การดูแลผิวที่แห้งและระคายเคืองจากการบำบัด

วันที่ 15-03-2019 | อ่าน : 4424


 

     ผิวที่แห้งและระคายเคืองนั้นสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งมลภาวะและแสงแดดหรือวิธีการดูแลผิวที่ไม่ถูกต้องก็สามารถส่งผลให้ผิวแห้งเสียได้ ทั้งนี้ ยาบางตัวหรือการทำเคมีบำบัดก็สามารถส่งผลให้ผิวหนังแห้งกร้านและระคายเคืองได้เช่นกัน โดยเฉพาะเคมีบำบัดชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

     อาการผิวหนังที่แห้งกร้านจากผลข้างเคียงในการทำเคมีบำบัดนั้น เริ่มแรกจะเห็นได้ว่าผู้ป่วยจะมีผิวแห้ง คล้ำลง มีอาการคัน และเกิดการอักเสบได้ในระยะต่อมาซึ่งอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับสู่ภาวะปกติภายหลังการบำบัดได้ประมาณ 3-6 เดือน ดังนั้นในระหว่างนี้นอกจากการทายาตามที่แพทย์สั่งแล้ว วิธีดูแลตัวเองที่เหมาะสมก็สามารถช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองผิวให้น้อยลงและช่วยฟื้นบำรุงผิวให้ค่อยๆ ดีขึ้นได้ อย่างไรก็ดีนอกจากการดูแลผิวที่ลำตัวแล้วคุณควรดูแลเอาใจใส่มือและเท้าควบคู่กันไปด้วย

วิธีดูแลผิวแห้งกร้าน

 - หลีกเลี่ยงการอยู่ท่ามกลางแสงแดด รังสีอัลตร้าไวโอเลตจากแสงแดดนั้นเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ผิวแห้งกร้าน ผิวที่เพิ่งได้รับเคมีบำบัดนั้นไวต่อเเสงแดดและสามารถโดนทำร้ายได้ง่าย หากคุณต้องจำเป็นต้องเผชิญกับแสงแดด คุณควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิดเช่น ใส่เสื้อคลุมแขนยาว ใส่หมวกปีกกว้าง หรือคลุมลำตัวด้วยผ้าพันคอผืนใหญ่ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวหนังเผชิญกับแสงแดดโดยตรง ควรหลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดดในช่วงเวลา 10.00-16.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีรังสีอัลตร้าไวโอเลตแรงที่สุด  

    แสงแดดในช่วงวลานี้จะทำให้ผิวแสบร้อนและยังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งผิวหนังอีกด้วย ข้อสำคัญคุณควรทาครีมกันแดดก่อนออกจากบ้าน เลือกครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป โดยควรทาก่อนออกจากบ้านอย่างน้อย 20-30 นาทีเพื่อให้ครีมซึมลึกสู่ผิวชั้นในและทำการปกป้องผิวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรทาครีมกันแดดซ้ำหากผิวเปียกหรือมีเหงื่อออก

 - หลีกเลี่ยงการเกาและแกะผิวหากผิวหนังแห้งและลอกมาก   ผิวหลังการให้เคมีบำบัดนั้นกำลังอยู่ในช่วงที่อ่อนแอและมักเกิดแผลขึ้นได้ง่าย การเกาผิวหนังจะทำให้ผิวระคายเคืองมากกว่าเดิมและเกิดเป็นแผลได้ ซึ่งการดูแลให้หายเป็นปกตินั้นอาจใช้เวลานานกว่าผิวที่อยู่ในสภาวะปกติด้วยเช่นกัน

