มะเร็งตับ

วันที่ 26-05-2010 | อ่าน : 68083


มะเร็งตับ

              มะเร็งตับ เป็นโรคที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งของผู้ชายไทย และมะเร็งท่อน้ำดีที่ภาคอีสานมีอุบัติการณ์สูงสุดในโลก อาจกล่าวได้ว่านอกจากโรคมะเร็งตับจะพบมากและเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญของผู้ป่วยมะเร็งแล้ว  โรคมะเร็งตับยังมีความร้ายแรงเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่น โอกาสเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับสูงมากกว่ามะเร็งชนิดอื่นที่พบบ่อย เช่น มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ ผู้ป่วยมักเสียชีวิตอย่างรวดเร็วภายหลังการวินิจฉัย

      ดังนั้นการรู้เท่าทันโรคมะเร็งตับจึงจำเป็นทั้งในการป้องกันไม่ให้เกิดโรค สามารถวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น หรือรักษาอย่างถูกวิธี   ในกรณีที่โรคเป็นมากเพื่อยืดชีวิตผู้ป่วย ลดความทุกข์ทรมานจากโรคและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย การรักษามะเร็งตับยังทำได้ยาก แม้แต่ผู้ป่วยมะเร็งตับที่รักษาด้วยการผ่าตัดก้อนมะเร็งตับออกได้หมด ยังมีความเสี่ยงต่อการกลับเป็นซ้ำของโรคได้สูงถึงร้อยละ 50 ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงมีการศึกษาวิจัยพัฒนา ค้นหาวิธีการรักษาโรคมะเร็งตับที่มีประสิทธิภาพ จนในที่สุดปัจจุบันนี้ สามารถค้นพบยาที่จัดเป็นนวัตกรรมใหม่ในการรักษามะเร็งตับ เป็นยารักษาตามเป้าหมาย ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเส้นเลือดที่มาเลี้ยงก้อนมะเร็งตับและยับยั้งยีนก่อมะเร็งราฟ มีผลทำให้การรักษาโรคมะเร็งดีขึ้น

อุบัติการณ์
            มะเร็งตับ พบมากเป็นอันดับที่หกของผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลก และพบมากที่สุดในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทย และประเทศในทวีปอัฟริกา มะเร็งตับที่เกิดจากเซลล์ตับ (hepatocellular carcinoma) เป็นมะเร็งตับที่พบมากที่สุดถึงร้อยละ 80-90 ของมะเร็งตับทั้งหมดทั่วโลก มีรายงานผู้ป่วยใหม่ที่เป็นโรคมะเร็งตับมากกว่า 600,000 คนต่อปี และเป็นสาเหตุการตายที่พบบ่อยเป็นอันดับที่สามของสาเหตุการตายของประชากรโลกจากโรคมะเร็ง มะเร็งตับพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 2-3 เท่า การที่มะเร็งตับพบร้อยละ 5.6 ของผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลก แต่กลับมีอัตราการตายของมะเร็งตับสูงถึงร้อยละ 8.8 ของสาเหตุการตายจากมะเร็งทุกชนิด แสดงว่ามะเร็งตับเป็นโรคที่รักษาได้ยากหรือเป็นมากเมื่อวินิจฉัยโรคครั้งแรก  หรืออาจเกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงเกิดขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีอัตรารอดชีวิตน้อยและมีระยะเวลารอดชีวิตสั้น

      สำหรับประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย ประเทศไทยมีอัตราการพบโรคมะเร็งตับสูงเป็นอันดับสามรองจากมองโกเลียและเกาหลี โดยพบในผู้ชายไทย สูงถึง 36.9 คนต่อประชากร 100,000 คนและพบในผู้หญิงไทย 15.2 คนต่อประชากร 100,000 คน ในแต่ละภูมิภาคของประเทศพบแตกต่างกัน โดยพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในอัตรา 37.6 คนต่อประชากร 100,000 คน ในเพศชายและ 16 ต่อประชากร 100,000 คนในเพศหญิง ส่วนทางภาคใต้จะพบน้อยกว่า

