วันที่ 27-05-2010 | อ่าน : 39000
การดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด
การรักษาด้วยเคมีบำบัดมีจุดมุ่งหวังที่จะทำลายเซลล์มะเร็ง แต่ด้วยวิธีการรักษายังไม่มีความจำเพาะเจาะจงมาก ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เซลล์ปกติจะได้รับความเสียหายด้วย เมื่อเซลล์ปกติถูกทำลายอาจเกิดอาการข้างเคียง ควรปรึกษาแพทย์ถึงผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นเพื่อจะได้เตรียมตัวให้พร้อม หากการเตรียมความพร้อมดีและทำจิตใจให้สบาย อาการแทรกซ้อนก็จะน้อย แต่หากเกิดอาการแทรกซ้อนขึ้น การใช้หลักโภชนบำบัดที่ถูกต้องจะมีส่วนช่วยในการดูแลสุขภาพ
ทำอย่างไรเมื่อต้องได้รับเคมีบำบัด
ระหว่างได้รับเคมีบำบัดผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารที่ถูกต้องเพื่อเสริมสร้างพละกำลัง หลีกเลี่ยงที่จะอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่กำลังป่วยหรือคนเป็นหวัด พักผ่อนให้เพียงพอ ควรหาที่ปรึกษาเพื่อรับฟังปัญหาด้านอารมณ์ อีกทั้งปรึกษาทีมงานสุขภาพ การที่ผู้ป่วยสามารถเรียนรู้ที่จะช่วยตัวเองได้ ทำให้สามารถควบคุมตัวเองและอารมณ์ได้ดี อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำเคมีบำบัด เพื่อจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงต่างๆ และวางแผนการดูแลต่อไป
ยาประเภทใดที่ใช้ในเคมีบำบัด?
ยาเคมีบำบัดบางตัวถูกใช้กับมะเร็งหลากหลายชนิด ในขณะที่ยาบางตัวอาจจะใช้ได้กับมะเร็งเพียงหนึ่งหรือสองชนิด แพทย์จะแนะนำแผนการรักษาขึ้นอยู่กับ
• ป่วยเป็นมะเร็งชนิดใด
• เป็นมะเร็งที่อวัยวะใด
• ผลกระทบของมะเร็งที่อาจมีต่อระบบการทำงานของร่างกายปกติ
• สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
คำถามที่ควรถามแพทย์
เกี่ยวกับเคมีบำบัด
• ทำไมต้องทำเคมีบำบัด?
• ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากเคมีบำบัดคืออะไร?
• ความเสี่ยงของเคมีบำบัดมีอะไรบ้าง?
• มีการบำบัดรักษาวิธีอื่นที่เป็นไปได้ สำหรับโรคมะเร็งชนิดที่ผู้ป่วยเป็นอยู่หรือไม่?
• การรักษามาตรฐานของโรคมะเร็งชนิดที่เป็นอยู่นี้ทำอย่างไรบ้าง?
เกี่ยวกับการรักษา
• จะได้รับการรักษาแบบใดระยะเวลานานเท่าใด?
• จะได้รับยากลุ่มใด?
• จะได้รับยาอย่างไร เช่น ฉีดหรือกิน เป็นต้น?
• จะได้รับการรักษาที่ใด?
• การรักษาแต่ละคอร์สจะใช้เวลานานเท่าใด?
เกี่ยวกับผลข้างเคียง
• ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการให้เคมีบำบัดมีอะไรบ้าง และจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่?
• ผลข้างเคียงแบบใดที่จะเกิดขึ้นได้มากที่สุดสำหรับมะเร็งชนิดที่ผู้ป่วยเป็นอยู่
• มีผลข้างเคียงอะไรบ้างเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ควรรีบรายงานให้ทราบโดยเร็วที่สุด
• ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อให้อาการข้างเคียงของเคมีบำบัด ดีขึ้นหรือหายไป
ข้อแนะนำในการปรึกษาแพทย์
• คนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวควรไปกับผู้ป่วยเมื่อพบแพทย์ เพื่อช่วยทำความเข้าใจสิ่งที่แพทย์แนะนำและยังช่วยเตือนความทรงจำให้ผู้ป่วย
• ขอรายงานข้อมูลที่เกี่ยวกับการรักษาจากแพทย์
• ผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิดสามารถที่จะจดบันทึกสิ่งสำคัญระหว่างที่พบแพทย์
• ผู้ป่วยสามารถบอกแพทย์ให้พูดช้าลงในขณะที่จดบันทึก
อย่ากลัวที่จะถามแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร ถามได้เท่าที่ต้องการ ถ้าไม่เข้าใจคำตอบ สามารถถามได้จนกว่าจะเข้าใจ
สามารถรับประทานอาหารยาอื่นใดได้หรือไม่ในขณะรับเคมีบำบัด?