 - ไม่ควรอาบน้ำด้วยอุณหภูมิที่ร้อนมากเกินไป การอาบน้ำร้อนนานๆ จะทำให้ผิวเสียความชุ่มชื่นเพราะจะทำให้ไขมันตามธรรมชาติที่อยู่บนผิวหนัง (Natural lipids) หลุดออก คุณควรปรับอุณหภูมิน้ำให้พอดีกับอุณภูมิห้องหรืออุณหภูมิปกติ ไม่ร้อนและไม่เย็นจนเกินไป ทั้งนี้ สบู่ที่เลือกใช้ควรเป็นสบู่ที่มีสูตรอ่อนโยนเช่น สบู่ก้อนเด็ก หรือสบู่ที่สกัดจากสมุนไพรธรรมชาติอย่าง ว่านหางจระเข้ที่มีคุณสมบัติฟื้นบำรุงผิวแห้ง เป็นต้น คุณควรให้ความสำคัญในการทำความสะอาดมุมอับของผิวเพื่อป้องกันการหมักหมมของแบคทีเรียที่สามารถทำให้ผิวคันและนำไปโรคสู่โรคผิวหนังอื่นๆเช่น ตามข้อพับ ขาหนีบ ซอกนิ้วมือและซอกนิ้วเท้า ซึ่งเป็นบริเวณที่มีแบคทีเรียสะสมอยู่มากกว่าบริเวณอื่น

 - เลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม แอลกอฮอล์ หรือไวท์เทนนิ่ง ส่วนประกอบเหล่านี้สามารถทำให้ผิวระคายเคือง คุณสามารถบำรุงผิวที่แห้งกร้านได้ด้วยปิโตรเลียมเจลลี่ (วาสลีน) ที่สกัดจากน้ำมันบริสุทธิ์ ไม่มีสี และไม่มีกลิ่น ปิโตรเลียมเจลลี่จะทำหน้าที่ในการกักเก็บความชุ่มชื่นและช่วยป้องกันไม่ให้น้ำในผิวระเหยออกหลังการอาบน้ำ

 - สวมถุงมือยางทุกครั้งหากต้องล้างจานหรือทำความสะอาดบ้าน ไม่ควรให้ผิวหนังโดนสารเคมีที่อยู่ในน้ำยาทำความสะอาดโดยเด็ดขาดเพราะผิวที่แห้งอยู่แล้วหากโดนทำร้ายด้วยสารเคมีจะยิ่งทำให้ผิวแห้ง แตก ลอก และอาจเกิดการอักเสบได้ ทางที่ดีควรรอให้อาการดีขึ้นก่อนทำงานบ้าน

    นอกจากการดูแลผิวจากภายนอกแล้ว การดูแลผิวจากภายในที่ดีจะสามารถส่งผลให้ผิวพรรณภายนอกชุ่มชื่นขึ้นได้ เช่น การรับประทานอาหารที่มีสารอาหารช่วยบำรุงผิวและสารต้านอนุมูลอิสระเช่น

 - วิตามินซีมีประสิทธิภาพช่วยยับยั้งการเสื่อมของเซลล์ผิว วิตามินซีสามารถหาได้จากผลไม้รสเปรี้ยวอย่าง ส้ม แอปเปิ้ล กีวี่ หรือผลไม้ตระกูลเบอรี่ทั้งหลาย

 - วิตามินบี 1 2 และ 3 ที่สามารถเพิ่มอัตราการผลัดเซลล์ผิวช่วยให้เซลล์ผิวที่ตายและแห้งกร้านค่อยๆ หลุดออกและสร้างเซลล์ผิวใหม่ที่เเข็งเเรงกว่าเดิม วิตามินบียังช่วยรักษาผิวให้แข็งแรง คุณสามารถหาวิตามินบีหาได้จากธัญพืชและถั่วต่างๆ

 - โอเมก้า ที่ช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผิวและช่วยให้เยื่อบุเซลล์มีสุขภาพแข็งแรง จึงสามารถช่วยฟื้นบำรุงผิวที่แห้งกร้านให้กลับสู่สภาพวะปกติได้เร็ววัน คุณสามารถหาสารอาหารโอเมก้าได้จาก ถั่วเเระ ผักใบเขียวอย่างโขม ปลาน้ำจืดอย่างปลาเเซลมอน และถั่วเหลือง เป็นต้น
 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
ความรู้มะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้