การดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณทรวงอก

วันที่ 27-05-2010 | อ่าน : 6455


การดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณทรวงอก
 


      การฉายรังสีบริเวณทรวงอก  ผลของรังสีอาจทำให้เกิดความไม่สุขสบายอันเนื่องมาจากส่วนต่างๆ ของร่างกายในบริเวณดังกล่าว เช่น  ผิวหนัง  หลอดอาหาร  หลอดลม  ปอด  ข้อต่อต่างๆ ได้รับรังสี  ดังนั้นผู้ป่วยควรทราบข้อปฏิบัติเพื่อปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง  จะช่วยป้องกันหรือลดอาการที่เกิดขึ้นทำให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์มีคุณภาพชีวิตที่ดี

การดูแลผิวหนัง
     เพื่อป้องกันผิวหนังถลอกเป็นแผลโดยเฉพาะบริเวณซอกรักแร้

ผู้ป่วยควรปฏิบัติดังนี้
  • ควรสวมเสื้อผ้าหลวมๆ เนื้อผ้าอ่อนนุ่ม  หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อในรัดหรือคับเกินไป
  • ไม่ควรสวมใส่วัตถุที่เป็นโลหะขณะฉายรังสี  เช่น  สร้อยคอ
  • หลังอาบน้ำควรใช้ผ้านุ่มๆ ซับให้แห้ง  อย่าเช็ดแรงเป็นอันขาด
  • ไม่ควรให้ผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสีถูกแสงแดดจัด
  • ควรพยายามเปิดรักแร้อยู่เสมอในสถานที่ที่เหมาะสม  เช่น ที่บ้าน

ผลต่อระบบทางเดินอาหาร
     อาจมีอาการกลืนลำบาก  ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายภายใน 2-3 สัปดาห์  ภายหลังสิ้นสุดการรักษา

ผู้ป่วยควรปฏิบัติดังนี้
  • รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย
  • หลีกเลี่ยงอาหารร้อนจัด  เย็นจัด  อาหารเผ็ด  น้ำอัดลม
  • ควรได้รับอาหารเสริมระหว่างมื้อ  เช่น  นม  น้ำผลไม้
  • ดื่มน้ำบ่อยๆ วันละ 8-10 แก้ว

ผลต่อระบบทางเดินหายใจ
     อาจทำให้เกิดการอักเสบบริเวณส่วนบนของหลอดลม  ทำให้เกิดการระคายเคืองและมีอาการไอ

ผู้ป่วยควรปฏิบัติดังนี้
  • งดสารระคายเคืองต่างๆ  เช่น  บุหรี่  เหล้า
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ทอดด้วยน้ำมัน
  • ถ้ามีอาการไอมาก  หรือมีไข้  ควรปรึกษาแพทย์

การบริหารปอด
      เพื่อเพิ่มสมรรถภาพของปอดโดยปฏิบัติดังนี้  วางมือ 2 ข้างที่ชายโครงด้านข้างเหนือเอว  เริ่มต้นโดยการหายใจออกให้มากที่สุดแล้วหายใจเข้าช้าๆ เพื่อให้ท้องป่องมากที่สุด  กลั้นหายใจไว้สักครู่จึงหายใจออกทางปากช้าๆ ทำซ้ำอีก 4 ครั้ง โดยการบริหารปอด ควรทำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งเช้า-เย็น

การบริหารข้อต่อและไหล่
        เพื่อป้องกันการยึดติดของข้อต่างๆ รวมทั้งการบวมของแขนข้างเดียวกับที่ได้รับการผ่าตัดเต้านมหรือการฉายรังสี
บริหารแขนปฏิบัติดังนี้
ท่าที่ 1 ยืนหันหน้าเข้าหาฝาผนังใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างแตะฝาผนังระดับเดียวกับหัวไหล่ค่อยๆ ไต่ฝ่ามือไปตามฝาผนังจนสุดแขน
ท่าที่ 2 ยกมือทั้ง 2 ข้างขึ้นแตะที่หัวไหล่  ข้อศอกแนบลำตัวยกข้อศอกให้แขนทั้ง 2 ข้างตั้งฉากกับลำตัว
ท่าที่ 3 กางแขนทั้ง 2 ข้างออกไปแนวเดียวกับหัวไหล่  หมุนปลายแขนทั้ง 2 ข้างให้เป็นวงกลม
ท่าที่ 4
  1. กางแขนทั้ง 2 ข้างออกในระดับเดียวกับหัวไหล่
  2. งอแขนใช้ฝ่ามือทั้ง 2 ข้างแตะที่ต้นคอด้านหลัง
  3. งอแขนไปข้างหลังให้หลังมือทั้ง 2 ข้างแตะบริเวณเอว
ท่าที่ 5 วางมือข้างที่ไม่ได้ฉายรังสีไว้ที่เอว  ยกมือและแขนข้างที่ฉายรังสีวางไว้บนศีรษะ  ค่อยๆ เลื่อนมือและแขนไปตามศีรษะทางด้านข้างจนสุดแขน
ท่าที่ 6 วางมือข้างที่ไม่ได้ฉายรังสีไว้ที่เอวงอแขนข้างที่ฉายรังสีไปข้างหลังให้หลังมืออยู่ระดับเอว  ค่อยๆ เลื่อนมือไปข้างหลังให้มากที่สุด
ท่าที่ 7 ยืนตัวตรงหันด้านข้างเข้าหาฝาผนัง  มือข้างที่ไม่ได้ฉายรังสีไว้ที่เอว  ใช้มือข้างที่ฉายรังสีแตะที่ฝาผนังระดับเดียวกับหัวไหล่ค่อยๆ ไต่ไปตามฝาผนังจนสุดแขน

 

 รับข้อมูลเพิ่มเติมฟรี คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078

 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
ความรู้มะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้