ประจำเดือน ทำเสี่ยง มะเร็งรังไข่

วันที่ 01-08-2018 | อ่าน : 2078


เราอาจคุ้นเคยกับโรคมะเร็งในผู้หญิง อย่าง มะเร็งเต้านมหรือมะเร็งปากมดลูก แต่คุณรู้ไหมว่า “มะเร็งรังไข่” ก็เป็นอีกหนึ่งภัยอันตรายที่พบได้บ่อยเป็นอันดับต้นๆ ของมะเร็งระบบอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิงเลยทีเดียว แถมโรคนี้ก็ไม่มีอาการบ่งชี้และสาเหตุที่แน่ชัดอีกด้วย หากอยากรู้เท่าทัน “โรคมะเร็งรังไข่” นี่คือบทความที่คุณควรอ่าน!!

“ประจำเดือน” ปัจจัยทำเสี่ยงมะเร็งรังไข่

แม้ว่าสาเหตุที่ทำให้เกิด “โรคมะเร็งรังไข่” จะยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่ก็พบว่าปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งรังไข่ ก็คือ การมีรอบเดือนในผู้หญิง เพราะเป็นเหมือนตัวกระตุ้นให้รังไข่ได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากไข่ที่ตกในทุกๆ เดือนจะทำให้รังไข่มีแผลเล็กๆ ที่สามารถหายได้เอง แต่หากได้รับการกระตุ้นให้มีไข่ตกบ่อยๆ ก็อาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งรังไข่ได้ โดยผู้ที่มีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี หรือประจำเดือนหมดช้ากว่าอายุ 55 ปี รวมถึงคนที่ยังไม่มีลูกก็ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ได้

รู้ไหม? “ใช้แป้งฝุ่นโรยอวัยวะเพศ” ทำเสี่ยงมะเร็งรังไข่ได้

พญ.ถนอมศิริ สติฐิต สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งทางนรีเวช ได้เปิดเผยข้อมูลว่า การใช้แป้งฝุ่นโรยบริเวณอวัยวะเพศของผู้หญิง โดยเฉพาะคุณแม่ที่ชอบทาแป้งให้ลูกหลังอาบน้ำ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์..มีการพบว่า แป้งฝุ่นมีโอกาสเล็ดลอดเข้าไปในช่องท้องและกระตุ้นให้เกิดมะเร็งได้ โดย พญ.ถนอมศิริ ได้แนะนำคุณแม่ทั้งหลายว่า “กรุณาหยุดใช้แป้งฝุ่นโรยให้ลูก” รวมถึงการบริโภคอาหารไขมันสูง ซึ่งถือเป็นอาหารก่อมะเร็ง

“ปวดท้อง” อาการแฝงที่อาจไม่ใช่แค่โรคกระเพาะ

อาการเตือนที่บอกว่าคุณอาจเสี่ยงมะเร็งรังไข่ คืออาการท้องอืดเสียดแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องโตขึ้น ซึ่งอาการเหล่านี้จะใกล้เคียงกับอาการโรคกระเพาะ ทำให้บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยถูกสงสัยว่าเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ กว่าจะเข้ารับการรักษาได้ตรงจุดก็อาจเป็นระยะลุกลามแล้ว ดังนั้น สิ่งที่ไม่ควรละเลย ก็คือการตรวจภายในเป็นประจำทุกปี เพราะหากตรวจพบว่ามีก้อนรังไข่โตในระยะแรกเริ่ม การรักษาก็จะทำได้ง่ายกว่าและโอกาสหายขาดก็สูงกว่าเช่นกัน

การตรวจวินิจฉัย “มะเร็งรังไข่” มีวิธีใดบ้าง

การวินิจฉัยโรคมะเร็งรังไข่ คุณหมอจะต้องทำการตรวจภายในและตรวจร่างกายอย่างละเอียด ซึ่งถ้าหากคลำพบก้อนที่ปีกมดลูกส่วนใหญ่จะต้องมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อให้รู้ถึงหน้าตาและลักษณะของก้อนนั้นๆ โดยใช้วิธีการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตราซาวนด์ (ultrasound) แต่ในบางกรณีที่ต้องการประเมินอวัยวะส่วนอื่นในช่องท้องอาจมีการส่งตรวจที่ละเอียดยิ่งขึ้น เช่น การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ CT Scan หรือ MRI

“มะเร็งรังไข่” ถ้ารู้เร็ว...ก็รักษาได้ทัน!

หลังผ่าตัดส่วนใหญ่ผู้ปวยจะอยู่โรงพยาบาล 4-5 วัน หลังจากนั้นสูตินรีแพทย์จะทำการตัดมดลูก, ปีกมดลูกรังไข่ทั้ง 2 ข้าง, เก็บน้ำในช่องท้อง, ตัดไขมันบริเวณลำไส้,  เลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานและด้านข้างเส้นเลือดแดงใหญ่ในท้อง เพื่อดูว่ามีมะเร็งกระจายไปที่ใดบ้างที่อาจไม่เห็นด้วยตาเปล่า หากไม่มีการแพร่กระจายของมะเร็ง การรักษาก็จะจบแค่การผ่าตัด แต่ถ้าเป็นมากกว่านั้นก็จะต้องมีการให้ยาเคมีบำบัดต่อทันที

การให้ยาเคมีบำบัด..เสี่ยงต่อผลข้างเคียงอะไรได้บ้าง?

ในการรักษาโดยการให้ยาเคมีบำบัด อาจเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ภาวะซีด, การติดเชื้อเพราะเม็ดเลือดขาวต่ำ หรือการมีเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการพัฒนาตัวยาที่ช่วยลดอาการจากผลข้างเคียง เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

“ผมร่วง” อีกหนึ่งผลข้างเคียงจากการให้ยาเคมีบำบัด

สำหรับผู้หญิงเรา..การต้องเผชิญกับภาวะผมร่วงอาจทำใจได้ยาก ซึ่ง พญ.ถนอมศิริ สติฐิต สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งทางนรีเวชเปิดเผยว่า.. “ภายหลังสิ้นสุดการรักษาและไม่ต้องให้ยาแล้ว ผมจะสามารถกลับมางอกงามได้เหมือนเดิมค่ะ ระหว่างนี้ก็ถือว่าทรงผมแบบไหนที่เราคิดจะทำหรืออยากทำ ก็ลองซื้อวิกผมแบบใหม่ๆ มาลองตอนนี้ ถือว่าเราเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ต้องพยายามคิดบวกเอาไว้มากๆนะคะ”

“มะเร็งรังไข่” ไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด ทำให้การป้องกันที่ดีที่สุด คือ “การตรวจภายในเป็นประจำทุกปี” เพราะในผู้ป่วยระแยะแรกเริ่มมักไม่แสดงอาการ กว่าจะมีอาการบ่งชี้ก็อาจสายเกินจะรักษาได้ทัน เพราะฉะนั้น การ Screening ที่คุณเคยคิดว่าไม่สำคัญ จริงๆ แล้วคุณกำลังคิดผิด!!

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลพญาไท

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ความรู้มะเร็ง
การดูแลผู้ป่วย
การรักษามะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้