ยาบางตัวอาจจะมีปฏิกิริยาตอบสนองหรือต่อต้านต่อเคมีบำบัด ผู้ป่วยควรบอกรายละเอียดยาที่ใช้อยู่ทั้งหมดแก่แพทย์ก่อนได้รับเคมีบำบัด รวมถึง ชื่อของยาที่ใช้ ปริมาณยาที่ใช้ เหตุผลที่ใช้ยา ความถี่ที่คุณรับยา ในที่นี้ รวมถึง วิตามิน ยาระบาย ยาแก้แพ้ ยาช่วยย่อย ยาลดน้ำมูก แก้ไข้ ยาลดไข้บรรเทาปวด เช่น แอสไพริน
การดูแลผู้ป่วยระหว่างทำเคมีบำบัด
การรักษาด้วยเคมีบำบัดมีจุดมุ่งหวังที่จะทำลายเซลล์มะเร็ง แต่ด้วยวิธีการรักษายังไม่มีความจำเพาะเจาะจงมาก ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เซลล์ปกติจะได้รับความเสียหายด้วย เมื่อเซลล์ปกติถูกทำลายอาจเกิดอาการข้างเคียง ซึ่งอาการเหล่านี้มักส่งผลต่อการรับประทานอาหารให้รับประทานอาหารได้น้อย ตัวอย่างได้แก่
ความอยากอาหารลดลง น้ำหนักลด หรือน้ำหนักเพิ่ม
มีแผลในช่องปาก ปากแห้ง
การรับรสและกลิ่นเสีย คลื่นไส้อาเจียน
ท้องเสีย ท้องผูก
เมื่อยล้า ซึมเศร้า
ผู้ป่วยอาจพบอาการข้างเคียงดังกล่าวหรือไม่พบก็ได้ อาการข้างเคียงทั้งหมดจะเกิดขึ้นระหว่างการรักษา มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล และค่อยๆ หายไปหลังการรักษา ควรปรึกษาแพทย์ถึงผลข้างเคียงของวิธีรักษาแต่ละชนิดที่เกิดขึ้นก่อนการรักษาเพื่อจะได้เตรียมตัวให้พร้อม หากการเตรียมความพร้อมดีและทำจิตใจให้สบาย อาการแทรกซ้อนก็จะน้อย แต่หากเกิดอาการแทรกซ้อนขึ้น ไม่ต้องกังวล ควรทำใจให้สบายและใช้หลักโภชนบำบัดในการดูแลสุขภาพ ตามแต่กรณีดังต่อไปนี้
ความอยากอาหารลดลง
ควรเริ่มรับประทานอาหารแต่น้อยแต่เพิ่มมื้ออาหารให้มากขึ้น เป็นอาหารที่ย่อยง่ายแต่มีพลังงานสูง จัดรูปแบบอาหารให้น่ารับประทาน พยายามคิดถึงเมนูที่ตนเองชอบมากที่สุด อาจรับประทานโดยพร้อมเพรียงกันกับคนในครอบครัวเพื่อเป็นการทำให้ผู้ป่วยผู้สึกผ่อนคลายระหว่างการรับประทานอาหาร อีกทั้งผู้ดูแลยังได้สังเกตถึงปริมาณของอาหารที่ร่างกายผู้ป่วยได้รับว่าพอเพียงหรือไม่
น้ำหนักลดและเม็ดเลือดต่ำ
ควรเสริมอาหารประเภทโปรตีน โดยควรได้รับโปรตีนประมาณ 1.5-2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ควรเป็นโปรตีนที่ย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ไม่ติดมัน หากน้ำหนักยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ควรเพิ่มการดื่มน้ำผลไม้หรืออาหารเหลวให้มากขึ้น
โลหิตจางและเม็ดเลือดแดงต่ำ
เคมีบำบัดบางชนิดออกฤทธิ์กดการทำงานของไขกระดูก ทำให้การสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยลง จึงพบผู้ป่วยมีอาการเม็ดเลือดแดงต่ำ ฮีโมโกลบินต่ำ ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงก่อนรับการรักษาและระหว่างการรักษา อาหารธาตุเหล็กสูง อาทิ เนื้อสัตว์ ผักใบเขียว เช่น ถั่วฝักยาว ใบชะพลู เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากร่างกายมีเม็ดเลือดต่ำมากอย่างต่อเนื่องบางครั้งต้องได้รับยาฉีดกระตุ้นเม็ดเลือดแดงพวก erythropoietin เป็นตัวกระตุ้น โดยแพทย์ผู้ทำการรักษาจะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม
แผลในช่องปาก ปากแห้งคอแห้ง
การเกิดแผลในช่องปากหรือปากแห้งมาจากการที่เซลล์เยื่อบุผิวถูกทำลาย ควรดื่มน้ำให้เพียงพอวันละ 10 แก้ว อาจต้องงดอาหารรสจัดในระหว่างเกิดอาการดังกล่าว ในที่นี้รวมไปถึงอาหารที่รสเปรี้ยวจัด และอาหารที่มีความร้อนมากเกินไป ควรกลั้วคอด้วยน้ำเกลือเป็นประจำโดยเจือจางน้ำ 1 แก้ว ต่อเกลือ 1 ช้อนชา
