วันที่ 27-05-2010 | อ่าน : 14298
ผู้ป่วยที่จะได้รับการบำบัดด้วยรังสีรักษาบริเวณลำคอและศีรษะ ควรจะต้องพบทันตแพทย์เสียก่อน เพื่อเตรียมช่องปากให้อยู่ในสภาพที่พร้อมจะรับผลกระทบ และลดผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากรังสี ระหว่างการได้รังสีรักษาประมาณ 7-10 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีอาการจากผลแทรกซ้อนของรังสีเกิดขึ้นเป็นระยะ พอสรุปอาการต่างๆ ได้ดังนี้
อาการทั่วไป เหนื่อย อ่อนเพลียมาก ขาดอาหาร เคี้ยวยาก กลืนยาก โลหิตจาง นอนไม่หลับ วิตกกังวล ท้อแท้สิ้นหวัง
อาการเฉพาะที่
• อาการทางผิวหนัง แดง คล้ำ เซลล์ตายเป็นขุย หรือกระทั่งรอยพับของคอแฉะ ลอกและเปื่อย ผิวหนังเริ่มแข็งตึง รอบริมฝีปากตึง อ้าปากได้เล็กน้อย
• อาการเจ็บปากและ mucosis (เป็นปฏิกิริยาคล้ายการอักเสบที่เกิดแก่เยื่อบุผิวช่องปาก คอ หลังการได้รังสีรักษาในเวลาขนาดที่แน่นอนหนึ่ง) มีอาการอักเสบ เยื่อบุแดง ปากเป็นแผลมาก หรือน้อย มีฝ้าขาวหนาตัวเกาะตามเนื้อเยื่อบุหรือตามร่องแก้ม ลิ้นเริ่มเปลี่ยนและรับรู้รสน้อยลง กินอาหารได้น้อย กลืนยาก
• อาการปากแห้ง ผู้ป่วยเริ่มมีอาการปากแห้งประมาณสัปดาห์ที่ 3 ขึ้นไปผู้ป่วยจะบอกว่าปากแห้งตอนกลางคืน จนถึงรุ่งเช้า น้ำลายเหนียว เริ่มกินยาก เพราะอาหารติดตามแก้ม หรือเพดานปาก ลิ้นเคลื่อนไหวยาก พูดจายากลำบาก สภาพที่เกิดขึ้น ชักนำให้เกิดการติดเชื้อของเหงือกหรือฟัน รุนแรงมากขึ้น เช่น ปวดฟัน ฟันโยก ฟันผุ มีกลิ่นเน่าเหม็น และถูกซ้ำเติมด้วยการไม่ทำความสะอาดของผู้ป่วย เนื่องจากเหนื่อย เจ็บปาก อ้าปากได้น้อย
การดูแลผู้ป่วยระหว่างได้รับรังสีรักษาบริเวณคอและศีรษะ
1. การดูแลเรื่องอาหาร
ให้อาหารอ่อน เช่น ก๋วยเตี๋ยว ข้าวต้ม โจ๊ก อาหารที่มีสภาพไม่เหนียว เคี้ยวกลืนไม่ยาก เพื่อลดการเคี้ยวให้น้อยที่สุด อาหารเหลวที่ไม่หนืดเหนียว เพราะความหนืดเหนียวของอาหารอาจทำให้อาหารติดตามลิ้น เพดานปาก กระพุ้งแก้ม เหงือก ก่อให้เกิดความเจ็บปวดได้
อุณหภูมิของอาหารที่ร้อนหรือเย็นเกินไป มีผลต่อการกระตุ้นประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวด และทำลายเซลล์งอกใหม่ จึงจำเป็นต้องควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในช่วง 20-45 องศาเซลเซียส รสเปรี้ยว เผ็ด เค็ม หวาน ถือเป็นสารเคมีที่ให้รสชาติชนิดหนึ่ง ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นเซลล์ประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวด จึงจำเป็นต้องควบคุมรสชาติไม่ให้จัดเกินไป
