อาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่

วันที่ 25-05-2010 | อ่าน : 144821


อาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่


 

บทนำ

      โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้เปลี่ยนแปลง และเจริญเติบโตผิดปกติจนไม่สามารถควบคุมได้ สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าผู้สูงอายุและผู้มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งจะมีอัตราเสี่ยงมากกว่าคนปกติ หรือผู้ที่มีภาวะโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง และผู้ที่รับประทานอาหารที่มีเส้นใยน้อย ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากขึ้น อาการโดยส่วนใหญ่ของมะเร็งลำไส้จะมีท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายอุจจาระมีเลือดสด อุจจาระมีขนาดเล็กลง มีอาการจุกเสียดแน่นบ่อยครั้ง อ่อนเพลียและน้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ  การรักษามีทั้งการเคมีบำบัด ฉายรังสี และการผ่าตัด พิจารณาเป็นกรณีไปโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

      เนื่องจากลำไส้เป็นอวัยวะสำคัญในระบบทางเดินอาหาร ดังนั้นต้องดูแลเรื่องอาหารเป็นพิเศษ การรักษาที่ถูกต้องร่วมกับโภชนบำบัดที่ถูกหลัก สามารถลดการแพร่กระจายและอาการทรมานจากมะเร็งได้

การจัดอาหาร

ข้าวแป้ง
       ยังคงต้องสารอาหารชนิดนี้เป็นหลัก ได้แก่ พวกข้าว แป้ง ขนมปัง ก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น ควรเลือกชนิดที่เป็นพวกคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนเป็นหลัก พวกที่มีใยอาหารมาก อาทิ ข้าวกล้อง ยิ่งเป็นผลดีต่อผู้ป่วย เนื่องจากกลุ่มใยอาหารจะทำหน้าที่ในการดูดซับสารก่อมะเร็งและน้ำดีแล้วขับออกจากร่างกาย ดังนั้นการได้รับใยอาหารที่พอเหมาะ จะช่วยลดโอกาสการรับสารก่อมะเร็ง (carcinogen) ของร่างกายได้  (ควรได้รับใยอาหารไม่ต่ำกว่าวันละ 25 กรัมต่อวัน)  สำหรับผู้ที่ผ่าตัดกระเพาะอาหารและลำไส้อาจเกิดอาการ Dumping s’ Syndrome มีอาการแน่นไม่สบายท้อง ไม่ควรรับคาร์โบไฮเดรตครั้งละมาก ๆ ควรรับประทานทีละน้อย และจัดท่านั่งรับประทานแบบกึ่งนั่งกึ่งนอนเพื่อลดอาการดังกล่าว

โปรตีน
      ผู้ป่วยควรได้รับโปรตีนวันละ 1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม อาหารในกลุ่มที่ให้โปรตีน ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไข่ และถั่วต่างๆ พบว่าไข่และเนื้อสัตว์เป็นแหล่งของโปรตีนที่ให้กรดอะมิโนครบถ้วนที่สุด ส่วนถั่วอาจจะให้กรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายต้องการไม่ครบ มักจะขาดกรดอะมิโนจำเป็นชื่อว่า methionine ดังนั้น หากไม่รับประทานเนื้อสัตว์เลยแล้วรับประทานแต่ธัญพืชแทน ควรรับประทานถั่วเหลืองร่วมด้วย เนื่องจากถั่วเหลืองให้กรดอะมิโนจำเป็นครบทุกชนิด  แต่หากยังรับประทานเนื้อสัตว์อยู่ ควรเลือกชนิดที่ไม่ติดมันเป็นหลัก หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง เพราะอาหารแปรรูปเหล่านี้มักใส่สารไนไตรท์ ไนเตรต รวมไปถึงไขมันจำนวนมาก ทำให้กระตุ้นการเกิดมะเร็งมากขึ้น