การรับรสและกลิ่นเปลี่ยนไป
ในบางครั้งผู้ป่วยอาจมีการรับรสและกลิ่นที่เปลี่ยน ควรต้องดูแลรสชาติอาหาร ปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม อาจเพิ่มกลิ่นในอาหารเพื่อให้มีกลิ่นหอมน่ารับประทานมากขึ้น เช่น ใส่ใบโหระพา หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันมากเพราะไขมันทำให้ปุ่มรับรสแย่กว่าเดิม
คลื่นไส้อาเจียน
เมื่อเกิดอาการคลื่นไส้อาหารที่รับประทานต้องมีลักษณะอ่อนย่อยง่าย ไม่มีไขมันเป็นส่วนประกอบมากเกินไป เริ่มรับประทานปริมาณน้อยก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณ อาหารที่เลือกรับประทานควรเป็นอาหารพลังงานสูง เช่น เลือกเนื้อปลานำมานึ่งรับประทาน
ท้องเสีย
หากเกิดอาการท้องเสีย ควรงดอาหารรสจัด อาหารที่มีกากใยสูง รวมไปถึงผักผลไม้ ควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย มีรสจืด เพื่อลดการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงไม่สุกทุกชนิด แม้แต่ผักผลไม้ควรต้มหรือผ่านความร้อนก่อนรับประทาน เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่มีอยู่ในผักเหล่านั้น ข้าวต้มเปล่าๆ มีสรรพคุณช่วยเพิ่มกำลังและช่วยลดอาการท้องเสีย สำหรับผู้ป่วยที่ท้องเสียอย่าเพิ่งรับประทานข้าวสวย ควรรับประทานตามลำดับจากน้ำข้าวจนถึงข้าวต้มใสๆ เพื่อให้ลำไส้มีโอกาสได้ปรับตัว เมื่อท้องเสียร่างกายเสียน้ำมาก ควรรับประทานน้ำข้าวเติมเกลือเล็กน้อยเพื่อเป็นการเพิ่มโซเดียม
ท้องผูก
เมื่อมีอาการท้องผูกและแน่นท้องควรดื่มน้ำให้มากขึ้น รับประทานอาหารเส้นใยให้มากขึ้น โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่วต่างๆ นอกจากนี้การฝึกเข้าห้องน้ำเป็นประจำยังช่วยได้มาก เช่น ทุกครั้งตอนตื่นนอนก็เข้าห้องน้ำแม้จะไม่ปวดอุจจาระก็ตาม เพื่อฝึกนิสัยการขับถ่ายให้เคยชิน และควรดื่มน้ำวันละอย่างน้อย 8-10 แก้ว
ท้องอืด
เป็นอาการที่เกิดจากระบบการย่อยอาหารทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้มีการตกค้างของอาหารที่ย่อยไม่สมบูรณ์อยู่ในระบบทางเดินอาหาร จุลินทรีย์ประจำถิ่นจึงทำหน้าที่ย่อยแทนทำให้เกิดแก๊สขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการท้องอืด การรับประทานอาหารไขมันต่ำและอาหารที่ย่อยง่ายจะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าว อาหารเบาย่อยง่าย เช่น ข้าว ไข่ขาว ผักกาดแก้ว ปลา และยังมีอาหารและสมุนไพรบางตัวที่มีสรรพคุณช่วยย่อยและลดกรด เช่น ขมิ้นชัน สะระแหน่ น้ำว่านหางจระเข้ น้ำทับทิม เป็นต้น
มีอาการอ่อนแรง
อาการอ่อนแรงควรสำรวจดูอาหารที่รับประทานว่าเพียงพอหรือไม่ หากพบว่าไม่พอเพียงอาจต้องเพิ่มจำนวนอาหารให้มากขึ้น หรือดื่มน้ำผลไม้เย็นๆ จิบเล่นเป็นประจำ จะทำให้ร่างกายสดชื่นขึ้น ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องเสริมอาหารทางการแพทย์เป็นบางมื้อ
ผมร่วง
เมื่อรับเคมีบำบัดอาจจะเกิดอาการผมร่วง ควรเน้นให้ผู้ป่วยได้รับอาหารประเภทโปรตีนให้พอเพียง นอกจากนี้ควรเพิ่มข้าวไม่ขัดสีเพื่อให้ได้รับวิตามินบีที่พอเพียง
รับข้อมูลเพิ่มเติมฟรี คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011
Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้