มะเร็งปากมดลูก

วันที่ 10-08-2018 | อ่าน : 1708


มะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer)

     เป็นมะเร็งที่เกิดบริเวณปากมดลูกของผู้หญิง มีอาการบ่งชี้ คือ ตกขาวมากผิดปกติ ตกขาวคล้ายหนอง เลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติโดยที่ไม่ใช่เลือดประจำเดือน มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือผู้ที่อยู่ในวัยทองมีเลือดออกหลังจากที่หมดประจำเดือนไปแล้ว ซึ่งโดยทั่วไปมักไม่พบอาการแสดงในระยะแรกที่เริ่มป่วย แต่จะมีอาการเมื่อเซลล์มะเร็งได้ลุกลามไปแล้ว

การตรวจมะเร็งปากมดลูกแรกเริ่ม

     เป้าหมายของการค้นหามะเร็งเริ่มแรกคือการค้นหาการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ ก่อนที่จะเกิดอาการของโรค การวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูกแรกเริ่มโดยมากมาจากการตรวจปากมดลูกประจำปี ในการตรวจภายในแพทย์ จะตรวจช่องคลอด ปากมดลูกและรังไข่ หลังจากนั้นแพทย์จะใช้อุปกรณ์เพื่อตรวจเซลล์บริเวณปากมดลูก ช่วงที่เหมาะสมในการตรวจภายในคือ 5-7 วันหลังประจำเดือนหยุด  และก่อนการตรวจ 2 วันไม่ควรสวนล้าง ยาฆ่าเชื้อ หรือยาสอด อย่างไรก็ตามควรให้แพทย์อธิบายผลให้ฟังอย่างละเอียด ผู้หญิงวัยเจริญพันธ์ที่เคยมีเพศสัมพันธ์หรือมีบุตรควรตรวจภายในอย่างน้อยปีละครั้ง

อาการของมะเร็งปากมดลูก

     มะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรกจะไม่มีอาการอะไร แต่เมื่อเป็นมะเร็งแล้วจะมีอาการเลือดออกหลังจากการตรวจภายใน หรือหลังร่วมเพศ หรือมีตกขาวผิดปกติ

  • มีเลือดออกผิดปกติ เช่นเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ มีเลือดออกหลังจากหมดประจำเดือนแล้ว ประจำเดือนมาผิดปกติ ในรอบที่ไม่ใช่รอบประจำเดือน
  • มีอาการตกขาวมีกลิ่นผิดปกติ
  • มีอาการเจ็บขณะร่วมเพศ

    ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก

         ปัจจัยเสี่ยงหมายถึงการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกิดขึ้นแล้วทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น มะเร็งแต่ละชนิดจะมีปัจจัยเสี่ยงต่างกัน ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้แก่

    • การติดเชื้อ HPV หรือการเป็นหูดที่อวัยวะเพศ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของการเกิดมะเร็งปากมดลูก
    • ระบบภูมิคุ้มกันของคุณสุภาพสตรี ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไม่ดีจะทำให้เกิดโอกาสติดเชื้อ HPV ได้ง่ายจึงมีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้น
    • การมีบุตรหลายคนเชื่อว่าจะทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้น เชื่อว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนทำให้ติดเชื้อ HPV ง่าย และขาดการป้องกันการติดเชื้อ
    • ผู้ที่มีเศรษฐานะต่ำเนื่องจากเข้าถึงบริการไม่ทั่วถึง
       

    การป้องกันมะเร็งปากมดลูก

         วิธีป้องกันและลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูก สามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ที่สามารถป้องกันไวรัสนี้ได้บางสายพันธุ์ รวมถึงสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่าง HPV-16 และ HPV-18 ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV ด้วยตนเอง ด้วยการป้องกันขณะมีเพศสัมพันธ์ ใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันการติดต่อ ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ ไม่สูบบุหรี่ ดูแลสุขภาพร่างกาย ตรวจสุขภาพ และตรวจด้วยชุดคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นระยะ และรีบไปพบแพทย์หากพบอาการแสดงของโรคที่น่าสงสัย เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก หรือเพื่อให้ทราบระยะของการป่วยแล้วเข้ารับการรักษาได้ตั้งแต่แรกเริ่มก่อนมะเร็งจะลุกลาม

     

    ขอขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลศิครินทร์

    หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ความรู้มะเร็ง
การดูแลผู้ป่วย
การรักษามะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้