคมะเร็งเต้านม (เรียกว่าการตรวจออนโคไทพ์) หรือการตรวจยีน 90 ชนิดในโรคมะเร็งเต้านม (เรียกว่าแมมมาพรินท์) สามารถทำนายโรคมะเร็งเต้านมหลังการผ่าตัดว่าร้ายแรงพียงใด และรักษาต่อไปภายหลังอย่างไร เป็นที่น่ายินดีว่าการตรวจทั้ง 2 วิธีนี้สามารถทำได้ในประเทศไทยแล้ว
นอกจากนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ จากการถอดรหัสดีเอ็นเอ ว่าใช้ทำนายการตอบสนองต่อการรักษาโรคมะเร็งได้ ไม่ว่าจะเป็นการตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด ฮอร์โมนบำบัด หรือการรักษาตามเป้าหมาย (Targeted Therapy) ในการประชุมของสมาคมมะเร็งวิทยาสหรัฐอเมริกาปีนี้ การรายงานการศึกษาที่พบว่าการตรวจการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็งจากยีนมะเร็งชื่อเคราส สามารถทำนายการตอบสนองต่อการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะแพร่กระจายด้วยยายับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งชื่อยาเซทูชิแมบได้ ถ้าตรวจพบยีนเคราสในก้อนมะเร็งลำไส้ใหญ่กลายพันธุ์ ผู้ป่วยจะไม่ตอบสนองยาเซทูซิแมบ ควรรักษาด้วยยาอื่นๆ
การทราบรหัสดีเอ็นเอของมนุษย์ทำให้สามารถค้นพบยีนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งมากมาย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ง่ายยิ่งขึ้นในการคิดค้นพัฒนายาที่ออกฤทธิ์ตรงตามเป้าหมายของการเกิดโรคมะเร็งเรียกว่า การรักษาตามเป้าหมาย (Targeted Therapy) ซึ่งในขณะนี้มียาเหล่านี้หลายชนิดที่ผ่านการอนุมัติขององค์การอาหารและยาประเทศไทย เพื่อใช้ในการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทย
ยีนบำบัด (Gene Therapy) เป็นการนำยีนภายนอกใส่เข้าไปในเซลล์ที่ขาดยีนนั้นหรือยีนผิดปกติที่ก่อให้เกิดโรค เช่น มะเร็งบางชนิดมียีนต้านมะเร็งชื่อพี 53 ผิดปกติ การใส่ยีนพี 53 ปกติฉีดเข้าไปในเซลล์มะเร็งของศีรษะและคอ สามารถทำให้ก้อนมะเร็งฝ่อลงได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังอาจนำยีนบำบัดโรคใส่ในเซลล์ภูมิคุ้มกันเพื่อให้ไปทำลายเซลล์มะเร็งได้ เช่น นำเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ทำหน้าที่ทำลายเซลล์มะเร็งเรียกว่า Natural Killer Cell หรือ NK Cell โดยแยกจากเลือดของผู้ป่วย นำมาเลี้ยงกระตุ้นให้แข็งแรงเพิ่มปริมาณมากขึ้นและฉีดกลับเข้าไปในตัวผู้ป่วยมะเร็งเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งในร่างกาย สามารถใส่ยีนที่สร้างภูมิคุ้มกันเข้าไปในเซลล์ดังกล่าว เพื่อเสริมฤทธิ์การทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถทำได้ในประเทศไทยแล้วในขณะนี้
การตรวจระดับโมเลกุลสามารถตรวจทำนายการเกิดผลข้างเคียงจากยาได้ เช่น การเกิดผลข้างเคียงจากยาไอริโทนีแคนที่ใช้รักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในผู้ป่วยที่ขาดเอนไซม์ UDT อาจเกิดผลช้างเคียงรุ่นแรงจากยาได้ การตรวจยีนดังกล่าวจะช่วยป้องกันไม่ให้เสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากยาดังกล่าว
ในอนาคตอันใกล้นี้การรักษาผู้ป่วยจะเปลี่ยนโฉมกลายเป็นการรักษาที่จำเพาะตามลักษณะของยีนในผู้ป่วยแต่ละรายเรียกว่า การแพทย์เฉพาะบุคคล (Personalized Medicine) มนุษย์แต่ละคนอาจมีการ์ดหรือชิพคอมพิวเตอร์ที่บันทึกหัสของยีนของตนเอง เมื่อเจ็บป่วยก็นำการ์ดนี้ไปตรวจหรือรับการรักษาที่เหมาะสมกับดีเอ็นเอของตนเอง ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งที่ตรวจพบจากการตรวจพบยีนก่อโรคก็สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ก่อนที่โรคจะเกิดขึ้นในร่างกาย
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011
Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้