สาเหตุ
     ตับของมนุษย์อยู่บริเวณท้องส่วนบนด้านขวา มีขนาดใหญ่เป็นรูปสามเหลี่ยมมีสีแดงเข้มเนื่องจากมีเลือดไหลผ่านจำนวนมาก มีกำลังสำรองมาก ดังนั้นกว่าตับจะเสื่อมเสียหน้าที่การทำงาน  และกว่าจะตรวจพบได้ชัดเจน ตับต้องถูกทำลายไปมากกว่าร้อยละ 70 แต่ถ้าตับเสื่อมอยู่เดิม เช่น มีภาวะตับแข็งอยู่ก็อาจเสื่อมเร็วขึ้น ภายหลังมะเร็งลุกลามทำลายเนื้อตับ
มะเร็งตับมีสาเหตุชัดเจน สามารถป้องกันได้หากรู้เท่าทันโรค สาเหตุที่สำคัญของการเกิดโรคตับมีดังนี้
         1. ไวรัสตับอักเสบชนิดบี พบถึงร้อยละ 80 ของมะเร็งตับในประเทศไทย ติดต่อได้ 3 ทางคือ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นพาหะของโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี ถ่ายทอดทางเลือด เช่น ได้รับเลือดจากผู้ที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบชนิดบี หรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ติดต่อจากแม่ไปลูก แม่ที่ตั้งครรภ์และเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบชนิดบี อาจถ่ายทอดไปสู่ลูกได้ การศึกษาในประเทศไต้หวันพบว่าผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับมากกว่าคนปกติถึง 200 เท่าทีเดียว
        
         2. ไวรัสตับอักเสบชนิดซี พบว่าเป็นสาเหตุของมะเร็งตับที่พบบ่อยในยุโรป ในประเทศไทยพบน้อยมีการติดต่อคล้ายกับไวรัสตับอักเสบชนิดบี แต่พบว่าติดต่อทางการให้เลือดมากกว่า

         3. สารอะฟลาท๊อกซิน เป็นสารที่สร้างจากเชื้อราบางชนิด เช่น เชื้อรา แอสเปอจีรัสฟลาวุส (aspergillus flavus) ที่ปนเปื้อนในอาหารที่เก็บไม่ถูกต้อง เช่น ถั่วลิสง ข้าวโพด และยังพบได้ในข้าวกล้องหรือแม้แต่พริกแห้งอีกด้วย จัดเป็นสารก่อมะเร็ง โดยจะจับกับดีเอนเอของเซลล์ตับทำให้เกิดการกลายพันธุ์จนเกิดโรคมะเร็งตับในที่สุด ถ้ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีอยู่แล้ว ไวรัสจะทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของตับ เป็นระยะตั้งต้นของขบวนการเกิดโรคมะเร็ง ส่วนสารอะฟลาท๊อกซินเป็นปัจจัยเสริมทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับสูงขึ้น

         4. แอลกอฮอล์ การดื่มเหล้า เบียร์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ จะทำให้ตับเสื่อมเร็วขึ้นเกิดอาการตับแข็งได้ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับ ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งตับสูงกว่าผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
5. ตับแข็ง โรคนี้เกิดขึ้นจากสาเหตุต่าง ๆ หลายประการ ผู้ป่วยบางรายเกิดภาวะตับแข็งโดยไม่ทราบสาเหตุ การเกิดภาวะตับแข็งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดโรคมะเร็งตับ

 


สัญญาณเตือนภัยของมะเร็งตับ
 การเป็นมะเร็งที่เนื้อตับมักไม่มีความเจ็บปวด กว่าผู้ป่วยมะเร็งจะเกิดอาการเจ็บปวดมะเร็งต้องลุกลามมากถึงผิวที่หุ้มตับแล้วเท่านั้น หรือก้อนต้องมีขนาดใหญ่มาก ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเกิดอาการไม่สบายที่ตรวจพบได้ ผู้ป่วยจึงมาพบแพทย์ และสุดท้ายมักพบว่าโรคเป็นมากแล้ว ทำให้ผลการรักษาไม่ดี 

อาการของโรคมะเร็งตับมีหลายแบบโดยอาจแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะดังนี้
          1. อาการเฉพาะที่ เป็นอาการที่เกิดจากก้อนมะเร็งตับมีขนาดใหญ่เบียดเนื้อเยื่อปกติหรืออวัยวะใกล้เคียง คลำได้เป็นก้อนที่ช่องท้องส่วนบนขวาของร่างกาย เกิดอาการจุกแน่นบริเวณท้องด้านขวาบน ไม่สบายท้อง ท้องอืดแน่น หรือปวดท้อง ถ้ามะเร็งลุกลามไปถึงเยื่อบุตับ หากมะเร็งทำลายเนื้อตับมากกว่าร้อยละ 70 จะเกิดอาการดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต มีน้ำในช่องท้อง เส้นเลือดขอดบริเวณหน้าท้อง