หากผู้ป่วยรับประทานอาหารไม่ได้ก็จำเป็นต้องให้อาหารทางหลอดเลือดดำ และดูแลให้ผู้ป่วยได้รับน้ำดื่มอย่างเพียงพอ วันละ 2-3 ลิตร ในกรณีที่ไม่มีข้อห้าม เนื่องจากการได้รับน้ำดื่มอย่างเพียงพอ จะเป็นการช่วยเพิ่มความชุมชื้นของช่องปากได้ดี และลดความตึงของเยื่อบุ ทำให้ผู้ป่วยสุขสบายช่องปากมากขึ้น
2. การดูแลช่องปาก
รักษาความสะอาดช่องปาก ฟัน เหงือก ลิ้น ก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง ให้บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ (0.9% NSS) ก่อนทุกครั้ง ในกรณีที่มีแผลในช่องปาก และบ้วนปากด้วยน้ำธรรมดา ในกรณีที่มีเพียงรอยบวมแดง ไม่มีแผล การบ้วนปากจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปากสะอาด ทำให้รู้สึกอยากอาหารเพิ่มขึ้นด้วย
ใช้ยาอมและบ้วนปากที่เหมาะสม คือ ไม่มีแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้แสบปาก อาจเป็น antiseptic หรืออาจเป็นน้ำยาต้านการอักเสบ เช่น Difflam ที่ควรใช้ตั้งแต่ก่อนได้รับรังสี อาจใช้ยาอมบ้วนปากผสมยาชา เช่น Orofar เพื่อลดความเจ็บปวด หรือใช้ยาชาแบบป้าย Xylocaine gel 4% ป้ายทาที่บริเวณเยื่อบุที่เจ็บหรือมีแผล
3. อาการเจ็บ หรือ ความปวด ให้ยาระงับปวดอย่างต่อเนื่อง เช่น ยาพาราเซตามอล 500 ม.ก ทุก 4 ช.ม
การดูแลช่องปากภายหลังหยุดรังสีรักษา
1. การถอนฟันหลังหยุดรังสีรักษา ผลที่อาจเกิดขึ้นได้ หลังการถอนฟันเมื่อหยุดรังสีรักษา คือ แผลหายช้า มีแนวโน้มจากการติดเชื้อแผลถอนฟัน และลุกลามขยายตัวต่อไปได้ กระดูกตาย ติดเชื้อซ้ำ แนวทางปฏิบัติหากมีการถอนฟันหลังได้รับรังสีรักษา คือ
• หากทำได้ควรให้ผู้ป่วยควรนอนโรงพยาบาล เพื่อประสิทธิภาพในการดูแลแผลถอนฟันและการทำหัตถการ
• ให้ยาต้านจุลชีพที่เหมาะสม ก่อนการถอนฟัน เพื่อให้ระดับยาในกระแสเลือดเพียงพอ และให้ต่อไประหว่างแผลถอนฟันกำลังมีกระบวนการหาย หากแผลหายยาก ให้ผู้ป่วยมารับการล้างแผล ทำความสะอาดทุกวันที่โรงพยาบาลจนกว่าจะควบคุมการติดเชื้อได้
• หลังถอนฟันไปตรวจตามแพทย์นัดทุกครั้ง
2. การใส่ฟัน อุปสรรคในการใส่ฟันปลอมของผู้ป่วย คือ น้ำลายน้อย คุณภาพของ mucosa ลดลง ผู้ป่วยอ้าปากได้แคบลง ควรเริ่มใส่ฟัน เมื่อหยุดรังสีรักษาประมาณ 12 เดือน เพราะว่าเวลานี้ mucosa จะแข็งแรงพอสมควร แต่ก็ยังคงบางและเสี่ยงต่อการเกิดแผลได้จากการกดทับของฐานฟันปลอม นอกจากนี้ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ เพื่อตรวจสอบการใช้ฟันปลอมเป็นระยะ เช่น ทุกเดือน หากพบว่า mucosa เกิดจุดแดง จะได้แก้ไขโดยด่วนก่อนการเกิดแผล ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะกระดูกตายได้
รับข้อมูลเพิ่มเติมฟรี คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011
Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้