ปวดท้องโรคกระเพาะ Vs มะเร็งรังไข่ อาการคล้ายกันนะ รู้เปล่า?

วันที่ 06-07-2018 | อ่าน : 1622


ปวดท้องโรคกระเพาะ Vs มะเร็งรังไข่ อาการคล้ายกันนะ รู้เปล่า?

จุก เสียด อาหารไม่ย่อยแบบนี้...ต้องเป็นโรคกระเพาะแน่ๆ อ๊ะ! อย่าเพิ่งตัดสินใจฟันธงไปก่อน เพราะอาการปวดท้องในลักษณะนี้ บางทีก็อาจเป็นสัญญาณเตือนของ “มะเร็งรังไข่” ได้นะ มีรายงานว่า...มะเร็งรังไข่เป็นโรคมะเร็งในระบบอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิงที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับต้นๆ เลยทีเดียว

ทำไม? มะเร็งรังไข่ จึงเป็นโรคร้ายที่โอกาสเสียชีวิตสูง

มะเร็งรังไข่ ถือว่าเป็นโรคมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิงที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง เพราะมักตรวจพบโรคในระยะท้ายๆ หรือลุกลามจนอันตรายแล้ว เนื่องจากมะเร็งรังไข่ระยะแรกจะไม่ค่อยแสดงอาการ หรือหากมีอาการก็มักไม่เจาะจงชัดเจนว่าเป็นมะเร็งรังไข่ เช่น จุก เสียด คล้ายโรคกระเพาะ กว่าผู้ป่วยจะสังเกตพบความผิดปกติหรือคลำพบก้อนแล้วไปพบแพทย์ ก็อาจจะสายเกินไป!

นอกจาก “ท้องอืด จุก เสียด” มะเร็งรังไข่..อาจมีอาการเหล่านี้

โดยมากผู้ป่วยมักจะมีอาการคล้ายโรคกระเพาะอาหาร เช่น อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ รู้สึกอึดอัดในช่องท้อง แต่หากเริ่มมีการลุกลามหรือกดเบียดอวัยวะใกล้เคียง อาจทำให้มีอาการท้องผูกหรือท้องเสีย ปัสสาวะบ่อย รวมไปถึงอาจมีอาการคลื่นไส้ น้ำหนักขึ้นหรือลดโดยไม่ทราบสาเหตุ และมีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอดร่วมด้วย

แล้วจะรู้ได้อย่างไร? ว่าเรากำลังเสี่ยง “มะเร็งรังไข่”

การสังเกตความผิดปกติ เช่น สังเกตประจำเดือน หรือมีการคลำพบก้อน แล้วเข้ารับการตรวจภายในกับสูตินรีแพทย์ นับว่าเป็นแนวทางในการตรวจพบความผิดปกติเบื้องต้น ก่อนนำไปสู่การตรวจอย่างละเอียด เช่น การอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง ตลอดจนการตรวจเช็กวิธีอื่นๆ เช่น การเจาะเลือดตรวจ..แต่จะใช้ค้นหามะเร็งรังไข่ได้แค่บางชนิดเท่านั้น

“มะเร็งรังไข่” สามารถรักษาได้ด้วยวิธีไหนบ้าง

    - การผ่าตัด (Surgery) ถือว่าเป็นการรักษาวิธีหลัก...แต่จะใช้ในกรณีที่เซลล์มะเร็งยังไม่ลุกลาม หรือมีขนาดไม่ใหญ่มาก

    - การใช้เคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการใช้ยาเพื่อยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยการใช้ยาเคมีบำบัดจะมีทั้งการกินยาเม็ด และการฉีดผ่านสายเข้าร่างกาย

    - การใช้รังสีรักษา (Radiation therapy) เป็นการใช้รังสีในการทำลายเซลล์มะเร็ง เพื่อให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง

    - การให้ยารักษาตรงเป้า (Targeted therapy) เป็นการรักษาโดยการใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์ปกติที่อยู่ใกล้เคียงไม่ถูกทำลายเหมือนกับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือฉายรังสี

     เพราะสาเหตุของการเกิดโรคยังไม่แน่ชัด การป้องกัน...จึงทำได้เพียงหมั่นสังเกตความผิดปกติ ร่วมกับการตรวจภายในประจำปี เพื่อเพิ่มโอกาสในการตรวจพบ โดยเฉพาะผู้หญิงอายุ 50-60 ปี หรือวัยหมดประเดือน กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งรังไข่สูง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลพญาไท
 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ความรู้มะเร็ง
การดูแลผู้ป่วย
การรักษามะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้