          2. อาการจากการลุกลามแพร่กระจายโรค มะเร็งตับอาจแพร่กระจายไปที่ปอดทำให้เกิดเกิดอาการหอบเหนื่อย  หรือลุกลามเข้ากระดูกเกิดอาการปวดกระดูก แต่ผู้ป่วยส่วนมากมักเสียชีวิตไปก่อนที่โรคแพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่นของร่างกาย
3. อาการจากพิษของมะเร็ง มะเร็งตับอาจปล่อยสารพิษออกมามากทำให้เกิดอาการต่าง ๆ หลายประการ ได้แก่  มีไข้  เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผอมลง เป็นต้น

ชนิดของมะเร็งตับ
เราอาจแบ่งมะเร็งตับออกเป็นชนิดต่าง ๆ ได้ 3 ชนิด คือ
         
        1. มะเร็งตับที่เกิดจากเซลล์มะเร็งตับ เรียกว่า มะเร็งตับ (hepatocellular carcinoma) พบมากที่สุดมากกว่าร้อยละ 80 ของมะเร็งตับทั้งหมด

        2. มะเร็งท่อน้ำดี พบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกิดจากพยาธิใบไม้ในตับ คนที่รับประทานปลาดิบที่มีพยาธิใบไม้ในตับ จะเกิดการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ และกลายเป็นมะเร็งท่อน้ำดีในที่สุด

        3. มะเร็งตับชนิดอื่นๆ เช่น มะเร็งน้ำเหลือง (lymphoma) ที่เกิดในตับ มะเร็งเส้นเลือดของตับ (angiosarcoma) หรือมะเร็งที่แพร่กระจายจากอวัยวะอื่น ๆ เข้าตับ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่แพร่กระจายเข้าตับเป็นต้น

ภาวะที่พบร่วมกับมะเร็งตับ

          เนื่องจากมะเร็งตับส่วนใหญ่เกิดจากไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือซี จึงพบอาการและผลข้างเคียงจากภาวะตับเสื่อมหรือตับแข็งร่วมด้วย ได้แก่ เส้นเลือดขอดในหลอดอาหารหรือกระเพาะอาหารโป่งพอง อาเจียนเป็นเลือด ม้ามโต ท้องมาน คือ การมีน้ำในช่องท้องจากภาวะตับแข็ง เส้นเลือดขอดที่หน้าท้องซึ่งเป็นผลมาจากความดันของเส้นเลือดในตับสูงมากจากภาวะตับแข็ง บางครั้งที่ม้ามโตอาจทำลายเม็ดเลือด ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ เกร็ดเลือดต่ำ โลหิตจาง นอกจากนั้นการที่ตับเสื่อม ซึ่งเป็นผลจากปัจจัย 3 ประการ คือ มะเร็งตับ ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ และภาวะตับแข็ง อาจทำให้ระบบแข็งตัวของเลือดในร่างกายเสียไป เพราะตับทำหน้าที่สร้างปัจจัยแข็งตัวของเลือด ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะเลือดออกง่าย ฮอร์โมนเพศหญิงอาจเพิ่มขึ้นในผู้ป่วยมะเร็งตับจากภาวะตับเสื่อมหรือตับแข็ง ทำให้ผู้ป่วยชายที่เป็นมะเร็งตับอาจมีเต้านมโตขึ้นคล้ายนมผู้หญิง (gynecomastia)
 

การวินิจฉัยโรคมะเร็งตับ

          เมื่อสงสัยว่าเป็นโรคมะเร็งตับจากการมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค หรือมีอาการแสดงของโรค จำเป็นต้องมีการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคมะเร็งตับซึ่งมีวิธีการต่าง ๆ ดังนี้

