วันที่ 01-02-2019 | อ่าน : 2704
ทวารเทียมหรือทวารใหม่ หรือเรียกทับศัพท์ว่า “ออสโตมี ” เป็นการนำลำไส้มาเปิดออกทางหน้าท้อง เพื่อขับถ่ายของเสีย ส่วนของลำไส้ที่นำมาเปิดออกทางหน้าท้องเรียกว่า “stoma” ซึ่งจะมีการใช้อุปกรณ์เพื่อช่วยรองรับอุจจาระที่ร่างกายขับออกมา ลักษณะเป็นถุงเรียกว่า Colostomy bag ซึ่งถุงดังกล่าวเป็นระบบปิด ป้องกันการไหลซึมของอากาศ ของเหลวต่าง ๆ และป้องกันกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ของอุจจาระ เมื่ออุจจาระแล้ว จะต้องเปลี่ยน colostomy bag แต่การเปลี่ยนทำได้ไม่ยาก ผู้ป่วยสามารถทำได้ด้วยตนเอง ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บเมื่อแตะต้องทวารเทียม
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยผ่าตัดเปิดลำไส้ทางหน้าท้อง
• หลังผ่าตัดประมาณ 7-10 วัน แผลที่บริเวณ stoma ก็จะแห้งสนิท และระบบขับถ่ายอุจจาระก็จะเข้าสู่ภาวะปกติเช่นกัน ผู้ป่วยจึงสามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้ตามเหมือนเดิม
• หลังผ่าตัด 6–8 เดือน สามารถออกกำลังกายได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงกีฬาที่หักโหมรุนแรง และ ไม่ควรยกของหนักเพราะอาจเป็นสาเหตุการเกิดไส้เลื่อนได้
• รับประทานอาหารได้ทุกประเภท ยกเว้นบางโรคที่ต้องควบคุมการรับประทานอาหาร เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน โรคตับ โรคไต ความดันโลหิตสูง
• ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สและกลิ่น เช่น ถั่ว สะตอ ชะอม น้ำอัดลม เบียร์ เป็นต้น แต่ผลิตภัณท์บางชนิดมีตัวช่วยเก็บกลิ่นด้วย
• ควรดื่มน้ำอย่างน้อย วันละ 6–8 แก้ว หลีกเลี่ยงปัญหาท้องผูก
• การมีเลือดออกเล็กน้อยไม่ต้องตกใจ เพราะอาจเกิดจากการทำความสะอาดที่บ่อยหรือแรงเกินไป
• การผ่าตัดไม่ได้ลดความต้องการทางเพศแต่อย่างใด ขึ้นกับการแสดงออกและความเข้าใจซึ่งกันและกัน
อาการผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์ คือ
1.ผิวหนังรอบทวารเทียมอักเสบหรือเกิดแผลเปื่อยจากอุจจาระสัมผัสบริเวณผิวหนัง สาเหตุจากการปิดถุงที่ไม่พอดีหรือตำแหน่งทวารเทียมไม่เหมาะสม ทำให้เกิดมีรอยรั่วซึมของอุจจาระ หรือ ใช้สบู่ที่มีฤทธิ์แรงทำความสะอาด รวมทั้งการแพ้กาวจากถุงรองรับ อุจจาระ
2.ลำไส้ที่ทำทวารเทียมตีบแคบ บวม หรือ มีสีดำคล้ำ
3.ไส้เลื่อน หรือ ลำไส้ยื่นออกมามากผิดปกติ
4.เลือดออกมาก
5.ท้องเสียรุนแรง อุจจาระเหม็นผิดปกติ
6.ท้องผูก ไม่ถ่ายอุจจาระ ท้องอืด อาเจียน
ในผู้ป่วยที่ต้องทำการผ่าตัดมีทวารเทียม มักมีความเครียดและมีความวิตกกังวลเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของตนเอง อาจมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านกิจวัตรประจำวัน การใช้ชีวิตในสังคม และอาจกระทบถึงบทบาทและสัมพันธภาพในครอบครัว แต่ถ้าผู้ป่วยมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องทวารเทียมและการดูแลทวารเทียม อีกทั้งได้รับแรงสนับสนุนจากบุคคลใกล้ชิดโดยการพูดเชิงบวก การไม่แสดงท่าทีรังเกียจจะสามารถสร้างกำลังใจที่ดีให้แก่ผู้ป่วยให้รับรู้ได้ถึงความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ยังเป็นที่รักและต้องการของบุคคลรอบข้างจะทำให้สามารถปรับตัวยอมรับสถานการณ์และโรคที่กำลังเผชิญอยู่ได้
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011
Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้