ไขมัน
      โดยทั่วไปแล้วอาหารประเภทไขมันควรระวังไม่รับประทานมากแม้ในคนปกติ สำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ยิ่งจำเป็นต้องดูแลเรื่องของไขมัน ควรเลือกใช้ไขมันที่เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว พบว่าไขมันในกลุ่มโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 ให้ผลดีในผู้ป่วยมะเร็ง กรดไขมันดังกล่าวพบในพวกของน้ำมันปลา ซึ่งการรับประทานเนื้อปลาทะเลจะได้รับไขมันประเภทดังกล่าวอยู่แล้ว ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องรับประทานวิตามินเสริม เพราะหากรับประทานน้ำมันสกัดยิ่งทำให้ร่างกายได้รับน้ำมันเกินความจำเป็น อาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดี  แต่ในคนปกติสามารถรับประทานได้ อย่างไรก็ดี ยังมีไขมันอีกประเภทที่ควรระมัดระวัง คือ ไขมันที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่ว่าจะเป็นการปิ้งย่างหรือการทอดน้ำมันซ้ำ ล้วนแต่ก่อให้เกิดสารก่อมะเร็งได้ และเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะสัมผัสกับลำไส้โดยตรง เสี่ยงต่อการทำให้โรคเป็นมากขึ้น หรือในคนปกติก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดเป็นมะเร็งได้

ผักและผลไม้
     การได้รับเส้นใยอาหารจากผักและผลไม้มากเป็นสิ่งที่ดี ยกเว้นในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการของโรคดำเนินมากแล้ว ควรลดปริมาณลงตามความเหมาะสม เนื่องจากบางภาวะที่ระบบย่อยอาหารของผู้ป่วยเริ่มแปรปรวน การได้รับใยอาหารมากอาจส่งผลให้เกิดอาการแน่นท้องและท้องอืดได้ ควรให้ผู้ป่วยรับใยอาหารทีละน้อยแล้วสังเกตอาการ ผักบางชนิดยิ่งทำให้ท้องอืด โดยเฉพาะผักที่มีกลิ่นฉุนเพราะมีสารพวกกำมะถันอยู่มาก เช่น ต้นหอม หัวหอมใหญ่  ดังนั้น หากมีอาการท้องอืดอยู่แล้วควรหลีกเลี่ยง นอกจากนี้ ยังมีรายงานการวิจัยหลายงานวิจัยที่พบอาหาร มีผลดีต่อการป้องกันและต่อต้านมะเร็งลำไส้ โดยเฉพาะพืชตระกูลกะหล่ำ เพราะมีสาร Isothiocyanate ซึ่งให้ผลดีในการควบคุมมะเร็ง การรับประทานควรล้างให้สะอาด เพราะแม้ผักชนิดนี้จะมีสารพฤษเคมีที่เป็นประโยชน์มากก็จริง แต่ก็เป็นแหล่งตกค้างของสารฆ่าแมลงมากเช่นกัน กรณีการผ่าตัดลำไส้ออกบางส่วน ทำให้ระบบย่อยอาหารได้รับความเสียหายบ้างในช่วงแรก  ควรรับประทานอาหารเหลวที่มีพลังงานสูง เพื่อให้ร่างกายดูดซึมไปใช้ได้ง่ายขึ้น ไม่ควรรับประทานผักและผลไม้มากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดลมในช่องท้องได้ สำหรับผลไม้สามารถรับประทานได้ทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้ที่มีเส้นใยสูง เช่น ฝรั่ง แอปเปิ้ล  ยกเว้นกรณีเพิ่งได้รับการผ่าตัดควรเลือกชนิดที่ย่อยง่าย เช่น มะละกอสุก ส้ม แก้วมังกร เป็นต้น และหลังจากการรับประทานผลไม้เส้นใยสูงแล้ว ควรเพิ่มการดื่มน้ำให้มากขึ้นเพื่อป้องกันการอุดตันของลำไส้จากเส้นใยอาหาร
 


 

อื่นๆ
      พบว่าการได้รับแคลเซียมเสริมจะสามารถป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็งในลำไส้ได้ นอกจากนั้นยังมีรายงานของการเสริมโฟเลทก็สามารถช่วยลดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้ด้วย ซึ่งสารอาหารทั้งสองชนิดพบมากในนม  ดังนั้นการดื่มนมช่วยเสริมสร้างสารดังกล่าวได้ แต่ควรเลือกชนิดพร่องมันเนย

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

อาหารผู้ป่วยะมเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้