       1. การซักประวัติและการตรวจร่างกายโดยแพทย์
       2. การเจาะเลือดตรวจระดับดัชนีมะเร็งตับที่เรียกว่า อัลฟ่าฟีโตโปรตีน (AFP : alpha-fetoprotein) ถ้ามีระดับในเลือดสูงอาจเป็นโรคมะเร็งตับได้ การตรวจไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซี ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับ โดยตรวจได้ทั้งแอนติเจนและแอนติบอดี้ของไวรัส และการตรวจดีเอนเอหรืออาร์เอ็นเอของตัวเชื้อไวรัสเอง การตรวจเลือดดูการทำงานของตับและเม็ดเลือด
       3. การตรวจทางรังสีวินิจฉัย การตรวจด้วยวิธีเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์หรือเอ็กซเรย์สนามแม่เหล็กที่เรียกว่าเอ็มอาร์ไอ (MRI : Magnetic Resonance Imaging) ให้ผลการตรวจที่แม่นยำและจำเพาะดีกว่าการตรวจด้วยอัลตราซาวด์
       4. การเจาะตับตรวจทางพยาธิวิทยา เป็นการตรวจวินิจฉัยที่แน่นอนแต่อาจมีผลข้างเคียงของการตกเลือด  หรือการติดเชื้อ ภายหลังการเจาะได้ 
       5. การส่องกล้องตรวจ นิยมใช้ตรวจแผลหรือเส้นเลือดในกระเพาะ ซึ่งเป็นผลแทรกซ้อนจากภาวะตับแข็ง หรือส่องกล้องตรวจท่อน้ำดี ในกรณีที่สงสัยว่าเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดี

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับ

       ผู้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับ เช่น เป็นพาหะของโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือซี ตับแข็ง ควรตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับด้วยการเจาะเลือดตรวจระดับค่าอัลฟ่าฟีโตโปรตีน และตรวจอัลตราซาวด์ตับทุก 6 เดือน ตลอดชีวิต เพื่อตรวจค้นหาโรคมะเร็งตับระยะเริ่มต้นที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัด

ระยะของโรคมะเร็งตับ

         ภายหลังการวินิจฉัยโรคมะเร็งตับ สิ่งสำคัญเป็นอันดับต่อมา คือ การดูระยะของโรค เพื่อที่แพทย์จะได้วางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม ตามแต่ระยะของโรค ระยะของโรคสามารถดูได้จากขนาดของเนื้องอก และการกระจายของเนื้องอกไปตามเส้นเลือด หรือระบบน้ำเหลือง
• ระยะที่ 1 (Tumor Stage 1 ) คือเนื้องอกมีเพียงก้อนเดียว และมีขนาดเล็กกว่า 2 เซนติเมตร ไม่มีการลุกลามเข้าสู่เส้นเลือด
• ระยะที่ 2 (Tumor Stage 2) คือเนื้องอกมีเพียงก้อนเดียว มีขนาดเล็กกว่า 2 เซนติเมตร แต่มีการลุกลามเข้าสู่เส้นเลือด หรือมีเนื้องอกหลายก้อน แต่ละก้อนมีขนาดเล็กกว่า 2 เซนติเมตร ซึ่งอยู่เฉพาะตับซ้ายหรือตับขวา อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น หรือเนื้องอกมีเพียงก้อนเดียว แต่มีขนาดมากกว่า 2 เซนติเมตร แต่ไม่มีการลุกลามเข้าสู่เส้นเลือด
• ระยะที่ 3 (Tumor Stage 3) คือเนื้องอกมีเพียงก้อนเดียว มีขนาดมากกว่า 2 เซนติเมตร และมีการลุกลามเข้าสู่เส้นเลือด
• ระยะที่ 4A (Tumor Stage 4A) คือ มีเนื้องอกหลายก้อนอยู่ทั้ง 2 ข้างของตับ หรือมีการกระจายเข้าสู่เส้นเลือดดำใหญ่
• ระยะที่ 4B (Tumor Stage 4B) คือเนื้องอกกระจายไปสู่อวัยวะอื่นแล้ว

การรักษาโรคมะเร็งตับ

การรักษาโรคมะเร็งตับขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่เป็น และหน้าที่ของตับในขณะนั้น ซึ่งมีวิธีการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

          1. การผ่าตัดก้อนมะเร็งออก ทำได้ในกรณีที่มะเร็งตับมีขนาดเล็กผ่าตัดออกได้หมด โรคยังไม่แพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองหรือส่วนอื่นของร่างกาย ถือว่าเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุดเพราะสามารถหายขาดได้  แต่ยังมีความเสี่ยงต่อการเป็นซ้ำหลังการผ่าตัดซึ่งอาจสูงถึงร้อยละ 50

          2. การผ่าตัดเปลี่ยนตับ ในกรณีที่ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็ก ไม่แพร่กระจายออกไปนอกตับ แต่มีภาวะตับแข็ง ตับเสื่อมมาก อาจพิจารณาผ่า
ตัดเปลี่ยนตับ แต่ผลการรักษายังไม่ดีเท่าที่ควร และหาผู้บริจาคตับได้ลำบาก บางครั้งต้องรอตับที่บริจาคนานมาก จนกว่าจะทำการผ่าตัดโรคก็กำเริบไปแล้ว

          3. การจี้ด้วยคลื่นความถี่สูง (Radiofrequency ablation) การจี้ก้อนมะเร็งตับด้วยคลื่นความถี่สูง จะเกิดพลังความร้อนทำลายก้อนมะเร็งตับที่ขนาดเล็กได้

          4. การฉีดแอลกอฮอล์เข้าก้อนมะเร็งตับ ในกรณีที่ก้อนมะเร็งตับมีขนาดเล็ก เช่น ไม่เกิน 3 เซนติเมตรก้อนเดียว อาจใช้เข็มฉีดยาฉีดแอลกอฮอล์ผ่านทางผิวหนังเข้าสู่ก้อนมะเร็งโดยตรง

          5. การฉีดยาเคมีบำบัดและสารอุดเส้นเลือดตับที่เลี้ยงก้อนมะเร็งตับ (transarterial chemoembolization) อาศัยหลักการที่ก้อนมะเร็งตับเลี้ยงด้วยสารเส้นเลือดแดงของตับ (hepatic artery) ส่วนตับปกติเลี้ยงด้วยเส้นเลือดดำของตับ (hepatic vein) ดังนั้นการฉีดยาเคมีบำบัดและสารไปอุดเส้นเลือดแดงของตับโดยตรง จะทำลายก้อนมะเร็งตับโดยมีผลน้อยต่อตับปกติ วิธีนี้นิยมใช้รักษามะเร็งเฉพาะที่ ในกรณีที่ผ่าตัดก้อนมะเร็งตับไม่ได้

          6. การฉายแสงที่ก้อนมะเร็ง เป็นการรักษาแบบประคับประคอง ลดอาการเจ็บปวดจากก้อนมะเร็งตับ โดยการฉายแสงรังสีที่ตับโดยตรง แต่มีการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งตับด้วยรังสีรักษาระดับสูงไปที่ก้อนมะเร็งตับโดยตรง อาจใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด

          7. การรักษาโรคมะเร็งตับด้วยยา ข้อบ่งชี้ของการรักษาโรคมะเร็งตับด้วยยา คือ มะเร็งตับระยะแพร่กระจาย หรือมะเร็งตับที่โรคเป็นมาก ผ่าตัดไม่ได้ เป็นการรักษาเพื่อลดอาการและยืดชีวิตของผู้ป่วย จากการศึกษากว่า 30 ปี พบว่ายาเคมีไม่สามารถยืดชีวิตผู้ป่วยมะเร็งตับได้ แต่เมื่อไม่นานมากนี้พบว่า ยารักษาตามเป้าหมาย (targeted therapy) ออกฤทธิ์ยับยับเส้นเลือดที่มาเลี้ยงก้อนมะเร็งและยับยั้งยีนมะเร็งชื่อราฟ (Raf oncogene) สามารถลดการลุกลามของโรค และยืดชีวิตผู้ป่วยมะเร็งตับได้ ใช้ได้สะดวก เพราะเป็นยาเม็ดรับประทาน มีผลข้างเคียงที่พบได้ เช่น ท้องร่วง มือเท้า เจ็บ ลอก (hand foot syndrome)

          ถึงแม้เราจะทราบกลไกและสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งตับ แต่การรักษาโรคมะเร็งตับยังไม่มีการรักษาที่ได้ผลดีเมื่อเปรียบเทียบกับมะเร็งชนิดอื่น ดังนั้น การป้องกันและการวินิจฉัยโรคมะเร็งตับตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบชนิดบีตั้งแต่เกิด การเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งตับ และการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง จึงมีความสำคัญในการลดอัตราการตายจากโรคมะเร็งตับในคนไทย และเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งตับ ควรได้รับการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องมีประสิทธิภาพ เพื่อหวังผลหายขาดหรือยืดชีวิตของผู้ป่วยและเพิ่มคุณภาพชีวิต รวมทั้งการป้องกันผลแทรกซ้อนของภาวะที่พบร่วมกัน จึงจะได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด
 

รับข้อมูลมะเร็งตับและการดูแลอย่างละเอียด คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078-9

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ความรู้มะเร็ง
การดูแลผู้ป่วย
การรักษามะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้